จับตา! ดีลขายเทสโก้ไทย-มาเลย์ ทุนใหญ่ กล้าสู้ราคา 2 แสนล้านไหม?

จับตา! ดีลขายเทสโก้ไทย-มาเลย์ ทุนใหญ่ กล้าสู้ราคา 2 แสนล้านไหม?

“เทสโก้โลตัส” แจงผ่านแถลงการณ์กลุ่มเทสโก้ ค้าปลีกอันดับ 1ในอังกฤษ แบ่งรับแบ่งสู้ขายกิจการ “ไทย-มาเลย์” นักวิเคราะห์ชี้พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนหันช้อปออนไลน์กระทบ“ไฮเปอร์มาร์เก็ต”จับตายักษ์ทุนใหญ่ “สู้-ไม่สู้ราคา” วงในประเมินมูลค่าดีลสูง 2 แสนล้านบาท

สำนักข่าวเดอะการ์เดียน ของอังกฤษ รายงานวานนี้ (9ธ.ค.) อ้างแถลงการณ์จากเทสโก้ บริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่อันดับหนึ่งของอังกฤษ ที่ระบุว่า บริษัทเตรียมขายกิจการในประเทศไทยและมาเลเซีย

เป็นส่วนหนึ่งของการปรับยุทธศาสตร์ให้มุ่งความสำคัญต่อธุรกิจในอังกฤษเป็นหลัก หลังจากมีผู้ซื้อรายหนึ่ง ซึ่งขณะนี้บริษัทยังไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้ ได้ขอซื้อกิจการของเทสโก้ในไทยและมาเลเซีย ซึ่งหากทำข้อตกลงซื้อขายกิจการจริง ถือเป็นการถอนตัวออกจากตลาดต่างประเทศ ซึ่งเป็นที่มั่นสุดท้าย นอกเหนือจากภูมิภาคยุโรปของเทสโก้

“บริษัทขอยืนยันว่า ขณะนี้มีผู้ให้ความสนใจที่จะซื้อกิจการของบริษัทในไทยและในมาเลเซีย ทำให้บริษัทเริ่มพิจารณาทางเลือกต่างๆที่เป็นไปได้เกี่ยวกับยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจใน2ประเทศนี้” แถลงการณ์ของเทสโก้ ระบุ

อย่างไรก็ตาม เทสโก้ ระบุว่า การพิจารณาในเรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น ยังไม่มีการตัดสินใจใดๆเกี่ยวกับอนาคตของเทสโก้ในไทยและมาเลเซีย

ด้านนายไคลฟ์ แบล๊ค นักวิเคราะห์บริษัทชอร์ แคปปิตอล ให้ความเห็นว่า ธุรกิจของเทสโก้ในภูมิภาคเอเชียเป็นสินทรัพย์มูลค่าสูง และเป็นที่ต้องการของนักลงทุน เนื่องจากเทสโก้ในไทยถือว่าอยู่ในสถานะผู้นำตลาด ทั้งยังมีศักยภาพการเติบโตที่ดี เนื่องจากไทยมีการขยายตัวของชุมชนเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ

นายเดฟ ลูอิส ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ)ของเทสโก้ ประกาศเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ย้ำถึงโอกาสในการขยายการเติบโตของธุรกิจในเอเชีย ซึ่งรวมถึงแผนการเปิดสาขาใหม่อีก 750 แห่งในไทย โดยจะเป็นสาขาในรูปแบบร้านสะดวกซื้อ

ทั้งนี้ นายลูอิส เข้ามาบริหารเทสโก้ และพลิกฟื้นภาพลักษณ์ตลอดจนผลประกอบการของบริษัท รวมทั้งเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจหลักในอังกฤษ แต่ขณะเดียวกันก็ทยอยขายธุรกิจในต่างประเทศ และนายลูอิสกำลังจะลงจากตำแหน่งซีอีโอของบริษัทในช่วงฤดูร้อนปี2563

