ส่งท้ายปี ประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง

ส่งท้ายปี ประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเปิดรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ว่าปี 2562 นี้คนไทยแฮปปี้หรือมีเรื่องน่ากังวลอะไรบ้าง

ก่อนที่กล่าว happy new years ต้อนรับปี 2563 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติปิดรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ว่าปี 2562 นี้คนไทยแฮปปี้หรือมีเรื่องน่ากังวลอะไรบ้าง 

 

  • การจ้างงานลดลงร้อยละ 2.1

กำลังแรงงานมีจำนวน 38 ล้านคน สำหรับผู้มีงานทำมีจำนวน 37.5 ล้านคน ลดลงร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับปีก่อน สาเหตุสำคัญมาจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และปัญหาภัยธรรมชาติโดยเกิดภาวะน้ำท่วมที่รุนแรงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งภาวะน้ำแล้งในบางพื้นที่ ปัญหาดังกล่าว ยังส่งผลให้แรงงานรอฤดูกาลเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 53.7 หรือมีจำนวนทั้งสิ้น 0.7 แสนคน

เมื่อพิจารณาการว่างงานตามระดับการศึกษา พบว่า ผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา มีอัตราการว่างงานสูงสุดที่ร้อยละ 2.15 รองลงมาเป็นผู้จบอาชีวศึกษาวิชาชีพชั้นสูง มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และระดับประถมศึกษาและต่ำกว่ามีอัตราการว่างงานที่ร้อยละ 2.05 1.31 1.26 1.09 และ 0.40 ตามลำดับ โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนพบว่าผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา อาชีวศึกษา และ มัธยมศึกษาตอนต้นมีอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา 

แม้การจ้างงานจะลดลง แต่โดยเฉลี่ยแรงงานยังคงมีชั่วโมงทำงานยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 2561 โดยเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 0.4 มีสาเหตุจากการปรับตัวของสถานประกอบการที่มีการปรับชั่วโมงทำงานล่วงเวลาลงและบางส่วนมีการปรับลดการจ้างงานที่มีผลผลิตและชั่วโมงการทำงานต่ำก่อน ทำให้โดยเฉลี่ยชั่วโมงการทำงานยังคงทรงตัวในเกือบทุกสาขาเศรษฐกิจ ค่าจ้างแรงงานในภาพรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยค่าจ้างแรงงานโดยรวมเฉลี่ยเท่ากับ 14,334 บาทต่อเดือน และค่าจ้างแรงงานเอกชนเท่ากับ 12,847 บาทต่อเดือน 

 

  • ผู้ป่วยโรคเฝ้าระวังลดลงร้อยละ  5.2

มีผู้ป่วยโรคเฝ้าระวังรวม 222,531 ราย โดยผู้ป่วยโรคปอดอักเสบและไข้หวัดใหญ่ลดลง แต่พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.9 เนื่องจากในหลายพื้นที่ยังมีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำท่วมขังตามภาชนะและ วัสดุต่าง ๆ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายที่เป็นพาหะของโรค โดยพบผู้ป่วยสูงสุด ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมา ได้แก่ ภาคใต้ และภาคเหนือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มเด็กอายุ 5-14 ปี แต่ผู้เสียชีวิตส่วนมากเป็นกลุ่มวัย 15 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่อาจมีอาการรุนแรงส่งผลให้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 

157590222817

  • บริโภคแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้นร้อยละ  3.1 

การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ขยายตัวร้อยละ3.1โดยปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขยายตัวร้อยละ 3.0 ขณะที่การบริโภคบุหรี่ขยายตัวร้อยละ 2.9 และยังมีประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง ดังนี้ 

