'พชรพรรษ์ ประจวบลาภ' กล้าดีไม่พอ ต้องกล้าทำ

'พชรพรรษ์ ประจวบลาภ'  กล้าดีไม่พอ ต้องกล้าทำ

มีโอกาสเข้าไปนั่งประชุมกับผู้ใหญ่ตั้งแต่ยังใส่ชุดนักเรียน เพราะอยากเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น นั่นทำให้รู้ว่า ชีวิตนอกห้องเรียนสนุกแค่ไหน

""""""""""""""""""""""

“คนเกิดมาจนไม่ผิดนะครับ แต่จนจนวันตายนี่สิผิดมาก เพราะไม่คิดที่จะหาโอกาสทำงานใดๆ เพื่อให้สถานะทางสังคมดีขึ้น ผมมีทุกวันนี้ได้ เพราะผมคว้าโอกาสทุกอย่าง” อัพ-พชรพรรษ์ ประจวบลาภ กล่าว

ก่อนวัย 24 ปี อัพเคยใส่ชุดนักเรียนนั่งประชุมกับข้าราชการระดับสูง นักการเมือง นักวิชาการ เคยไปยื่นหนังสือร้องเรียนปัญหาเด็กและเยาวชนกับนายกรัฐมนตรีและฝ่ายค้าน หลายเรื่องไม่สูญเปล่า

แม้จะไม่ใช่คนเรียนเก่ง ไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง แต่เขาเลือกทำกิจกรรมนอกห้องเรียนเยอะมาก ตั้งแต่เรียนโรงเรียนพระหฤทัยพัฒนเวศม์ จนเรียนจบคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม

ปัจจุบันอัพเป็นเลขาธิการ สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ผลักดันปัญหาสังคมหลายเรื่อง อาทิ รณรงค์ลดนักสูบบุหรี่หน้าใหม่ สร้างสื่อดีๆ เพื่อสังคม และช่วยแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนในกรณีที่มีการร้องเรียน รวมถึงมีโอกาสเดินทางไปดูงานในต่างประเทศ

เขามีเป้าหมายในชีวิตว่า อยากเป็นนักการเมืองทำงานเพื่อประเทศ...่

 

อะไรทำให้คุณสนใจเรื่องสังคมและการเมือง 

คุณแม่และยายชอบดูข่าวตอนเช้า อายุ 10 ขวบกว่าๆ ผมเริ่มดูข่าว เห็นปัญหาสังคมเยอะมาก และครอบครัวผมจะคุยกันทุกเรื่อง บางคำที่ผมไม่เข้าใจ แม่และยายก็จะอธิบายให้ฟัง ตอนเด็กๆ ผมไม่เข้าใจคำว่า นายกรัฐมนตรี ทำไมชื่อนายกฯ เปลี่ยนบ่อยมาก แม่อธิบายว่า นายกรัฐมนตรีคือ หัวหน้าครอบครัวของพวกเราทุกคน ดูแลเรื่องต่างๆ ผมเลยตั้งปณิธานว่า โตขึ้นอยากทำงานเพื่อประเทศ

เป็นครอบครัวที่อบอุ่นไหม

พ่อกับแม่ผมไม่ได้อยู่ด้วยกัน แต่ไม่ใช่ปัญหา ทางกายภาพผมขาดพ่อ แต่ในความรู้สึกไม่ขาด ผมมีแม่ ยายและตา ผมคิดว่าถ้าคนในครอบครัวช่วยกันพัฒนาบ้านให้อบอุ่นและน่าอยู่ ก็พััฒนาสังคมให้มีคุณภาพได้

