‘การทูตจีน’ยากซื้อใจเอเชีย

‘การทูตจีน’ยากซื้อใจเอเชีย

จีนทุ่มเทงบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์ทำโครงการด้านวัฒนธรรมในเอเชีย แต่รายงานล่าสุดพบว่า การใช้ซอฟต์เพาเวอร์เหล่านั้นยากจะเอาชนะใจประชาชนในหลายพื้นที่ได้

รายงานล่าสุดจากศูนย์วิจัยเอดดาตา วิทยาลัยวิลเลียมแอนด์แมรีในรัฐเวอร์จิเนียของสหรัฐร่วมกับสถาบันนโยบายสังคมเอเชีย และโครงการอำนาจจีน จากศูนย์ยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษาพบว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เพิ่มงบประมาณด้านการต่างประเทศเป็นสองเท่าในรอบ 6 ปี จาก 3 หมื่นล้านหยวนเป็น 6 หมื่นล้านหยวน (ราว 2.6 แสนล้านบาท) เพื่อเพิ่มบทบาทการทูตจีนทั่วโลก

รายงานระบุ “การทูตสาธารณะเป็นส่วนประกอบสำคัญในเครื่องมือของรัฐบาลปักกิ่ง ใช้ลดทอนภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น เอาชนะความเสียเปรียบภายใน และรักษาความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์เหนือคู่แข่งในภูมิภาค”

เครื่องมือที่จีนใช้สร้างอิทธิพลในเอเชียใต้และเอเชียกลาง เช่น การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดมหึมา รัฐสนับสนุนการทำงานของสื่อ สร้างเมืองคู่แฝด การทูตเชิงทหาร และสถาบันขงจื๊อ สอนภาษาและวัฒนธรรมจีน

รายงานพบด้วยว่า จีนใช้งบประมาณด้านการทูต 95% ไปกับโครงสร้างพื้นฐาน มีเพียง 5% เท่านั้นที่ใช้ไปกับด้านอื่นๆ เช่น ความช่วยเหลือเพืื่อมนุษยธรรมหรือช่วยบรรเทาหนี้ การลงทุนในเอเชียของจีนครึ่งหนึ่งลงไปกับสองประเทศ ได้แก่ ปากีสถานและคาซัคสถาน ทั้งคู่เป็นประเทศสำคัญในโครงการ “สายแถบและเส้นทาง” (บีอาร์ไอ) โครงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโลกมูลค่านับล้านล้านดอลลาร์ ที่ประธานาธิบดีสี บรรจงปั้นสุดฝีมือ

ไม่เพียงเท่านั้นรัฐบาลปักกิ่งยังรุกจัดงานด้านวัฒนธรรม ให้ทุนการศึกษา และนักเรียนแลกเปลี่ยน ตอนนี้แทบทุกประเทศในเอเชียใต้และเอเชียกลางมีสื่อของรัฐบาลจีนอย่างน้อยหนึ่งรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ และสื่อสิ่งพิมพ์

ระหว่างปี 2547-2560 จีนจัดโครงการทัศนศึกษาให้นักข่าวเอเชียใต้และเอเชียกลาง 61 โครงการ

รายงานชี้ว่า ปักกิ่งตั้งเป้าทั้งขยายการรายงานข่าวของจีนและสร้างความสัมพันธ์ในพื้นที่ ส่งเสริมข่าวที่หนุนจีน และกำราบเสียงวิจารณ์เชิงลบ แต่ไม่มีเครื่องมือทางการทูตสาธารณะอันใด ช่วยให้เสียงโหวตในสหประชาชาติสอดคล้องกับปักกิ่งเลย

ทั่วภูมิภาคเอเชียใต้ ปักกิ่งซื้อใจคนธรรมดาได้เพียงผิวเผิน ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการที่จีนมุ่งใช้มิติทางเศรษฐกิจหวังให้ประชาชนแถบนี้ชื่นชอบภาษาและวัฒนธรรมจีน

ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างคาซัคสถาน ชนชั้นนำชาวคาซัคมีความรู้สึกกลัวคนจีนอย่างแรงกล้า

ผู้นำการเมืองยอมให้มีองค์กรชาวอุยกูร์ในคาซัคสถาน ทั้งๆ ที่ลงนามข้อตกลงหลายฉบับกับปักกิ่งเพื่อช่วยสกัดขบวนการแบ่งแยกดินแดน

ทั้งนี้ เชื่อกันว่า ชาวอุยกูร์และกลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมอื่นๆ รวมถึงชาวคาซัคมากถึง 1 ล้านคน ถูกควบคุมตัวในค่ายปรับทัศนคติที่เขตซินเจียงทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน

ชาวอุยกูร์ในภูมิภาคนี้อาศัยอยู่ในคาซัคสถานมากถึง 75% นักเคลื่อนไหวในคาซัคสถานเรียกร้องให้อดีตผู้ถูกควบคุมตัวและพลเมืองที่มีญาติอยู่ในซินเจียงเปิดปากพูดเรื่องนี้

“หากปักกิ่งต้องการรักษาความมั่นคงในประเทศ ก็จำเป็นต้องจูงใจทั้งชนชั้นนำทางการเมืองและสาธารณชนชาวคาซัค ผู้อาจมีใจเอนเอียงไปสนับสนุนผลประโยชน์ของพี่น้องอุยกูร์ในซินเจียง” รายงานสรุป

อ่านข่าว-จีนเข้มนักการทูตสหรัฐตอบโต้รัฐบาลวอชิงตัน