เดอะเลดี้ ‘อองซาน ซูจี’ นำทัพเมียนมาสู้คดีศาลโลก

เดอะเลดี้ ‘อองซาน ซูจี’ นำทัพเมียนมาสู้คดีศาลโลก

อดีตสัญลักษณ์ประชาธิปไตย “อองซาน ซูจี” เตรียมสร้างประวัติศาสตร์ด้านกฎหมายด้วยการเดินทางไปกรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ในสัปดาห์นี้ เพื่อแก้ต่างให้เมียนมาตามข้อกล่าวหาจงใจฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา

ผู้ฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) คือ แกมเบีย ประเทศเล็กๆ ในแอฟริกาตะวันตกที่กระทำการในนาม 57 ชาติสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) ขอให้ไอซีเจดำเนินมาตรการเร่งด่วนยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เมียนมากำลังทำอยู่

จากนั้นสำนักงานของอองซาน ซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ก็ทำในสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ ด้วยการประกาศว่า เธอจะนำทีมไปขึ้นศาลของสหประชาชาติตั้งอยู่ ณ ปราสาทสันติภาพในเนเธอร์แลนด์ด้วยตนเอง

ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า ซูจีจะเป็นหนึ่งในผู้นำประเทศคนแรกๆ ที่ไปแถลงต่อศาลด้วยตนเอง นับตั้งแต่ก่อตั้งไอซีเจขึ้นเมื่อปี 2489 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อตัดสินข้อพิพาทระหว่างประเทศ

ซิซิลี โรส ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชากฎหมายระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยไลเดนของเนเธอร์แลนด์กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี   ว่า การที่ซูจีมีแผนไปศาลรับฟังการพิจารณาคดีเป็นเวลา 3 วันเริ่มตั้งแต่วันอังคาร (10 ธ.ค.) เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดและไม่ฉลาดเอามากๆ

“ไม่เคยมีรัฐไหนส่งนักการเมืองนำทีมกฎหมายในไอซีเจ” นักวิชาการกล่าวและว่า แม้ภูมิหลังของผู้นำพลเรือนรายนี้ที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดถือว่าน่าประทับใจ แต่เธอไม่มีคุณวุฒิด้านกฎหมาย เมื่อไปอยู่ต่อหน้าศาลก็อาจไม่รู้เรื่องอะไรเลย

โศกนาฏกรรมของชาวโรฮิงญาเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่กองทัพเมียนมาปราบปรามคนกลุ่มนี้อย่างรุนแรงเมื่อปี 2560 ชาวโรฮิงญาราว 740,000 คนต้องหนีตายไปอยู่ตามค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศเพื่อนบ้าน เจ้าหน้าที่สอบสวนของสหประชาชาติสรุปว่าการกระทำของกองทัพเมียนมาเปรียบได้กับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

คดีนี้จะเป็นความพยายามทางกฎหมายของนานาชาติคดีแรก ที่นำเมียนมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมกรณีวิกฤติโรฮิงญา และเป็นตัวอย่างที่ไม่มีให้เห็นบ่อยนักที่ประเทศหนึ่งซึ่งไม่ได้เป็นภาคีเกี่ยวข้องโดยตรงฟ้องอีกประเทศหนึ่งได้

แกมเบียที่มีชาวมุสลิมเป็นชนส่วนใหญ่กล่าวหาว่า เมียนมาละเมิดอนุสัญญาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ปี 2491 ของยูเอ็น โดยขอให้ศาลพิจารณามาตรการพิเศษจากนั้นจึงจะตัดสินใจว่าจะดำเนินคดีในวงกว้างกว่านี้หรือไม่

อย่างไรก็ตามกว่าจะตัดสินคดีก็ต้องใช้เวลาอีกหลายปี

ขณะที่ซูจีกล่าวว่า การที่เธอนำทีมไปศาลโลกก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติเมียนมา

คาดกันว่า เมียนมาจะโต้แย้งว่า ไอซีเอไม่มีอำนาจศาล ปฏิบัติการของกองทัพพุ่งเป้าที่กลุ่มติดอาวุธโรฮิงญา แค่เมียนมาสอบสวนข้อกล่าวหากองทัพใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยตนเองก็เพียงพอแล้ว

กระนั้นการรับมือของซูจีต่อวิกฤติโรฮิงญาทำให้ชื่อเสียงของเธอในสายตาต่างประเทศเสื่อมถอยลงไปมาก นักวิจาร์ณกล่าวว่า เธอกำลังทำตัวเป็นผู้แก้ต่างให้กับกองทัพที่เคยกักบริเวณเธอมานานหลายปี

ด้านผู้เชี่ยวชาญกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ซูจีเสี่ยงมากที่ทำแบบนี้