เริ่มทำกิจกรรมตั้งแต่เรียนชั้นไหน

ประถม 6 เป็นจิตอาสาช่วยน้ำท่วม ผมเรียนไม่เก่ง แต่ทุกครั้งที่มีกิจกรรมทางสังคม ผมจะเป็นคนเดียวในห้องเรียนที่เพื่อนๆ ถามสถานการณ์สังคมและการเมือง และผมมักจะตอบคำถามอาจารย์ได้ทุกเรื่องในวิชาสังคม ผมอ่านมากกว่าคนอื่น ผมได้เรียนรู้นอกห้องเรียนที่ครอบคลุมทุกด้าน ก่อนจะมาเป็นเลขาธิการ ผมเป็นจิตอาสาสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทยก่อน ก่อนหน้านั้นผมเอากิจกรรมไปบูรณาการกับงานมหาวิทยาลัย อย่างโครงการปลอดบุหรี่ ผมก็เอาข้อมูลความรู้ และนักวิชาการที่รู้จักไปช่วยสนับสนุน หางบประมาณให้มหาวิทยาลัย

เรียนรู้นอกห้องเรียนมากกว่าในห้องเรียน ?

     ไม่รู้จะเป็นพฤติกรรมตลกๆ ไหม เมื่อก่อนผมชอบซื้อหนังสือพิมพ์ ตัดคอลัมน์ที่ผมอ่านรู้เรื่อง ถ้าอ่านไม่รู้เรื่องไม่ตัด ผมชอบตัดคอลัมน์ท่องเที่ยว คุณภาพชีวิต สังคม การศึกษา เอามาปะๆ ไว้ ทุกวันนี้ยังเก็บไว้เลย

ใช้ชีวิตแบบวัยรุ่นบ้างไหม

     มีครั้งหนึ่งพ่อมาเยี่ยม เห็นว่า ผมเดินทางไปเรียนไกล ก็ซื้อมอเตอร์ไซค์ให้ แต่ยายแอบเอาไปขาย เพราะไม่อยากให้ขี่ มันอันตราย ผมก็เลยไม่มีประสบการณ์การขี่มอเตอร์ไซค์แบบวัยรุ่นทั่วไป

โกรธที่ยายเอามอเตอร์ไซค์ไปขายไหม

แม้ผมจะเป็นคนที่เชื่อฟังคนในครอบครัว แต่บางอย่างก็มีอคติเหมือนเด็กทั่วไป มีปากเสียงบ้าง ตอนนั้นโกรธมาก ประท้วงไม่กินข้าว ไม่สนใจคนในบ้าน เพราะอยากขี่มอเตอร์ไซค์ไปอวดเพื่อน ผมโชคดีที่ผู้ใหญ่อธิบายซ้ำๆ คำเดิมๆ ใช้เวลาเป็นสัปดาห์กว่าจะเข้าใจ โดยไม่ขึ้นเสียง ผมคิดว่าคนเป็นแม่ คงต้องอดทนมากกับลูกๆ 

ช่วงวัยรุ่นตอนต้น รำคาญผู้ใหญ่ไหม

  รำคาญครับ ตอนเด็กๆ ผมไม่ชอบพับผ้าห่ม ผมคิดแค่ว่า นี่มันที่นอนเรา ห้องนอนเรา ทำไมยายต้องมาเปิดประตูดู แต่ยายก็มีคำอธิบาย ยายบอกว่า เรื่องเล็กๆ เรื่องละเอียดอ่อน ถ้าผมรับผิดชอบไม่ได้ แล้วอยากทำงานเพื่อสังคมจะรับผิดชอบงานใหญ่ๆ ได้อย่างไร ยายบอกว่า ถ้าผมเป็นคนมีชื่อเสียง แล้วต้องไปนอนโรงแรม หากคนเห็นสภาพห้องไม่เรียบร้อย เขาจะมองผมยังไง และเมื่อเริ่มทำตามที่ยายบอก 3-4 วัน ก็กลายเป็นพฤติกรรมที่ทำได้ 

คุณหาโอกาสให้ตัวเองอย่างไร   

ผมเคยพูดว่า คนเกิดมาจนไม่ผิดนะครับ แต่จนจนวันตายนี่ผิดมาก เพราะไม่คิดที่จะหาโอกาสทำงานใดๆ เพื่อให้มีสถานะทางสังคมที่ดีขึ้น ผมมีทุกวันนี้ได้เพราะผมคว้าโอกาส ผมไม่เก่งภาษาอังกฤษเลย ทุกครั้งที่ได้รับโอกาสไปดูงานในต่างประเทศ ทั้งๆ ที่ผมฟังไม่รู้เรื่องเลย ผมก็นั่งแปลภาษาอังกฤษทีละคำ ภาษาอังกฤษในระบบที่เรียนมาไม่ได้ให้อะไรผมเลย ผมเรียนจากสถานการณ์จริง ฝรั่งมาทัก ก็พยายามพูด พูดได้บ้าง ไม่ได้บ้าง 

