กสทช.เร่งปรับเกณฑ์ประมูล '5จี'

กสทช.เร่งปรับเกณฑ์ประมูล '5จี'

ค่ายมือถือย้ำชัด จะพร้อมใจยื่นซอง 2600 คลื่นเดียว

โอเปอเรเตอร์รวมตัวเปิดโต๊ะถกกสทช.ส่ง 2 ข้อเสนอการประมูลคลื่น 5จี ระบุเอกชนมีงบจำกัดขอเข้าประมูลเพียงคลื่น 2600 ย่านเดียว ส่วนคลื่นอื่นเก็บไว้รวมกับคลื่นดาวเทียมดีกว่า “ฐากร” เผยวันที่ 12 ธ.ค.สิ้นสุดรับฟังความเห็นจะเตรียมสรุปหลักเกณฑ์อีกครั้ง ก่อนชงเข้าบอร์ดอนุมัติวันที่ 24 ธ.ค.นี้ ส่วนเรื่องคณะกรรมการ 5จีแห่งชาติ ชี้ผ่านขั้นตอนวุฒิาสภาฯแล้ว เตรียมส่งไม้ต่อดีอีเอสนำเรื่องเข้าที่ประชุมครม.ต่อไป

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  เปิดเผยว่า หลังจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สําหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 700, 1800, 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 ราย ได้แก่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ได้เข้าพบเพื่อหารืออย่างไม่เป็นทางการ ถึงหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ เพื่อขอให้สำนักงานกสทช.ปรับหลักเกณฑ์ โดยมีข้อเสนอ2 ข้อ ประกอบด้วย

1.ขอเสนอให้สำนักงานกสทช.จัดการประมูลเฉพาะคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์เพียงย่านเดียว ในรูปแบบการประมูลปกติ โดยให้นำคลื่นความถี่ย่าน 700, 1800 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ ออกมาประมูลครั้งต่อไป เนื่องจากปัจจุบันโอเปอเรเตอร์มีเงินลงทุนอย่างจำกัด และจะต้องนำไปลงทุนด้านการวางโครงข่ายด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้ 5จี ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง และ 2.ขอความชัดเจนเรื่องการจัดการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่า น่าจะมีความชัดเจนในปี 2564 และหากจะจัดการประมูลล่วงหน้าน่าจะเกิดขึ้นในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2563 โดยคลื่นความถี่ย่านดังกล่าวจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานกับบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ในเดือนกันยายน 2564

“หลังจากสิ้นสุดการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศดังกล่าวในวันที่ 12 ธันวาคม 2562 โอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 รายจะส่งหนังสือเสนอความคิดเห็นอย่างเป็นทางการถึง กสทช. อีกครั้ง ทั้งนี้ คาดว่าภายในวันที่ 18 ธันวาคม 2562 น่าจะได้ข้อสรุปแนวทางการประมูลคลื่นความถี่ที่ชัดเจน และจะรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเข้าที่ประชุม กสทช. ในวันที่ 24 ธันวาคม 2562 ต่อไป” นายฐากร กล่าว

อ่านข่าว-กสทช.เปิดฉากเฮียริ่ง 5 จี วอนเอกชน ขอเรื่องที่เป็นไปได้

นอกจากนี้ เขา กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5จีระดับชาติในทุกภาคส่วน ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสารและการโทรคมนาคมวุฒิสภา ถึงการจัดตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันถึงวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อต่อยอดการใช้งาน 5จี โดยยืนยันว่า คณะกรรมการชุดดังกล่าวไม่ได้ก้าวล่วงอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการประมูลคลื่นความถี่ และ กสทช. เป็นผู้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวเอง

“จากนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ที่ต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งส่วนตัวไม่สามารถตอบได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคณะกรรมการขับเคลื่อน 5จีระดับชาติในทุกภาคส่วนจะเกิดหรือไม่เกิดขึ้น ก็ไม่กระทบต่อการประมูลคลื่นความถี่” นายฐากร กล่าว

นายฐากร กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าการลงนามความร่วมมือระหว่าง สำนักงาน กสทช. และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ในการวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับระบบ 5จี ในการใช้บริการเชิงพาณิชย์ นั้น อยู่ระหว่างการกำหนดวันเวลาที่ชัดเจน ทั้งนี้ การลงนามความร่วมมือดังกล่าว เพื่อให้โอเปอเรเตอร์ที่ชนะการประมูล 5จี สามารถวางระบบ 5จี ได้ทันทีในเดือนมีนาคม 2563 จากนั้นคาดว่า จะใช้เวลา 2-3 เดือน จึงสามารถเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้