 ทั้งนี้เทสโก้ มีสาขาในไทยทั้งหมด 1,967 แห่ง และมีสาขาอยู่ที่มาเลเซีย 74 แห่ง และในช่วง 6 เดือน ซึ่งสิ้นสุดวันที่ 24 ส.ค. ธุรกิจของเทสโก้ ทั้งในไทยและมาเลเซียสร้างรายได้ให้แก่บริษัทประมาณ 2,600 ล้านปอนด์ หากคิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราคงที่ ขณะที่กำไรจาการประกอบการอยู่ที่ 171 ล้านปอนด์

ก่อนหน้านี้ เทสโก้ขายกิจการในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ตุรกี สหรัฐ และจีน และหากบริษัทขายกิจการในไทยและมาเลเซีย เทสโก้จะเหลือแต่กิจการค้าปลีกในยุโรปเท่านั้น

เผชิญแข่งดุ-ออนไลน์แย่งลูกค้า

บรรดานักวิเคราะห์ ให้ความเห็นว่า เทสโก้ในอังกฤษกำลังประสบกับภาวะการแข่งขันที่ดุเดือด ประกอบกับความนิยมหันไปชอปปิงออนไลน์กันมากขึ้นทำให้บริษัทจำเป็นต้องปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา เทสโก้ ประกาศจะปลดพนักงาน 4,500 ตำแหน่งในส่วนของเทสโก้ เมโทร ซึ่งมีสาขาอยู่ในประเทศอังกฤษ เพื่อลดค่าใช้จ่าย

ธุรกิจของเทสโก้ในภูมิภาคเอเชีย มีอัตราการเติบโตรวดเร็วกว่าธุรกิจหลักในยุโรป ทั้งยังทำกำไรได้มากกว่า โดยมีผลกำไรเฉลี่ย 6% ขณะที่ธุรกิจของเทสโก้ในอังกฤษ ไอร์แลนด์ และยุโรปตอนกลาง ซึ่งรวมถึงประเทศโปแลนด์ สาธารณรัฐเชก สโลวาเกีย และฮังการี มีกำไรเฉลี่ยไม่ถึง 3%

วงในชี้มูลค่าดีลกว่า2แสนล้านบาท

แหล่งข่าววงในประเมินมูลค่าของการซื้อขายครั้งนี้ว่า หากเกิดขึ้นจริงน่าจะสูงกว่า 5,000 ล้านปอนด์ (2แสนล้านบาท)  ขณะที่ดาวโจนส์ รายงานว่า น่าจะอยู่ที่ระดับ 6,900 ล้านปอนด์ (2.76 แสนล้านบาท) หรือราว 9,000 ล้านดอลลาร์ (2.7 แสนล้านบาท) และการขายธุรกิจในเอเชียจะทำให้เทสโก้มีสภาพคล่องเงินสดมากขึ้นและช่วยให้ธุรกิจหลักของบริษัทในอังกฤษสามารถทำกำไรได้เพิ่มขึ้น

หลายปีก่อน คาร์ฟูร์ ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ประกาศขายกิจการในไทย ถือเป็นข่าวใหญ่ในแวดวงธุรกิจ ไม่เฉพาะแต่ธุรกิจค้าปลีกอย่างเดียว จนทำให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่าห้างค้าปลีกขนาดใหญ่อย่างเทสโก้ในไทย อาจจะมีชะตากรรมเดียวกัน แต่ในเวลานั้นเทสโก้ยืนยันว่าไม่มีการขายธุรกิจในไทยเนื่องจากยอดขายยังอยู๋ในระดับสูง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสอบถามไปยัง บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ผู้บริหารเครือข่ายร้านค้าปลีกเทสโก้ โลตัส ในไทย ระบุผ่านแถลงการณ์จากกลุ่มเทสโก้ (Tesco PLC)  ว่า ตามที่มีผู้สนใจในธุรกิจของเทสโก้ ในเอเชีย กลุ่มเทสโก้ จึงได้เริ่มทำการศึกษาความเป็นไปได้ของกลยุทธ์รูปแบบต่างๆ สําหรับธุรกิจในไทยและมาเลเซีย ซึ่งรวมถึงการพิจารณาความเป็นไปได้ในการขายธุรกิจทั้ง 2 แห่งนี้ 