ถ้าคุณเป็นวัยรุ่น คุณต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ก่อนว่า คุณชอบอะไร เมื่อรู้ว่าชอบอะไร ก็จะรู้ว่าจะหาโอกาสยังไง ผมรู้ว่า ผมอยากเป็นนักการเมือง ช่องทางของผมคือ ทำงานให้สังคม นี่คือโอกาส ผมเริ่มทำงานในพื้นที่ชุมชน ออกไปรับฟังปัญหา เอาสิ่งนั้นมาบอกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่ นี่คือสิ่งที่ผมลงมือทำ

ยกตัวอย่างสักนิด ?

  ตอนผมเรียนมัธยมต้น มีการจัดงานวันเด็กหน้าบ้าน ผู้ปกครองเด็กบอกว่า ทำไมงานวันเด็กไม่มีขนม เครื่องเล่นก็ขึ้นสนิม มันอันตราย ผมก็ไปบอกพี่ๆ ในพื้นที่ เขาก็ปรับปรุงให้ดีขึ้น ความร่วมมือของเรา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

สำหรับผมคำพูดที่ว่า “ช่างมันเถอะ ไม่ใช่เรื่องของเรา เป็นเรื่องไกลตัว” มันไม่ใช่ ผมทำงานสถาบันยุวทัศน์ฯ มาครึ่งทาง ตอนนี้สถาบันฯจะอายุครบสิบปีแล้ว ผมรู้สึกว่า คนตัวเล็กๆ แบบพวกเราเปลี่ยนแปลงสังคมได้เยอะ บางคนอายุ 13-14 บางคนอายุ 20 ต้นๆ เราร่วมกันทำงานขับเคลื่อนสังคม ผมคิดว่า ตัวเล็กไม่สำคัญ แต่เราใจใหญ่ สถาบันยุวทัศน์ฯมีคนทำงาน 30 คน สมาชิกกว่า 300 คน การทำงานให้ประสบความสำเร็จ แม้เงินจะไม่ใช่ตัวตั้ง แต่เงินเป็นน้ำมันหล่อลื่น

การทำงานในสถาบันยุวทัศน์ฯ คุณมีโอกาสผลักดันเรื่องใดบ้าง

มี 3 เรื่องหลัก 2 เรื่องรอง เรื่องแรกที่ทำคือ ลดอัตราการสูบบุหรี่ในสังคมให้น้อยลง จากเดิมเยาวชนสามารถซื้อบุหรี่ได้ตอนอายุ 18 ปี ตอนนี้เปลี่ยนเป็นต้องอายุ 20 ปี รณรงค์ผ่านกฎหมายกว่าจะประสบความสำเร็จ 6-7 ปี ทำมาตั้งแต่ผมเรียนมัธยมจนเรียนจบมหาวิทยาลัย ตอนอภิปรายกฎหมายฉบับนี้เราก็นั่งอยู่ในสภา เรื่องที่ 2 ลดผลกระทบจากการพนัน แต่ละปีเด็กและเยาวชนสูญเสียเงินในการเล่นการพนันมหาศาล เรื่องที่ 3 คืออุบัติเหตุ เด็กดีๆ ต้องเสียชีวิตกับอุบัติเหตุเยอะมาก เฉลี่ย 9 คนต่อวัน เป็นตัวเลขที่เรารับไม่ได้ ถ้าจะลดลงจากตายกลายเป็นบาดเจ็บได้ไหม จากบาดเจ็บสาหัสเป็นบาดเจ็บเล็กน้อยได้ไหม

