‘พลังประชารัฐ’ ยันไม่ลืมสัญญาค่าแรง425บ.

‘พลังประชารัฐ’ ยันไม่ลืมสัญญาค่าแรง425บ.

โฆษก “พลังประชารัฐ” ไม่ลืมสัญญาหาเสียงขึ้นค่าแรง 425 บาทต่อวัน ชี้ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป วางฐานให้มั่นคง ระบุขึ้นค่าแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ ย้อนยุค “ยิ่งลักษณ์” ขึ้นพรวด 300 ทำเอสเอ็มอีพัง

นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการค่าจ้างมีมติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-6 บาททั่วประเทศให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.2563 ว่า การปรับขึ้นค่าแรงเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ ถึงจะขึ้นในอัตราที่ไม่สูงมากนัก แต่จะเป็นผลดีให้เกิดการใช้จ่ายในระบบมากขึ้น เป็นการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนที่ตรงจุด และเป็นรูปธรรมที่สุด หรือที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยกินได้” สอดรับไปกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆของรัฐบาลที่ทยอยออกมาก่อนหน้านี้

ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านกล่าวหาว่ารัฐบาลหลอกลวง โดยช่วงหาเสียงประกาศจะขึ้นค่าแรง 425 บาทนั้น รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า การจะปรับค่าแรงขึ้นถึง 425 บาทนั้น เป็นนโยบายที่พรรคพลังประชารัฐประกาศไว้ตอนหาเสียง ซึ่งได้ยืนยันมาตลอดว่าจะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เมื่อเข้ามาเป็นแกนนำรัฐบาลแล้ว

“เราไม่ได้ลืมสัญญาประชาคม แต่ต้องพิจารณาบริบทต่างๆ ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมของปัจจัยทางเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการ และแรงงาน ที่สำคัญต้องให้แรงานทุกคนได้ประโยชน์จากนโยบายอย่างทั่วถึง เพราะหากปรับขึ้นในอัตราที่สูงในทันทีหรือไม่รอบคอบ ก็จะมีผู้ประกอบการที่ไม่สามารถปฏิบัติตามได้ผลเสียก็จะตกอยู่ที่แรงงานเอง”

รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวต่อว่า ขอให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานและประชาชนเข้าใจว่ารัฐบาลพยายามสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีรายได้มากขึ้นอย่างแน่นอน ในส่วนของแรงงาน อยากให้มุ่งเน้นพัฒนาฝีมือเพิ่มขึ้น อัตราค่าแรงก็จะสอดรับเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งมีหลายองค์กรที่พัฒนาวิชาชีพให้เป็นมืออาชีพ เช่น สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นต้น ซึ่งการที่แรงงานเข้ารับการอบรม ฝึกทักษะแล้วได้รับใบประกาศนียบัตรรับรอง สามารถนำไปสมัครงานที่มีรายได้สูงขึ้นหรือขอเพิ่มค่าแรงตามคุณวุฒิวิชาชีพได้

"พปชร.เรียนรู้จากบทเรียนในสมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ประกาศขึ้นค่าแรง 300 บาทแล้ว ซึ่งทำให้อัตราค่าแรงขึ้นต่ำทั่วประเทศเพิ่มขึ้นถึง 70% ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคธุรกิจขนาดเล็ก กลุ่มเอสเอ็มอีและภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก และแรงงานยังไม่ทันปรับตัวให้มีศักยภาพเพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน”

ทั้งนี้หากขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดด จะทำให้ผู้ประกอบการยิ่งต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น และขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศในการส่งออกลดลง การจ้างงานในบริษัทเล็กๆ ลดลง ส่งผลให้นักลงทุนย้ายฐานการผลิตไปในประเทศที่มีค่าแรงที่ต่ำกว่า ดังนั้นพรรคพลังประชารัฐจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยหลายด้านในการขึ้นค่าแรง

อ่านข่าว-'อ้น' ยันขึ้นค่าแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