อย่างไรก็ตาม การศึกษาความเป็นไปได้ของกลยุทธ์รูปแบบต่างๆ ยังอยู่ในระยะเบื้องต้น และยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ สําหรับอนาคตของธุรกิจของเทสโก้ในไทยและมาเลเซีย รวมทั้งไม่ยืนยันว่าจะมีการซื้อขายเกิดขึ้นในที่สุด ทั้งนี้จะประกาศข้อมูลเพิ่มเติมให้ทราบเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม 

ไทยตลาดใหญ่สุดนอกอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม ตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เทสโก้ โลตัส เผชิญกระแสข่าว “ขายกิจการ” ตามสถานภาพที่สั่นคลอนของบริษัทแม่เทสโก้ สโตร์ อิงค์ ประเทศอังกฤษซึ่งประสบปัญหาสภาพคล่องมาอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 10 ปีก่อนหน้านั้น กลุ่มเทสโก้ ทยอยขายกิจการในประเทศต่างๆ ซึ่งในภูมิภาคเอเชีย โดยไทยยังคงอยู่ในสถานะยืนหนึ่ง โดยผู้บริหาร เทสโก้ โลตัส ในไทย ยืนยันทุกครั้งในการแถลงแผนธุรกิจถึงศักยภาพตลาดเมืองไทยพร้อมเดินหน้าลงทุนต่อเนื่องทุกปี 

ล่าสุด เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เทสโก้ โลตัส ประกาศแผนลงทุนคร้้งใหญ่ในวาระธุรกิจในไทยก้าวสู่ปีที่ 25 โดยนายสมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานกรรมการบริหาร เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า เทสโก้ โลตัส เป็นธุรกิจใหญ่ที่สุดของกลุ่มเทสโก้ รองจากกิจการในสหราชอาณาจักร มีเครือข่ายสาขาทั่วไทยกว่า กว่า 2,000 แห่ง พร้อมมุ่งขยายการลงทุนต่อเนื่อง ภายใต้งบประมาณของกลุ่มเทสโก้ มูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท สำหรับลงทุนในตลาดค้าปลีกที่มีศักยภาพการเติบโตสูงในทั่วโลก รวมทั้งไทย

ในแผนระยะกลาง 3 ปี (2562-2564) เทสโก้ โลตัส จะเร่งขยายร้าน “เอ็กซ์เพรส” คอนวีเนียนสโตร์รูปแบบใหม่เพิ่มอีก 750 สาขา จากปัจจุบันเปิดบริการราว 1,600 สาขา ขณะเดียวกันมุ่งปรับปรุงร้านค้าปลีกกว่า 1,500 สาขาเดิมสู่รูปแบบใหม่ โดยเฉพาะร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ “ไฮเปอร์มาร์เก็ต”จะปรับเปลี่ยนพื้นที่และสินค้าที่วางจำหน่าย ควบคู่ไปกับการพัฒนาประสบการณ์แบบออมนิแชนแนล (ออฟไลน์-ออนไลน์)

ชี้ไม่เห็นค้าปลีกโต2หลักอีกแล้ว 

นายสมพงษ์ ยังย้ำด้วยว่า การเติบโตระดับ “สองหลัก” ของอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยไม่มีให้เห็นอีกแล้ว แต่จะโตปริ่มน้ำไปเรื่อยๆ ทำอย่างไรจะรักษาฐานไว้ให้ได้มากที่สุดท่ามกลางลูกค้าที่มีทางเลือกมากขึ้น แน่นอนว่าใครปรับตัวไม่ทันก็มีโอกาสจมน้ำได้ง่ายๆ”

อย่างไรก็ดี ธุรกิจในภาคพื้นเอเชียของกลุ่มเทสโก้ ถือเป็นตลาดที่มีการเติบโตได้ดีในระดับ 2.6% ท่ามกลางปัจจัยลบต่างๆ โดยตลาดเอเชียขณะนี้มีเพียงไทย และมาเลเซียเท่านั้น 