ส่วนเรื่องรอง คือ สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในเมืองไทยมีสื่อออนไลน์ ก็น่าจะเอางบประมาณมาทำสื่อดีๆ ให้สังคม อยากทำสื่อโดยไม่มีโฆษณา เราก็ผลักดันยื่นหนังสือให้รัฐบาลและฝ่ายค้าน เพราะเรามีอุปกรณ์ผลิตสื่อ เหมือนที่สถานีโทรทัศน์มี เราผลิตคลิปไวรัลเยอะมาก คลิปดังๆ ก็ยอดวิว 3-4 ล้าน คลิปไม่ดังก็ยอดวิวแสนกว่าๆ

เรื่องรองอีกเรื่องคือ การศึกษา สถาบันเราเคยเป็นข่าว ช่วยเด็กที่ถูกผู้อำนวยการโรงเรียนที่เชียงรายกดขี่ เพราะเด็กไม่มีบัตรประชาชน ไม่ได้รับสิทธิเรียน เด็กมาร้องเรียนกับสถาบันเราประสานงานหลายฝ่ายมาก จนเรื่องนี้จบ ตั้งกรรมการสอบสวนผู้อำนวยการและถูกย้าย เด็กที่ร้องเรียนก็มีบัตรประชาชนแล้วได้เรียนมหาวิทยาลัยจนจบ ทำงานในพื้นที่

ย้อนไปตอนใส่ชุดนักเรียนไปประชุมกับผู้ใหญ่ มีคนแปลกใจไหมว่า คุณคือใคร

ก็เคยมีคนถามว่า นั่นลูกใคร มานั่งในห้องประชุม ก็มีคนอธิบายว่า ผมอยู่ในเครือข่ายเยาวชน มีข้อมูลสนับสนุนการทำงาน เพราะผมเป็นคนพูดเก่ง เวลาเลิกประชุมมักจะมีผู้ใหญ่มาซักถามประวัติ และนี่คือความภูมิใจ อีกอย่างถ้าเราพูดแล้วคนในห้องประชุมสนใจ เราประสบความสำเร็จในการสื่อสารแล้ว ในขณะที่เยาวชนคนอื่นๆ ยังนั่งอยู่ในห้องเรียน เราโดดเรียนเพื่อเอาข้อมูลมาพัฒนาสังคม และที่ผมพูดถึงปัญหาอุบัติเหตุและปัญหาบุหรี่ได้ เพราะผมอ่านเยอะ หาข้อมูลเยอะ ผมอ่านทั้งหนังสือพิมพ์ และบทความในออนไลน์ ทั้งเรื่องการเมือง และสังคม

จำได้ว่า เมื่อไม่นานเครือเมเจอร์ฉลอง 25 ปี จัดตั๋วโปรหนัง 25 บาท ทำให้เด็กโดดเรียนครึ่งประเทศ เพื่อไปดูหนัง และมีข่าวตำรวจไปล้อมจับเด็ก ผมตอบสื่อที่มาสัมภาษณ์ว่า ต้องมองเรื่องนี้กลางๆ ตำรวจไปล้อมจับเด็กที่ไม่ใช่ผู้กระทำผิด การล้อมจับ กักกัน เป็นการละเมิดสิทธิเด็ก ถ้าจะทำก็จดชื่อเด็กส่งให้โรงเรียนลงโทษตามวินัย แต่ทำแบบนั้นเหมือนสถานบันเทิงโดนตำรวจจับ

ทั้งๆ ที่ไม่ได้ร่ำรวย แต่มีโอกาสเดินทางไปหลายประเทศ?

ผมไม่เคยไปต่างประเทศกับครอบครัว เราไม่ได้มีเงินเยอะขนาดนั้น คนมักจะเข้าใจว่า เด็กทำกิจกรรมมีเงิน ครอบครัวผมอยู่กันสิบคน มีรถคันเดียว เมื่อผู้ใหญ่เห็นว่า ผมมีทักษะและความคิดก็ให้โอกาสเดินทางไปประชุมต่างประเทศ ไปมาไม่ต่ำกว่าสิบประเทศ เป็นงบของหน่วยงานรัฐที่ส่งให้เราไป ก็เป็นเงินภาษีของประชาชน เราก็ได้ทำประโยชน์ เพราะเราไม่ได้ไปเที่ยว ผมเคยไปประชุมสื่อออนไลน์ที่เกาหลี 5 วัน ไปดูงานบ้านพักเด็ก สถานสงเคราะห์เด็ก เดินเข้าเดินออกส่วนราชการในเกาหลี

คุณจัดอยู่ในประเภทใช้ชีวิตเกินเด็ก หรือใช้ชีวิตวัยรุ่นไม่คุ้ม ?

