ร.ร.เอกชนนอกระบบ ร้องลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ร.ร.เอกชนนอกระบบ ร้องลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ผู้บริหารร.ร.เอกชนนอกระบบ ยื่นหนังสือ “กนกวรรณ” แก้ปัญหาร่าง พ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ระบุไม่ครอบคลุม ไม่เท่าเทียมเกิดความเหลื่อมล้ำในการจัดการศึกษาเอกชน

วันนี้ (9 ธ.ค.2562) กลุ่มผู้แทนผู้บริหารในคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และผู้แทน ผู้บริหารโรงเรียนอกชนนอกระบบและสมาคมโรงเรียนเอกชนนอกระบบทั่วประเทศ ได้เข้าพบ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เพื่อร้องขอความเป็นธรรมให้พิจารณาปรับแก้ ร่าง พร.ฎ.ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ...ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 62 ที่ผ่านมา

นายธนาชัย อึ้งสมรรถโกษา ผู้แทนผู้บริหารในคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และผู้แทนผู้บริหารโรงเรียนอกชนนอกระบบและสมาคมโรงเรียนเอกชนนอกระบบทั่วประเทศ กล่าวว่าร่างพ.ร.ฎ.ฉบับดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำและขาดความเป็นธรรม อีกทั้งขัดต่อแผนปฏิรูปยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีตามมาตรา 37 ข้อ 2(4) ของร่าง พ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ....

โดยได้ระบุให้โรงเรียน เอกชนได้รับการลดหย่อนภาษี 90% ซึ่งต่อมาได้กำหนดให้มีเพียงโรงเรียนเอกชนในระบบ และโรงเรียนเอกชนนอกระบบประเภทปอเนาะ ตาฎีกา และสอนศาสนาเท่านั้น แต่ไม่รวมไปถึงโรงเรียนเอกชนนอกระบบอีก 4 ประเภทที่เหลือ ได้แก่ วิซาการ, วิชาชีพ, ศิลปะและกีฬาและสร้างเสริมทักษะชีวิต

ซึ่งที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์ว่าโรงเรียนเอกชนนอกระบบที่ดำเนินการขออนุญาตอย่างถูกต้องกับกระทรวงศึกษาธิการใน 4ประเภทนี้ มีส่วนสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีศักยภาพมากขึ้น เกิดทักษะทั้งด้านวิชาการและวิชาชีพ เป็นการเสริมอาชีพให้ประชาชนได้มีงานทำตรงกับความต้องการของตลาดอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการสร้างงานสร้างอาชีพตลอดมา และได้ดำเนินการจัดการศึกษาอย่างเต็มรูปแบบต่อเนื่อง โดยไม่ได้รับการอุดหนุนใดๆ จากภาครัฐ รวมทั้งยังต้องต่อสู้กับปัญหาที่เกิดจากสภาวะเศรษฐกิจและจำนวนผู้เรียนทั้งระบบที่ลดลง

ทำให้มีโรงเรียนเอกชนนอกระบบจำนวนมากอยู่ขึ้นภาวะที่ใกล้จะปิดตัวลงเพราะรายได้ไม่เพียงพอกับรายง่าย ดังนั้นการที่ไม่ได้รับการพิจารณาให้ลดหย่อนภาษี ในครั้งนี้ จึงเป็นการซ้ำเติมให้โรงเรียนเหล่านี้ประสบปัญหามากยิ่งขึ้น

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การจัดการศึกษาของโรงเรียนเอกชนนอกระบบภายไต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช) ดังกล่าวได้สนองตอบและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีในการพัฒนาคน ตามนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน

แต่เมื่อรัฐจัดทำร่างพ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยมีการลดหย่อนให้กับสถานศึกษาเอกชนทุกประเภทแต่กลับไม่ครอบคลุมให้ทั่วถึงการศึกษาเอกชนนอกระบบทั้งหมด

ทั้งๆ ที่โรงเรียนเอกชนนอกระบบก็เป็นโรงเรียนเอกชนประเภทหนึ่งที่ถูกกำหนดภายใต้ พ.ร.บ.การศึกษาเอกชน และอยู่ในสังกัด สช ศธ. เช่นเดียวกัน การกระทำดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงเจตนาที่มีการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมและสร้างความเหลื่อมล้ำอย่างเห็นได้ชัดจน โดยขาดเหตุผลที่มีตรรกะอย่างสิ้นเชิง