เหตุผลที่ ‘ความเหงา’ บั่นทอนการทำงาน

เหตุผลที่ ‘ความเหงา’ บั่นทอนการทำงาน

ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีวิธีการติดต่อเพื่อนฝูง ครอบครัว และแม้แต่เพื่อนร่วมงานมากกว่าที่เคย แต่ความเหงาก็กลายเป็น “โรคระบาดยุคใหม่” และที่สำคัญ อาจทำให้สมรรถภาพในการทำงานของคนยุคนี้ลดลงด้วย

ในประเทศไทย มีคนเหงาจำนวนไม่น้อย ประมาณ 4 ใน 10 คน อ้างอิงจากผลสำรวจโดยวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อหลายเดือนก่อน ที่พบว่า ในบ้านเรา มีคนเหงากว่า 26.75 ล้านคน หรือคิดเป็น 40.4% ของประชากรทั้งประเทศ โดยเป็นการทดสอบกลุ่มตัวอย่างคนไทยกว่า 1,100 คน

ส่วนในสหรัฐ ผลสำรวจเมื่อปี 2561 ของบริษัทประกัน “ซิกน่า” และบริษัทวิจัยตลาด “อิปซอส” ซึ่งสอบถามกลุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่ชาวอเมริกัน 2 หมื่นคน พบว่า 46% หรือเกือบครึ่ง รู้สึกโดดเดี่ยวตลอดเวลาหรือเป็นครั้งคราว

แต่ที่น่าสนใจคือ ผลการศึกษาอีกชิ้นในปีเดียวกัน ที่จัดทำโดย ศาสตราจารย์ ซิกัล บาร์เซด จากโรงเรียนธุรกิจวอร์ตัน และศาสตราจารย์ ฮาคาน ออซเชลิก จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย พบว่า “ความเหงา” มีผลกระทบขั้นรุนแรงต่อประสิทธิภาพในการทำงาน

ผลการศึกษาภาคสนามดังกล่าวที่ชื่อว่า "No Employee an Island: Workplace Loneliness and Job Performance" สำรวจความเห็นบรรดาลูกจ้าง 672 คนและหัวหน้างานของลูกจ้างเหล่านี้ 114 คน ไล่ตั้งแต่ตำแหน่งระดับล่างไปจนถึงระดับบริหารในสหรัฐ

  • 2 เหตุผลที่ความเหงากระทบงาน

บาร์เซด เคยให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นบีซีว่า “มี 2 สาเหตุ” ที่ความเหงาทำร้ายประสิทธิภาพในการทำงาน

สาเหตุแรกคือ คนที่รู้สึกเหงากว่า จะมุ่งมั่นทุ่มเทกับองค์กรของตัวเองน้อยลง หมายความว่า คนกลุ่มนี้ให้ความสนใจและมีแรงจูงใจในการทำงานหนัก “ลดลง” ซึ่งไปบั่นทอนประสิทธิภาพของเนื้องานด้วยนั่นเอง

อีกสาเหตุคือ “เพื่อนร่วมงาน” ผลสำรวจบอกว่า คนที่พบเจอเพื่อนในที่ทำงานเดียวกันประสบปัญหาจากความเหงา จะรู้สึกว่าเพื่อนร่วมงานกลุ่มนี้ “น่าคบหาน้อยกว่า”

157586997369

บาร์เซด อธิบายในบทวิเคราะห์ธุรกิจออนไลน์ “โนว์เลดจ์ แอท วอร์ตัน” (Knowledge@Wharton) ว่า เรื่องนี้ส่งผลเชิงลบต่อประสิทธิภาพในการทำงาน เนื่องจากการขาดการปฏิสัมพันธ์หมายความว่าพวกเขาจะได้ข้อมูลในบริษัทจากเพื่อนร่วมงานน้อยกว่า และหมายความว่าพนักงานที่รู้สึกโดดเดี่ยวมีแนวโน้มน้อยกว่าที่จะได้สิ่งที่ตัวเองต้องการจากบริษัท

ผลสำรวจนี้อาจขัดแย้งกับสิ่งที่คนส่วนใหญ่นึกถึงเกี่ยวกับความเหงา โดยคาดเดาจากมุมมองด้านวิวัฒนาการและแรงจูงใจที่ว่า คนที่รู้สึกเหงาจะเป็นฝ่ายเข้าหาคนอื่น ๆ

“แต่สิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับความโดดเดี่ยวคือ เมื่อผ่านจุดแรกเริ่มมาได้ มันจะเป็นสาเหตุให้เรารู้สึกหวาดระแวงมากขึ้น และปิดกั้นตัวเองมากขึ้น” บาร์เซดระบุ

