“จีบีดีไอ” สังกัด "ดีป้า" ปูพรมลุยบิ๊กดาต้าภาครัฐ

“จีบีดีไอ” สังกัด "ดีป้า" ปูพรมลุยบิ๊กดาต้าภาครัฐ

เผยที่่ผ่านมาอบรมให้ความรู้เจ้าหน้าที่รัฐไปกว่า 200 คน

ทั้งนี้ ปัจจุบันจีบีดีไอมี กลุ่ม นักวิทยาศาตร์ข้อมูลรวม 25 คน และระดมกำลังเพิ่มให้เต็ม 40 อัตราในต้นปี 2563 จากกลุ่มนักเรียนทุน บุคลากรจากภาคเอกชน และการยืมตัวบุคลากรจากมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการวิเคราะห์ และนำเสนอข้อมูลประกอบการตัดสินใจของภาครัฐ และคณะกรรมการระดับชาติ พร้อมให้คำปรึกษาด้านการจัดหาวิเคราะห์ และบริหารจัดการข้อมูล เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการยกระดับความสามารถและทักษะของบุคลากรของภาครัฐ ตลอดจนการสนับสนุนความร่วมมือทางด้านวิชาการ การวิจัย และการบริหารจัดการองค์ความรู้ ด้านกระบวนการวิเคราะห์เซ็ตข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคดิจิทัลโดยแท้จริง

ด้านรศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันจีบีดีไอกล่าวว่า ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา สถาบันฯเปิดอบรมหลักสูตร “Innovation with Data Analytics and Visualization For Public Officer” หรือ Business Intelligence ให้กับกลุ่มผู้ใช้ข้อมูลไปแล้ว 150 คน และกลุ่มผู้บริหารอีก 50 คน โดยภายในปี 2563 ทางสถาบันฯยังคงเดินหน้าเปิดอบรมหลักสูตรดังกล่าวขึ้นอีก พร้อมเปิดเพิ่มอีก 2 หลักสูตร คือ “Hands-on Data Science and Machine Learning” สำหรับกลุ่มผู้วิเคราะห์ ประมวลและแสดงผลข้อมูล ใช้เวลาอบรม 15 วัน และหลักสูตร “Basic Data Engineering” สำหรับกลุ่มผู้สร้างและพัฒนาระบบ ใช้เวลาอบรม 12 วัน โดยทั้ง 2 หลักสูตรจะเปิดรับหลักสูตรละ 4 กลุ่ม ใช้ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนมี.ค.-ก.ย.2563

เธอ กล่าวอีกว่า ตามที่ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มอบนโยบายให้สถาบันฯดำเนินโครงการบิ๊กดาต้าร่วมกับภาครัฐ ซึ่งขณะนี้ GBDi กำลังขับเคลื่อน 3 กลุ่มหลักคือ 1. กลุ่มสาธารณสุข โดยดำเนินการศึกษา และออกแบบระบบสารสนเทศ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลประวัติการรักษาของตัวเองได้อย่างสะดวก และรวดเร็ว โดยมีการประชุมความร่วมมือกับเครือข่ายโรงพยาบาลทั้งภาครัฐ และเอกชน ไปแล้วกว่า 30 แห่งทั่วประเทศ 

2. กลุ่มท่องเที่ยว โดยมุ่ง ให้บริการ “ปักหมุด” แหล่งท่องเที่ยวของรัฐ ผ่านแอพพลิเคชัน แพลตฟอร์มต่าง ๆ และสร้างระบบแนะนำแหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง ตามงบประมาณและความชอบของนักท่องเที่ยว รวมทั้งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทางประชากรของผู้เข้าพักกับประเภทโรงแรมที่เข้าพัก และ 3. กลุ่มเกษตร โดยออกแบบสถาปัตยกรรมระบบบิ๊กดาต้าเพื่อสนับสนุน “เกษตร 4.0” พร้อมนำเสนอข้อมูลในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

อย่างไรก็ดี หลังจากนี้ สถาบันฯเตรียมขยายความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลอย่างรอบด้าน ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติพร้อมเปิดตัว www.bigdata.go.th ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อเป็นช่องทางนำเสนอบิ๊กดาต้าของภาครัฐ สร้างความตระหนัก และสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในวงกว้าง มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางข่าวกรองของภาครัฐ โดยไม่ว่าหน่วยงานไหน อยากจะตอบคำถามอะไร ทางสถาบันฯจะมีข้อมูลสนับสนุน เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก ได้อย่างรวดเร็ว และมีความถูกต้องของข้อมูลครบถ้วน