น่าจะใช้ชีวิตเกินเด็กมากกว่า ตอนนี้ผมทำงานหลายอย่าง นอกจากสถาบันยุวทัศน์ฯ ผมยังลงเรียนเพิ่มด้านประชาสัมพันธ์ และทำงานสภาไทยพีบีเอสในส่วนกรุงเทพและปริมณฑล สภาที่มีหน้าที่พัฒนาคุณภาพรายการ ผมได้เป็น 1 ใน 50 คนที่ได้รับบรรจุเป็นสมาชิกสภา จากการสมัครและคัดเลือกคนสามพันคน

เสียดายไหมที่ไม่ได้ใช้ชีวิตวัยรุ่นเต็มที่

ไม่เสียดาย เราเลือกแล้ว และมีสิ่งที่มาทดแทนคือ ผมได้โอกาสมากกว่าเด็กคนอื่น เพราะเราเหนื่อยมากกว่า ถ้าเราอยากได้ชีวิตที่ดีมากกว่าคนอื่น เราต้องทำเพิ่ม ถ้าทำเท่ากับคนอื่น คุณภาพชีวิตเราก็เท่ากับคนอื่น โอกาสก็เท่าคนอื่น

ใครเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานสำหรับคุณ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวง รัชกาลที่ 9) ในเรื่องความพอเพียง คือ การใช้ให้เหมาะสม ไม่ใช่ประหยัด อดๆอยากๆ ครอบครัวผมให้เงินไปโรงเรียนวันละ 40 บาท พอเริ่มมีรายได้ ก็รู้ว่า คนเราต้องเก็บส่วนหนึ่ง ใช้ส่วนหนึ่ง อายุ 22 ปีผมซื้อรถด้วยเงินตัวเอง ไม่ขอเงินพ่อแม่ ผมผ่อนรถโดยไม่เดือดร้อน เพราะมีวิธีจัดการ 

เป้าหมายสูงสุดในชีวิตคุณ ?

ผมอยากเป็นนักการเมือง ส่วนในเรื่องครอบครัว ผมอยากเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดี ผมรู้สึกว่าประชากรคุณภาพต้องเริ่มจากครอบครัว ปัญหาสังคมไทยเวลานี้คือ มีเด็กเกิดน้อย ที่เกิดมาดันด้อยคุณภาพ คนพร้อมก็ดันไม่ท้อง คนไม่พร้อมดันท้อง 

ถ้ามีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรี คุณจะบริหารประเทศยังไง

ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมคนก่อน กฎหมายต้องบังคับใช้ได้จริง โดยเฉพาะเรื่องวินัย ยกตัวอย่างกฎหมายจราจรต้องเป็นเครื่องมือการใช้รถใช้ถนนได้จริง ตอนที่รัฐจะออกกฎหมายห้ามนั่งท้ายกระบะ เมื่อประชาชนด่าเยอะๆ ทำไมรัฐบาลล้มเลิก ถ้าคุณไปสิงคโปร์ คุณจะไม่เห็นคนนั่งท้ายกระบะ ซึ่งประเด็นนี้ต้องแยกระหว่างความยากจนกับความถูกต้อง ถ้าคุณยากจนแล้วคุณต้องไปเก็บของในป่าหรือละเมิดสิทธิคนอื่นหรือ มันไม่ใช่ ไม่ว่ารวยหรือจน ไม่มีสิทธิทำอะไรนอกเหนือกฎหมาย

...................................

จุดประกายทอล์ค ฉบับวันอังคารที่ 10 ธันวาคม 2662