  1. เบียร์ไร้แอลกอฮอล์เนื่องจากปริมาณแอลกอฮอล์ที่ต่ำกว่ำ 0.5 ดีกรีจึงไม่เข้าข่ายการเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ. 2551 ทำให้สามารถลงโฆษณาได้ทุกช่องทางโดยไม่ผิดกฎหมาย รวมทั้งสามารถจำหน่ายได้ตลอดวัน และไม่มีการกำหนดขั้นต่ำของผู้ชื้อ ปัจจุบันแม้ยอดขายเบียร์ไร้แอลกอฮอล์จะยังไม่สูง แต่สามารถทำหน้าที่เป็นเหมือนสื่อโฆษณาให้แก่เครื่องดื่มที่มีแอลกกฮอล์ในเครือเดียวกัน 
  2. อันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งยังมีการลักลอบจำหน่ายเป็นจำนวนมาก แม้ประเทศไทยจะห้ามนำเข้าและจำหน่ายตั้งแต่ปลายปี 2557 ทั้งนี้มีผลวิจัยในหลายประเทศที่พบว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตราย อาทิ สารนิโคตินที่มีคุณสมบัติก่อให้เกิดการเสพติดมากกว่าเฮโรอีน แอลกอฮอล์ และกัญชา วัยรุ่นที่ยังไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อนเมื่อลองใช้บุหรี่ไฟฟ้า มีแนวโน้มที่จะเริ่มสูบบุหรี่แบบปกติในเวลาต่อมา และพัฒนาไปสู่การเสพติดยาเสพติดประเภทอื่น นอกจากนี้ ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ประกาศเตือนให้ประชนชนหยุดสูบบุหรี่ไฟฟ้าหลังหลังจากมีการเสียชีวิตต่อเนื่องมาตั้งแต่ ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และพบว่ามีผู้ที่ติดเชื้อทางเดินหายใจหลังจากที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 

 

  • อุบัติเหตุจราจรลดลงร้อยละ  11.1

รถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดยังคงเป็นรถจักรยานยนต์มีสัดส่วนร้อยละ 40.1 ของประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุทั้งหมด สาเหตุของอุบัติเหตุอันดับแรก เกิดจากตัวบุคคล จากการใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และระดับความรุนแรงของอุบัติเหตุจะขึ้นอยู่กับระดับความเร็วของการขับขี่ที่จะส่งผลต่อโอกาสการบาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งต่อตนเองและผู้อื่นในอัตราที่เพิ่มขึ้นได้ โดยเเฉพาะกลุ่มผู้ใช้ถนนที่มีความเสี่ยง เช่น คนเดินเท้า ผู้ขี่รถจักรยานยนต์ การชนสิ่งกีดขวางอันตรายข้างทาง เช่น ต้นไม้ เสาไฟฟ้า

  • เด็กไทยจนร้อยละ  34.7

1 ใน 5 ของเด็กที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยคือเด็กที่ยากจนหลายมิติ สาเหตุหลักที่ส่งผลให้เด็กยากจนมากที่สุด อันดับหนึ่งมาจากการศึกษา  รองลงมาคือ ด้านสุขภาพ หากเปรียบเทียบระหว่างภุมิภาคพบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภูมิภาคที่เด็กมีความยากจนมากที่สุด  รองลงมาคือ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง และ กรุงเทพ ตามลำดับ เด็กในช่วงอายุ0-4 ปีมีสัดส่วนของเด็กยากจนสุงที่สุด

  • เด็กเสี่ยงภัยออนไลน์ร้อยละ  60 

จากรายงาน 2018 DQ Impact Report ซึ่งสำรวจกลุ่มตัวอย่างเด็กและเยาวชนไทยที่มีอายุระหว่าง 8-12 ปี จำนวน 1,300 คนทั่วประเทศ พบว่า เด็กไทยยังมีทักษะความฉลาดทางดิจิตัลต่ำ โดยร้อยละ 60 มีความเสี่ยง ภัยที่พบมากที่สุดคือ การถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์การเข้าถึงสื่อลามกและพูดคุยเรื่องเพศ 6 กับคนแปลกหน้า การติดเกม และการถูกล่อลวงออกไปพบคนแปลกหน้า สอดคล้องกับผลการสำรวจ สถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ประจำปี 2561 ซึ่งสำรวจในกลุ่มเด็กอายุ 6-18 ปีทั่วประเทศ จำนวน 15,318 คน ที่พบว่า เด็กไทยมีพฤติกรรมเสี่ยงจากภัยออนไลน์ อาทิ พูดคุยกับคนที่ไม่รู้จักผ่านสื่อออนไลน์ ให้ข้อมูลส่วนตัวผ่านสื่อออนไลน์ เปิดอ่านอีเมลที่ส่งมาจากคนที่ไม่รู้จักหรือคลิก link ที่ไม่รู้จัก เคยเล่นพนัน ทายผลฟุตบอลออนไลน์เคยถ่ายภาพหรือวิดีโอลามกของตนเองส่งให้คนอื่น ๆทางออนไลน์และที่น่ากังวลคือ เด็กกว่าร้อยละ 25 เคยนัดพบกับเพื่อนออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือถูกทำร้ายร่างกายได้ง่าย