เสมา1ลงพื้นที่เซอร์ไพรส์ “สถานศึกษา” ส่องปัญหาวิชาการ-คุณภาพชีวิต

เสมา1ลงพื้นที่เซอร์ไพรส์ “สถานศึกษา” ส่องปัญหาวิชาการ-คุณภาพชีวิต

การลงพื้นที่เซอร์ไพรส์โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการตามพื้นที่ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด ของ “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.)”โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าให้สถานศึกษารับทราบ ได้พบปัญหาแตกต่างกันตามบริบทของแต่ละพื้นที

ล่าสุด ได้ลงพื้นที่จ.นครปฐม เยี่ยมชมศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง) สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ( กศน.) โรงเรียนบ้านคลองสว่างอารมณ์ จ.นครปฐม โรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนฟ้าใสวิทยา จ.นครปฐม โรงเรียนการศึกษาพิเศษ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)

ทำให้เห็นสภาพของแต่ละโรงเรียนตามความเป็นจริง ซึ่งโรงเรียนแต่ละแห่ง แต่ละพื้นที่ย่อมมีทั้งคุณภาพ และปัญหาแตกต่างกัน อย่างโรงเรียนทั้ง 3 แห่งที่ได้ไปเยี่ยมชมในพื้นที่จ.นครปฐม เริ่มตั้งแต่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง) เป็นการจัดการเรียนการสอนอบรมระยะสั้น ฝึกอาชีพด้านศิลปะ ช่างศิลป์ต่างๆ 

157589285873

ซึ่งต้องมีการต่อยอดทางด้านทักษะอาชีพให้มากขึ้น เพราะถือเป็นศูนย์กศน.ที่โดดเด่นตอบโจทย์เรื่องการพัฒนาของประเทศทั้งในด้านการท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ด้านศิลปะที่มีคุณค่า และมีครูผู้สอนที่มาจากสายช่างศิลป์จริงๆ รวมถึงจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลการศึกษาของกศน.กับการศึกษาระดับอื่นๆ มากขึ้น เพื่อจะได้นำองค์ความรู้ มาแลกเปลี่ยนเสริมสร้างความรู้ และอาชีพให้กับทุกคน

มาถึงโรงเรียนแห่งที่ 2 “โรงเรียนบ้านคลองสว่างอารมณ์ จ.นครปฐม” ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก จัดการเรียนการสอนระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้น มีนักเรียนประมาณ 100 คน ซึ่งมีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) มีการบริหารจัดการที่ดีในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องได้รับการพัฒนาอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น จำนวนครูผู้สอน ห้องน้ำ บางห้องเรียนมีเด็กเรียนในห้องเรียน 5 คน ต้องเรียนด้วยการศึกษาไทยไกลผ่านดาวเทียม

"หากเด็กกลุ่มนี้ได้ไปเรียนในโรงเรียนที่ไกลออกมาไปจากบ้านเพียงเล็กน้อย แต่เรียนกับเพื่อนอีก 20 คน เรียนจากครูจริง เชื่อว่าถ้าผู้ปกครองเข้าใจเรื่องเหล่านี้ น่าจะต้องการให้เด็กได้ไปเรียน ดังนั้น เรื่องเหล่านี้ต้องมีการทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง แต่ถ้าไม่สามารถไปได้ก็ต้องพัฒนาการเรียนการสอนให้ดียิ่งขึ้น"

157589285860

ต่อด้วย “โรงเรียนฟ้าใสวิทยา” เป็นโรงเรียนพิเศษ โรงเรียนขยายโอกาสให้แก่น้องๆ ซึ่งเท่าที่ได้พูดคุยกับผู้บริหารสถานศึกษาและน้องๆนักเรียน เรียกได้ว่ามีการบริหารจัดการโรงเรียนได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งเรื่องของการจัดการเรียนการสอน การอบรมสั่งสอนเรื่องระเบียบวินัย การใช้ชีวิต และมีการส่งเสริมพัฒนาอาชีพมากกว่า 10 อาชีพ ทั้งเรื่องของกีฬา ศิลปะ และดนตรี เป็นการเปิดโอกาสในสังคมให้เด็กมากขึ้น มีทักษะอาชีพติดต่อไป โดยหลังจากนี้ ศธ.จะเติมเต็มเรื่องทักษะอาชีพ โดยจะเชื่อมโยงสถานศึกษาในกลุ่มจังหวัดนครปฐมไว้ด้วยกัน นำองค์ความรู้ต่อยอดให้แก่ผู้เรียนและโรงเรียนในพื้นที่ให้มากขึ้น

“ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เยี่ยมโรงเรียนโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ทำให้เห็นปัญหาสำคัญ 3 ประเด็น คือ 1.หลักสูตร การจัดการเรียนการสอนที่ยังไม่มีความเท่าเทียม 2.เรื่องสุขอนามัย สุขลักษณะของเด็ก ไม่ว่าจะเป็น ห้องน้ำ อาหาร โรงอาหาร สุขอนามัยของเด้ก อย่าง ฟัน เล็บ มีชั้นหนังสือที่มีฝุ่น ตามตู้ยังมีใยแมงมุม และ 3.ความเข้าใจในการดูแลสิ่งแวดล้อม การจัดเก็บขยะ การรีไซเคิลขยะ