ไฮเปอร์มาร์เก็ตเผชิญปัจจัยเสี่ยง

นักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมค้าปลีก กล่าวว่า แม้ในระยะยาวไทยยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงสำหรับธุรกิจค้าปลีกที่เติบโตตามฐานประชากร การบริโภคที่เพิ่มขึ้น การขยายตัวของสังคมเมือง หากแต่รูปแบบค้าปลีกบางประเภทอาจไม่ตอบรับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป จะเห็นว่าในช่วง 4-5 ปี ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ทั้งไฮเปอร์มาร์เก็ต และซูเปอร์เซ็นเตอร์ เผชิญภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง จากการหาทำเลในการเปิดสาขายากขึ้น ตลาดค่อนข้างอิ่มตัวจากการขยายตลาดครอบคลุมพื้นที่ ลูกค้านิยมใช้บริการร้านขนาดเล็กทั้งคอนวีเนียนสโตร์ และซูเปอร์มาร์เก็ต มากขึ้น 

“ไฮเปอร์มาร์เก็ตพยายามอัพสเกลปรับปรุงสินค้าและบริการที่มากกว่ากลยุทธ์ราคาถูกซึ่งไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีชอปปิงออนไลน์เป็นอีกหนึ่งทางเลือก” 

นับเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจของเทสโก้ โลตัส ในไทยเช่นเดียวกัน สอดคล้องกับแผนเร่งปรับกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจของเทสโก้ โลตัส ทั้งร้านขนาดเล็กและขนาดใหญ่ที่ให้ความสำคัญในเรื่องของประสบการณ์มากขึ้น 

 

จับตาทุนยักษ์ สู้-ไม่สู้ราคา

อย่างไรก็ดี กระแสข่าวการขายกิจการของเทสโก้ โลตัส เชื่อว่ามีนักลงทุนหลายรายให้ความสนใจ โดยเฉพาะเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่มีชื่อติดโผทุกครั้ง แม้ เทสโก้ โลตัส จะเคยเป็นธุรกิจบุกเบิกของกลุ่มซีพีก่อนมาอยู่ในมือเทสโก้ สโตร์ ยักษ์ค้าปลีกสัญชาติอังกฤษ และกิจการเทสโก้ โลตัส จะสามารถ “ต่อยอด” ทำให้พอร์ตค้าปลีกค้าส่งของกลุ่มซีพีเติบโตก้าวกระโดด แต่ด้วยมูลค่าธุรกิจเทสโก้ โลตัสหลัก “แสนๆ ล้านบาท” ขณะที่แลนด์สเคปค้าปลีกกำลังจะถูกทรานส์ฟอร์มครั้งใหญ่จากดิจิทัลดิสรัปชันอาจต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าคุ้มหรือไม่คุ้มการลงทุน จะเรียกว่า สู้หรือไม่สู้ราคานั่นเอง  

ทางด้านกลุ่มเซ็นทรัลที่มียุทธศาสตร์ธุรกิจในการซื้อและควบรวมกิจการที่มีศักยภาพนั้น กรณีของ “เทสโก้ โลตัส” ที่ธุรกิจหลักคือไฮเปอร์มาร์เก็ต กลุ่มเซ็นทรัลเคยวิเคราะห์แนวโน้มค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ตว่าอยู่ในห้วง “ขาลง” สำหรับประเทศไทย และเป็นเหตุผลสำคัญทำให้เซ็นทรัลหันไปบุกเวียดนาม ซึ่งยังถือเป็นตลาดใหม่แทน 

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ ยักษ์ใหญ่กลุ่มเซ็นทรัล ภายใต้ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น เจ้าของเครือข่ายศูนย์การค้าเซ็นทรัล ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับ เทสโก้ โลตัส โดยจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในชื่อ “ซินเนอร์จิสติก พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์” ถือหุ้นสัดส่วนเท่ากัน 50% มีทุนจดทะเบียน 1 แสนบาท

ซีพีเอ็น เคยระบุว่า การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนดังกล่าวเพื่อรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต ซึ่งจะนำจุดแข็งของทั้ง 2 บริษัทมาผนึกกำลังสร้างพันธมิตรที่แข็งแกร่ง เพื่อพัฒนาธุรกิจที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคอย่างดีที่สุด อย่างไรก็ดีทั้งซีพีเอ็นและเทสโก้ โลตัส ยังไม่เคยเปิดเผยถึงรายละเอียดความร่วมมือมากไปกว่านี้และยังไม่มีความคืบหน้าจากการร่วมมือดังกล่าวแต่อย่างใด