“เป็นเรื่องผิดปกติมากๆ ที่ผู้นำไปศาลโลกเพื่อแก้ต่างให้ประเทศตนเอง ส่วนมากที่ผู้นำมากรุงเฮกเองก็เพื่อต้องการให้สาธารณชนสนใจคดีนั้นๆ เป็นพิเศษ” วิลเลม ฟาน เกอนุกเตน อาจารย์ด้านกฎหมายระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยทิลเบิร์กของเนเธอร์แลนด์ให้ความเห็น โดยยกตัวอย่างตอนที่อีโว โมราเลส ประธานาธิบดีโบลิเวียในขณะนั้นมาศาลโลกที่กรุงเฮก ตอนที่ศาลพิพากษาคดีพิพาทชายแดนกับชิลี

157585012782

สำหรับเมียนมายังเจออีกหลายคดี เช่น การสอบสวนของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งศาลในกรุงเฮกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 มีหน้าที่สอบสวนอาชญากรรมสงคราม และอีกหนึ่งคดีในอาร์เจนตินา

คดีเมียนมาในสัปดาห์นี้เป็นเพียงคดีที่ 4 ในประวัติศาสตร์ของไอซีเจที่พิจารณาตามอนุสัญญาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สองคดีก่อนหน้าเกี่ยวข้องกับสงครามบนคาบสมุทรบอลข่านในทศวรรษ 90 อีกหนึ่งคดีเป็นความขัดแย้งระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกและรวันดาเมื่อปี 2545

มีเพียงคดีเดียวเท่านั้นที่ผู้พิพากษาไอซีเจตัดสินว่า เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ นั่นคือการสังหารหมู่สเรเบรนีตซา หรือการฆ่าผู้ชายและเด็กชายชาวมุสลิม 8,000 คนในบอสเนีย

“ความผิดปกติเรื่องที่อองซาน ซูจี นำคณะตัวแทนเมียนมาด้วยตนเอง คือข้อเท็จจริงที่ว่า เธอมองว่าเป็นความรับผิดชอบส่วนตัวด้วยเหมือนกันที่เมียนมาถูกกล่าวหาว่าทำความผิด ส่วนตัวซูจีไม่ได้ถูกดำเนินคดีที่ไอซีเจ แต่การที่เธอไปที่นั่นก็ไม่ธรรมดา” มค์ เบกเกอร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านกฎหมายระหว่างประเทศจากทรินิตี้คอลเลจในกรุงดับบลินเผย

จากความเห็นของนักวิชาการต่างชาติถึงนักวิชาการในประเทศ ที่ยังมีความเห็นต่างเรื่องที่ซูจียอมเอาตัวเองเล่นกับไฟแก้ต่างให้กองทัพ บางคนมองว่า การปกป้องกองทัพจะทำให้ทหารยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทหารร่าง

“จะมีการต่อรองและยอมแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันมากขึ้นระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ” หม่อง หม่อง โซ นักวิเคราะห์การเมืองคาดการณ์

บางคนมองว่า เป็นแผนทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งปีหน้า เพื่อให้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของซูจีคว้าชัยชนะ

ขิ่น ยี จากพรรคฝ่ายค้าน “ยูเอสดีพี” ในเครือกองทัพมองว่า พรรคการเมืองส่วนใหญ่คาดว่า พรรคเอ็นแอลดีจะได้ประโยชน์ในการเลือกตั้งปีหน้า

แม้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหลายคนจะถอดใจ แต่หลายคนก็คาดว่าเอ็นแอลดียังคว้าชัยชนะอย่างถล่มทลายโดยไม่จำเป็นต้องเอาตัวไปเสี่ยง

ตั่น มินต์ อู นักประวัติศาสตร์และนักเขียนเมียนมา กล่าวในงานเปิดตัวหนังสือที่กรุงเทพฯ เมื่อไม่กี่วันก่อน ไม่เชื่อว่านี่เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบพื้นๆ เขามองว่า ซูจีเชื่อเหมือนกับที่คนส่วนใหญ่ในประเทศเชื่อ “ไม่เคยมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้น”

“ผมคิดว่าเธอโกรธมากกับสิ่งที่เธอมองว่า โลกภายนอกตอบโต้เมียนมาอย่างอยุติธรรม ผมคิดว่าเธอต้องการไปศาลแล้วโต้แย้งเรื่องนี้ เธอเชื่อมั่นอย่างมากว่าไม่มีใครเป็นตัวแทนประเทศได้ดีไปกว่าเธอ”

ด้านอาย ลวิน จากศูนย์อิสลามแห่งเมียนมา เชื่อว่า ซูจีทำถูกแล้วที่อ้างความรับผิดชอบส่วนตัวแล้วไปกรุงเฮก ที่ซึ่งความโหดร้ายจะถูกตีแผ่ออกมาอย่างหมดเปลือก

“นี่ไม่ใช่เรื่องของการชนะหรือแพ้ แต่เป็นการเปิดเผยความจริงและแก้ไขความอยุติธรรม”