157589285815

ซึ่งทั้ง 3 เรื่อง เป็นเรื่องลอยในอากาศ หลักสูตรไม่ดี สุขลักษณะสุขอนามัยไม่ดี สิ่งแวดล้อมไม่ดี แต่เรื่องเหล่านี้ต้องแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นองคาพยพที่ต้องมุ่งมั่นกันทั้งกระทรวง ทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกัน มีความเข้าใจร่วมกัน โดยเฉพาะผู้อำนวยการโรงเรียน ครู ต้องมีเวลาพอในการดูแลเรื่องนี้ และผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาต้องลงไปดูในเรื่องนี้ รวมถึงผู้บริหารสพฐ. เรื่องเหล่านี้แม้จับต้องยากแต่บริหารจัดการได้

“ที่ผ่านมาไม่มีการบริหารจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งผมได้เล่าเรื่องนี้ให้ผู้บริหารสพฐ.ฟัง และให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการแก้ปัญหา โดยเริ่มจากการต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับเด็ก โรงเรียน เช่น การแก้ปัญหาสุขอนามัย อย่าง เรื่องฟัน ครูทุกคนมีมือถือให้ถ่ายรูปฟันเด็กแต่ละคนว่าเด็กคนไหน ฟันผุ ฟันหลอ ฟันขาว และส่งข้อมูลเข้าระบบ จะได้รู้ว่าเด็กโรงเรียนไหนมีปัญหาเพื่อจัดส่งทันตแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปช่วยดูแล หรือห้องน้ำโรงเรียนถ่ายมาดูว่าตอนนี้สภาพเป็นอย่างไร ต้องได้รับการแก้ไขอย่างไร"

"ผอ.เขตลงไปตรวจสอบว่าเป็นจริงตามที่รายงานหรือไม่ และแก้ไข ซึ่งถ้าแก้แล้วแต่พบว่ายังสกปรก ก็ประเมินโรงเรียนว่าเหมาะสมหรือไม่ เรื่องเหล่านี้เราแก้ปัญหาได้ถ้าเรามีข้อมูล เพราะเทคโนโลยีทำอะไรได้มากควรนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เชื่อว่าปีการศึกษา 2563 นี้ จะได้ข้อมูลของเด็ก ครูโรงเรียนทั้งหมดเพื่อนำมาวิเคราะห์และแก้ปัญหาให้ถูกจุด เป็นไปตามบริบทของโรงเรียนแต่ละแห่ง”ณัฎฐพล กล่าว

157589285818

การศึกษาไทยในอนาคต ไม่ใช่ดูเพียงว่าหลักสูตรมีคุณภาพ หรือดูผลสัมฤทธิ์ด้านวิชาการเท่านั้น แต่ต้องเป็นการเรียนรู้ที่ดีแล้วเด็กต้องมีความสุขร่วมด้วย สำหรับการจัดสรรงบประมาณ ถ้าโรงเรียนไหน มีแผนฒนาโรงเรียนและต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมสามารถจัดทำแผนมาเสนอศธ.ได้ ซึ่งการจัดงบประมาณเสริมให้จะเป็นไปตามบริบทที่โรงเรียนแต่ละแห่งต้องได้รับ

เช่น บางโรงเรียนต้องเพิ่มครู เพิ่มอุปกรณ์การเรียน ปรับปรุงห้องน้ำให้ดีขึ้น การจัดสรรงบประมาณต้องเข้าถึงโรงเรียนจริง โดยผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่า ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา สพฐ.ต้องไปดูของจริงว่าโรงเรียนมีปัญหาจริง ต้องของบประมาณเพื่อให้ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น ไม่ใช่จัดงบประมาณ เพราะรู้จัก คุ้นเคยกับผอ.เขตพื้นที่การศึกษา

ช่วง 4 เดือนของการทำงานที่ผ่านมา ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เห็นว่าความเข้าใจของคนในกระทรวงไม่ได้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาการศึกษา แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรค คือ ความกล้าในการจะดำเนินการเรื่องต่างๆ โดยต้องทิ้งวัฒนธรรมเก่าๆ เพราะความเข้าใจ ความสามารถของคนกระทรวงทุกคนมีและเมื่อรวมพลังกันแล้วสามารถแก้ปัญหาได้ แต่จะกล้าละทิ้งสิ่งที่ทำมานานแล้วหรือไม่ เช่น กล้าให้เด็กเล่นกีฬา ดนตรี ศิลปะมากขึ้นแล้วคาบเรียนวิชาการน้อยลงหรือไม่ กังวลว่าผู้ปกครองจะไม่เข้าใจ กังวลว่าถ้าปรับการเรียนการสอนแล้วเด็กจะไม่มาเรียน 

"เรื่องการศึกษาในความเป็นจริง ไม่ใช่เพียงคนในกระทรวง ครูเท่านั้น แต่ทุกภาคส่วน พ่อแม่ผู้ปกครอง ชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม” ณัฏฐพล กล่าวทิ้งท้าย