‘ฮ้อปคาร์’ คาร์แชริ่งมาเหนือกว่า บริการรถเช่า

‘ฮ้อปคาร์’ คาร์แชริ่งมาเหนือกว่า บริการรถเช่า

ฮ้อปคาร์” สตาร์ทอัพสัญชาติไทยร่วมแชร์โมเดลประสบการณ์ธุรกิจคาร์แชริ่งรายแรกในไทย ผ่านการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เชื่อมต่อฟังก์ชั่นผู้ใช้-ผู้ให้บริการ เผยเตรียมปรับตัวรับเทรนด์รถพลังไฟฟ้า ระบบขับขี่อัตโนมัติ ระบบเชื่อมต่อรถยนต์กับอินเทอร์เน็ต

กฤษฏิ์ วิชัยวัฒนาพาณิชย์ ประธานกรรมการบริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ฮ้อปคาร์ จำกัด (Haupcar) ให้บริการคาร์แชริ่งรายแรกของไทย เปิดเผยว่า ฮ้อปคาร์มีแนวความคิดมาจากการที่เห็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในการใช้ระบบคาร์แชริ่ง อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ มาเลเซีย จึงหันกลับมามองประเทศไทยและพบว่ามีรถเป็นจำนวนมากแต่ไม่มีการใช้รถทุกวัน ทั้งยังมองเห็นกลุ่มคนที่ต้องการแชร์ริ่งอยู่โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ต้องการใช้รถบางประเภทในระยะสั้น 1 ชั่วโมงหรือแค่เดือนละครั้ง

157599236127

"โมเดลธุรกิจของเราจะไม่ลงทุนซื้อรถเอง แต่จะร่วมกับพาร์ทเนอร์ผู้ประกอบธุรกิจรถยนต์ให้เช่ากว่า 10 ราย ทำให้ฮ้อปคาร์มีรถ์หลายรุ่นหลายแบบให้ผู้เช่ารถมีตัวเลือกมากขึ้น ทั้งนี้ คาร์แชริ่งแตกต่างจากธุรกิจเช่ารถคือ ขั้นตอนของคาร์แชริ่งจบลงด้วยแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน หากเป็นการเช่าแบบปกติจะต้องไปเดินทางไปร้านเช่าติดต่อทำเอกสาร หลังจากใช้รถเสร็จก็ต้องนำรถมาส่งคืนร้านเช่าอีก ซึ่งตรงนี้ไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้รถยนต์ในช่วงเวลาสั้นๆ

ขณะที่การใช้บริการคาร์แชริ่ง ผู้ใช้งานสามารถกดจองผ่านแอพจากนั้นก็ไปรับรถที่จุดจอดตามเวลาที่ต้องการเช่า ฮ้อปคาร์จุดจอดมีครอบคลุมมากกว่า 10 แห่งตามสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสและเอ็มอาร์ที มหาวิทยาลัยและคอนโด อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา บีทีเอสสถานีอโศก ส่วนใน จ.เชียงใหม่ จุดจอดจะอยู่ในย่านตัวเมือง อัตราค่าบริการซึ่งรวมค่าน้ำมันไว้แล้ว แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ เริ่มต้น 49 บาทต่อครึ่งชั่วโมง และบวก 5.9 บาทต่อกิโลเมตร ส่วนรายวันเริ่มต้น 719 บาท บวก 5.9 บาทต่อกิโลเมตร

ฉะนั้น หลักการคาร์แชริ่ง คือ รถทุกคันในบริการจะติดตั้งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ ทำหน้าที่เก็บข้อมูลและประมวลผลว่า รถอยู่ในสถานะพร้อมใช้งานหรือไม่ ติดตามอัตราความเร็วขณะขับขี่ ฯลฯ โดยการเก็บดาต้าแล้วลิงค์เข้าสู่เซิร์ฟเวอร์ ผู้ใช้งานสามารถติดต่อและเข้าใช้ผ่านแอพพลิเคชั่นได้อย่างง่ายดาย ทำให้ขั้นตอนบริการต่างๆ รันอยู่บนระบบโดยไม่จำเป็นต้องมีคนเข้ามาเกี่ยวข้อง

157599240380

กฤษฏิ์ กล่าวอีกว่า เพื่อเตรียมรับเทรนด์ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า หรืออีวีคาร์ ที่จะมาแน่นอนในอนาคตอันใกล้นี้ บริษัทจึงร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และค่ายรถบีเอ็มดับเบิลยู เพื่อพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าสำหรับธุรกิจแชริ่ง หรือ Electric car sharing ซึ่งได้นำรถยนต์ไฟฟ้า BMW i3 มาทดลองใช้ โดยในอนาคตจะทยอยเพิ่มจำนวนรถยนต์ไฟฟ้า

ขณะนี้ไทยอาจจะยังไม่พร้อมเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า แต่ในอนาคตเร็วๆ นี้ต้องมาแน่ๆ ตอนนี้เรามี BMW i3 จำนวน 2 คัน ซึ่งเป็นโปรเจควิจัยด้านคาร์แชร์ริ่ง เพื่อให้คนในมหาวิทยาลัยมาลองใช้รถยนต์ไฟฟ้า อีกทั้งกำลังจะเจรจากับค่ายรถอีวีมากขึ้น เพื่อที่จะแนะนำโซลูชั่นใหม่ๆ เข้าในแพลตฟอร์ม หากระบบอีวีเข้ามาสู่ประเทศไทยแบบเต็มตัวแล้ว เราก็สามารถนำมาประกอบใช้กับระบบคาร์แชริ่งของฮ้อปคาร์ได้ทันที

ส่วนผลประกอบการปีนี้ คาดว่าจะเติบโตจากปีที่ผ่านมากว่า 600% ปัจจุบันมีผู้ใช้งานรวมกว่า 1 แสนราย โมเดลธุรกิจแชริ่งนี้เป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย จึงต้องโฟกัสไปที่คนรุ่นใหม่เป็นหลักซึ่งจะเป็นคีย์แห่งความสำเร็จ

157599244352

ทั้งนี้ Sharing Economy หรือ gig economy เป็นแนวคิดสังคมเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน โดยได้รับการกล่าวถึงครั้งแรกตั้งแต่ปี 2521 โดยนักสังคมศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัย University of Illinois at Urbana-Champaign ปัจจัยสำคัญที่ทำให้แนวคิดนี้ได้รับการยอมรับมากขึ้นมาจาก 2 ปัจจัย คือ สภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอภายหลังจากวิกฤตการเงินโลกในปี 2551 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีอัตราการว่างงานสูง และการเข้าถึงข้อมูลบนเครือข่ายสังคมออนไลน์และการประมวลผลแบบ Cloud Computing เพิ่มขึ้น ทำให้เข้าถึงข้อมูลเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ

ธุรกิจสามารถใช้เทคโนโลยีและข้อมูลดิจิทัลในการจับคู่ระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้ให้บริการ โดยผู้ให้บริการสามารถจัดสรรช่วงเวลาเพื่อแบ่งปันสินค้าหรือบริการนั้นๆ ขณะที่ผู้บริโภคก็สามารถเลือกและเข้าถึงสินค้าหรือการบริการดังกล่าวโดยไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้อมาเป็นเจ้าของ เช่น รถยนต์ ที่อยู่อาศัย จักรยาน หรือเครื่องใช้ภายในบ้าน เป็นต้น