บสย.ออก‘ไดเร็คการันตี’ ‘ค้ำประกันตรง’เอสเอ็มอี

บสย.ออก‘ไดเร็คการันตี’  ‘ค้ำประกันตรง’เอสเอ็มอี

“บสย.” เตรียมค้ำประกันตรงให้กับเอสเอ็มอี หรือ“ไดเร็คการันตี” สำหรับกลุ่มที่มีศักยภาพ และต้องการเงินด่วน ด้วยการการออกหนังสือรับรอง หรือ LG ให้ผู้ประกอบการไปยื่นกับแบงก์ ตั้งวงเงินไว้ 1.5พันล้าน คัดเลือกธนาคาร 3 แห่งเข้าร่วม เริ่มภายในธ.ค.นี้ 

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) ​เปิดเผยว่า บสย.เตรียมวงเงินจำนวน 1.5 พันล้านบาท เพื่อทำไดเร็คการันตี( Direct Guarantee) ให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการเงินทุนด่วน โดยถือเป็นครั้งแรกที่ บสย.จะทำ Direct Guarantee ให้กับผู้ประกอบการดังกล่าว  

ทั้งนี้ Direct Guarantee เป็นการออกหนังสือรับรอง (Letter of Guarantee)ให้กับเอสเอ็มอีรายนั้นโดยตรง เพื่อให้เอสเอ็มอีรายนั้น สามารถเดินไปยื่นที่สถาบันการเงินเพื่อขอสินเชื่อ โดยจะได้รับการค้ำประกันสินเชื่อจากบสย. จากเดิมที่เอสเอ็มอีที่ต้องการสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ต้องไปหาสถาบันการเงินก่อน หากเครดิตไม่พอ สถาบันการเงินจะแนะนำให้มาใช้บริการบสย.และสถาบันการเงินจะส่งลูกค้ารายนั้นมาให้ บสย.พิจารณา

 ปัจจุบัน บสย.ได้คัดเลือกธนาคารที่จะเข้าร่วมโครงการนี้แล้ว 3 ธนาคาร จากทั้งหมด 18 ธนาคาร โดยจะดำเนินการในช่วงปลายเดือนธ.ค.นี้  สำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีคุณสมบัติที่จะสามารถขอ Direct Guarantee จากบสย.คือ เอสเอ็มอีที่ดำเนินธุรกิจมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปี มีรายได้สม่ำเสมอ และงบการเงินต้องเป็นบวกติดต่อกัน 3 ปี โดย บสย.จะค้ำประกันสินเชื่อในกลุ่มนี้ไม่เกินรายละ 10 ล้านบาท

ทั้งนี้ เนื่องจากลูกค้ากลุ่มดังกล่าว ถือเป็นกลุ่มลูกค้าชั้นดี ดังนั้น บสย.จะเพิ่มอัตราการค้ำประกันให้สูงขึ้นเป็น 70 % จากเดิม 30 % ซึ่งบสย.สามารถค้ำลูกค้ากลุ่มนี้ได้ถึว 100 % โดยความเสียหายของลูกค้ากลุ่มนี้หากมี ก็เป็นเรื่องที่บสย.จะรับภาระเอง โดยที่กระทรวงการคลังไม่ต้องรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก Direct Guarantee ดังกล่าว เป็นการอำนวยความสะดวกเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจ ดังนั้นอัตราค่าธรรมเนียมการค้ำประกันจะสูงกว่าปกติ โดยคิดในอัตรา 2.5-3% ของวงเงินค้ำประกัน จากปกติอยู่ที่ 1.5 % 

“ลูกค้ากลุ่มที่ต้องการ Direct Guarnatee คือ ลูกค้าที่ต้องการเงินด่วนเพื่อใช้หมุนเวียนธุรกิจ ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจที่มี High Value หรือมี High Return พร้อมจ่ายค่าธรรมเนียม เพื่อต้องการเงินทุนที่ด่วนเป็นพิเศษ"   นายรักษ์ กล่า 

เขากล่าวว่า  กลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ บางกรณีต้องการเงินลงทุนด่วน แต่เนื่องจากหลักประกันที่ใช้ค้ำประกันเงินกู้ ได้เต็มหมดแล้ว ซึ่งตามหลักแล้วธนาคารจะไม่ปล่อยกู้เพิ่มเติม ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ธนาคารเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เห็นได้จากยอด Reject rate ที่สูงถึง 40 % จากที่เคยอยู่ที่ 26 % ดังนั้นจึงต้องใช้บริการของ บสย. โดยยอมจ่ายค่าธรรมเนียมการค้ำประกันที่สูงขึ้น 

“ด้วยศักยภาพของบสย.สามารถค้ำประกันลูกค้าเอสเอ็มอีได้ถึง 100 % ในกรณีที่เป็นลูกค้าที่มีศักยภาพ ซึ่งหากค้ำประกันถึง 100 % ก็เท่ากับบสย.เป็นผู้ปล่อยกู้ด้วยตัวเอง แต่ยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นนโยบายของกระทรวงการคลังที่ต้องการให้ บสย.เป็นผู้ช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้กับ SMEs ไม่ดำเนินการปล่อยสินเชื่อแข่งกับสถาบันการเงิน”