ศาสตราจารย์จากวอร์ตัน เผยว่า ด้วยเหตุที่เพื่อนร่วมงานและประสิทธิภาพการทำงานมีความเกี่ยวพันกันอย่างมาก ในแง่ของการให้ความคิดเห็นและคำปรึกษา มันจึงสมเหตุสมผลที่คนเหงาในที่ทำงานจะได้รับผลกระทบเชิงลบ

ผลการศึกษาของซิกน่า-อิปซอส พบว่า ความเหงาในที่ทำงานมีผลกระทบต่อสุขภาพเช่นกัน เกือบ 9 ใน 10 (89%) ของกลุ่มตัวอย่างที่มีความสัมพันธ์ “เชิงบวก” กับเพื่อนร่วมงานจะบอกว่ามีสุขภาพดี เทียบกับ 2 ใน 3 (65%) ของกลุ่มที่มีความสัมพันธ์ “ปานกลางหรือแย่” กับเพื่อนร่วมงาน

  • วิธีช่วยคนเหงาในที่ทำงาน

บาร์เซดแนะนำว่า การช่วยพนักงานที่รู้สึกเหงานั้น อันดับแรก นายจ้างจะต้องให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมเกี่ยวกับอารมณ์ภายในบริษัท เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบลุกลามในที่ทำงาน

“มันเหมือนกับกระแสน้ำที่พัดพาเรือทุกลำ เพราะคุณไม่อาจพุ่งเป้าไปที่พนักงานที่รู้สึกเหงาเพียงคนเดียว คุณต้องทำเหมือนที่ทำกับทุกคน แสดงให้เห็นถึงความรัก ความห่วงใย ความเห็นอกเห็นใจและความอ่อนโยน”

ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ เตือนว่า ความผิดพลาดหนึ่งที่อาจมาจากนายจ้างคือ การคาดเดาไปเองว่า ความเหงาเป็นความผิดของตัวบุคคล ทั้งที่ควรพิจารณาว่าเรื่องนี้เป็นตัวสะท้อนปัญหาขององค์กรหรือไม่

“เมื่อดูเหมือนมีคนกำลังมีปัญหาที่เกิดจากความคิดภายในใจของตนเอง เราจะรู้สึกเหมือนว่า นั่นเป็นแค่ปัญหาของพวกเขา” บาร์เซดเผย และบอกว่า ตัวแปรหนึ่งที่ต้องพิจารณาคือ ให้ดูว่าวัฒนธรรมของบริษัทกีดกันคนเหล่านี้ออกไปโดยไม่ตั้งใจหรือไม่

157586997696

นอกจากนี้ อีกความผิดพลาดหนึ่งที่อาจเกิดจากนายจ้างคือ การให้พนักงานคนเหงามาทำงานร่วมกัน

ผลการศึกษาดังกล่าวยังพบว่า ข้อสันนิษฐานที่ว่า “คนเหงารักองค์กร”กลับยิ่งทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลง บาร์เซดอธิบายว่า คนที่รู้สึกโดดเดี่ยวสามารถสูญเสียทักษะการเข้าสังคมได้ และความเข้าใจผิดของคนส่วนใหญ่เกี่ยวกับคนกลุ่มนี้คือ พวกเขามีทักษะการเข้าสังคมแย่ลงอย่างสิ้นเชิง เมื่อรู้สึกเหงาเป็นบางสถานการณ์

“คุณสามารถรู้สึกเหงาในที่ทำงานได้ และจะไม่เหงาเมื่ออยู่ในชีวิตส่วนตัวหรือชีวิตรักของคุณ” บาร์เซดเผย “มันเกี่ยวกับสถานที่ที่ทำให้คุณรู้สึกโดดเดี่ยวและถูกปฏิเสธ ซึ่งจะทำให้คุณเริ่มปิดกั้นตัวเองและสูญเสียความสามารถในการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง”

อย่างไรก็ดี บาร์เซดบอกว่า นายจ้างทุกคนไม่ควรพยายามบังคับให้ลูกจ้างเข้าสังคม แต่ควรเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ด้วยการเข้าหาพนักงานที่แสดงข้อบ่งชี้ว่ารู้สึกโดดเดี่ยว ตัวอย่างเช่น ขอคำแนะนำจากพวกเขาในที่ทำงาน

“สิ่งนี้สามารถช่วยส่งเสริมความรู้สึกไว้วางใจและไม่แปลกแยกที่ทำงาน ด้วยการนำพวกเขาเข้ามาอยู่ในระบบงานของที่ทำงาน”