คุมเข้ม ‘ดื่มไม่ขับ’ ช่วงเทศกาลปีใหม่ ลั่นปรับสูงสุด 2 แสนบาท-ถอนใบขับขี่

คุมเข้ม ‘ดื่มไม่ขับ’ ช่วงเทศกาลปีใหม่ ลั่นปรับสูงสุด 2 แสนบาท-ถอนใบขับขี่

กรมควบคุมโรค ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการขนส่งทางบก เดินหน้าโครงการ “ขับขี่ปลอดภัย มั่นใจ ไร้แอลกอฮอล์” หวังลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ ลั่นโทษปรับสูงสุด 2 แสนบาท-ถอนใบขับขี่

เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.62 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่อุบัติเหตุทางถนนสร้างความสูญเสียต่อเศรษฐกิจ สังคม และสถาบันครอบครัวเป็นอย่างมาก หากย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2554 นับระยะเวลาเกือบ 10 ปีมาแล้วที่ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนแต่ละปีสูงกว่า 20,000 คน (จากข้อมูลบูรณาการ 3 ฐาน) เฉลี่ยผู้เสียชีวิต 55 คนต่อวัน และหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน คือ การเมาแล้วขับ ซึ่งจากข้อมูลของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558-2562) พบว่า การดื่มแล้วขับเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุร้อยละ 38.4 ของอุบัติเหตุทั้งหมด เสียชีวิต 559 ราย ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 7,020 ราย  ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้ให้ความสำคัญในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนเป็นอย่างมาก โดยให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือและแก้ปัญหาร่วมกัน และเน้นไม่ใช่เมาไม่ขับ แต่ต้องดื่มไม่ขับ ไม่ว่าดื่มมากหรือน้อยต้องไม่ขับ เมาแล้วขับไม่ใช่เพียงพักหรือเพิกถอนใบอนุญาต แต่ต้องหาช่องทางดำเนินคดีให้หนักขึ้น”  ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข โดยดำเนินการร่วมกับเครือข่ายมาอย่างต่อเนื่อง และมีการใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้น เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนให้น้อยลง

กรมควบคุมโรค ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการขนส่งทางบก ได้ดำเนินโครงการ “ขับขี่ปลอดภัย มั่นใจ ไร้แอลกอฮอล์ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน กระทรวงคมนาคม เพื่อตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุ และเหตุนั้นมีผู้บาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตทุกราย ตลอดทั้งปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมพฤติกรรมนักดื่มแล้วขับ สร้างความตระหนักถึงผลกระทบของการดื่มแล้วขับ ตัวผู้ขับขี่ที่เป็นต้นเหตุ และถูกลงโทษตามกฎมายที่มีโทษสูงสุดจำคุก 3-10 ปี ปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากเหตุนั้นทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต และศาลสามารถสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

ผลการดำเนินโครงการดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2561–30 กันยายน 2562 (10 เดือน) มีการตรวจแอลกอฮอล์ไปแล้ว 11,849 ราย พบว่ามีผู้ขับขี่ที่มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกฎหมายกำหนด (เกิน 50 mg%) จำนวน 55.06% ในกลุ่มนี้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกฎหมายกำหนด (เกิน 20 mg%) จำนวน 35.79% ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ และเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 (ปีที่ผ่านมา) ผลการตรวจแอลกอฮอล์ในเลือด 1,449 ราย พบผู้ขับขี่ที่มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกฎหมายกำหนด 57.07% ในกลุ่มนี้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกฎหมายกำหนด 44.32% ทำให้เห็นว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่มีกลุ่มวัยรุ่นที่ดื่มแล้วขับจำนวนมากกว่าช่วงปกติ ทำให้เกิดความคึกคะนอง ขาดสติ และเกิดความประมาทในการขับขี่ได้ง่าย

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน ลดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆ จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน ร่วมกันปฏิบัติตามกฎจราจร ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทั้งก่อนและขณะขับขี่ยานพาหนะทุกชนิด สวมหมวกนิรภัย คาดเข็มขัดนิรภัย ง่วงไม่ขับ ขับขี่ด้วยความระมัดระวัง ไม่ประมาท สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะทำให้ท่านปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางถนน ที่สำคัญพ่อแม่ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่ขับขี่รถจักยานยนต์ที่ถือว่าเป็น “นักขับมือใหม่ ที่อาจมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายกว่าปกติ

นอกจากนี้ ยังพบร้านค้าที่กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งการขายสุราในสถานที่และเวลาห้ามขาย และการห้ามขายสุราให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ กระทรวงสาธารณสุข และเครือข่าย จะมีการบังคับใช้กฎหมายทั่วประเทศอย่างเคร่งครัด โดยจัดทีมเจ้าหน้าที่ให้ทำการสุ่มตรวจการกระทำผิดกฎหมายดังกล่าว และขอความร่วมมือผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ ร้านจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ให้จำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในเวลาที่กำหนดเท่านั้น คือช่วง 11.00–14.00 . และ 17.00–24.00 . และต้องไม่จำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี สอบถามเพิ่มเติมโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

157589070749