Corporate Spin-off ยูนิคอร์นพันธุ์ใหม่

Corporate Spin-off ยูนิคอร์นพันธุ์ใหม่

เร็วๆนี้ ข่าวคราวที่น่าสนใจและเป็นที่พูดถึงกันมากในวงการสตาร์ทอัพเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็คือการปรากฎตัวขึ้นของยูนิคอร์นรายที่ 5 ในอินโดนีเซีย

ซึ่งได้รับการยืนยันจากทางภาครัฐที่ดูแลกระทรวงดิจิทัลของอินโดนีเซียแล้วว่า  ยูนิคอร์นรายใหม่ล่าสุดของประเทศที่มีมูลค่าบริษัทแตะพันล้านเหรียญสหรัฐฯ แล้วคือ สตาร์ทอัพ Fintech ที่ชื่อว่า OVO เป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินอิเลกทรอนิกส์ (Mobile Payment) ที่เป็นคู่แข่งสำคัญของ    Go Pay   ทั้งหมดก็เป็นไปตามที่ภาครัฐของทางอินโดนีเซียเองที่ได้คาดการณ์ไว้ว่าภายในปี  2019 อินโดนีเซียจะต้องมียูนิคอร์นให้ได้ 5 บริษัท ซึ่งก็เป็นไปตามนั้นจริง ๆ นั่นหมายความว่าอินโดนีเซียกำลังจะแซงหน้าสิงคโปร์ไปแล้วด้วยจำนวนของยูนิคอร์น หลังจากที่ประสบความสำเร็จจาก Go Jek, Traveloka, Tokopedia, และ Bukalapak 

แต่ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามองไม่ได้อยู่เพียงเท่านี้ ความน่าสนใจของยูนิคอร์นตัวใหม่ล่าสุดนี้ก็คือ OVO เป็นบริษัท Mobile Payment ที่ถูกก่อตั้งและฟูมฟักโดยองค์กรยักษ์ใหญ่ในสายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของอินโดนีเซีย Lippo Group  แต่หลังจากที่ก่อตั้งขึ้นมาแล้วในปี 2016  OVO เองได้ระดมทุนและร่วมเป็นพันธมิตรกับ Grab และ Tokopedia ทำให้การให้บริการชำระเงินอิเลกทรอนิกส์ของ OVO ขยายตัวอย่างรวดเร็วและครอบคลุมแทบจะทุกธุรกิจตั้งแต่บริการขนส่ง อีคอมเมิร์ซ ไปจนถึงการสั่งอาหาร กลายเป็น Payment services ที่เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของ Go Pay (Go Jek) และ DANA ( Alibaba) ในอินโดนีเซีย  

เส้นทางการเติบโตของ  OVO น่าสนใจตรงที่จากจุดเล็ก ๆ ของการเป็นหน่วยธุรกิจ Payment services  ของ Lippo Group และให้บริการ Payment Solutions กับธุรกิจในเครือ เช่น ที่จอดรถ อีคอมเมิร์ซ และ Mobile Payment OVO ได้ ก้าวไปเป็นยูนิคอร์น ด้วยเส้นทางการสร้างธุรกิจแบสตาร์ทอัพนั่นคือเปิดระดมทุนและร่วมเป็นพันธมิตรกับทั้ง Grab และ Tokopedia  ถ้าจะมองหมากเกมนี้ในเชิงลึก แนวทางนี้อาจเป็นก้าวใหม่ที่องค์กรยักษ์ใหญ่จะเลือกเดินในอนาคต  แทนที่จะสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาเพื่อ “Own” แต่วิถีของการเติบโตที่ดีที่สุดและเร็วที่สุดอาจจะเป็นการ “Spin-off” และพัฒนาธุรกิจไปในวิถีทางเดียวกันกับการสร้างธุรกิจของสตาร์ทอัพ  นั่นคือ สร้าง-บ่มเพาะ-ระดมทุน-ขยายตลาดอย่างรวดเร็ว (Scale)

ถ้ามองไปอีกฝั่งฟากของโลก ในสหรัฐฯ เราก็ได้เห็นสิ่งที่คล้ายคลึงกัน สตาร์ทอัพสาย Biotech ที่ชื่อว่า Springworks Therapeutics ที่เพิ่งประสบความสำเร็จในการระดมทุนและจดทะเบียนเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ก็เป็นสตาร์ทอัพที่เกิดจาก Corporate Spin-off  เช่นเดียวกัน โดยบริษัทยายักษ์ใหญ่อย่าง Pfizer ได้ Spin-off ธุรกิจ Biotech กลุ่มนี้ออกมาประมาณปี 2017 โดยปล่อยให้ทำธุรกิจได้แบบอิสระ อีกทั้งยังเปิดให้ระดมทุนจาก VC และ คู่แข่งในอุตสาหกรรมได้ โดย Pfizer เองก็ถือว่าเป็นเพียงแค่ผู้ถือหุ้นรายหนึ่งเท่านั้น โดยสตาร์ทอัพรายนี้ได้ระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อพัฒนายาหลายตัวต่อหลังจากที่ได้ spin-off ออกมาจาก Pfizer และที่น่าสนใจมากก็คือ Pfizer เองก็ไม่ได้เป็น Lead Investor ในการระดมทุนของสตาร์ทอัพรายนี้ตั้งแต่วันแรกๆที่แยกตัวออกมาจนถึงวันที่เข้า IPO 

สิ่งที่ต้องคิดต่อในวันนี้ก็คือ โมเดลของการ Spin-off ธุรกิจดิจิทัลหรือธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม จะกลายเป็นวิถีใหม่ของการเติบโตทางธุรกิจสำหรับองค์กรใหญ่หรือไม่ ฝั่งบ้านเราเองก็ได้เห็นองค์กรใหญ่สายการเงินออกมาประกาศตัวพร้อมที่จะสร้างยูนิคอร์นจากการแยกบางธุรกิจในกลุ่มดิจิทัลออกมาจากฝั่งธุรกิจเดิมและปล่อยให้ธุรกิจใหม่เดินด้วยตัวเอง โดยสามารถร่วมมือเป็นพันธมิตรหรือระดมทุนจากใครก็ได้ 

เมื่อธุรกิจที่กำลังถูก Disrupt หันมาเล่นเกมใหม่คือ Disrupt ตัวเองด้วยการแยกธุรกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมออกมาจากพันธนาการเชิงโครงสร้างขององค์กรเดิม นี่อาจเป็นนิมิตหมายใหม่ที่ทำให้หลายคนที่เคยสบประมาทว่าทำไมบ้านเราไม่มียูนิคอร์น เสียที ต้องเปลี่ยนความคิด แต่ถึงแม้สิ่งนี้จะเป็น โอกาสและแนวทางใหม่ แต่โลกแห่งความเป็นจริงมักจะยากและมีอุปสรรคเสมอ จากการพูดคุยกับ VC ต่างชาติหลายรายที่คร่ำหวอดในวงการสตาร์ทอัพ และได้สัมผัสกับผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จมาแล้วมากมาย หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า โมเดล Corporate Spin-off จะเวิร์คหรือไม่เวิร์คอยู่ที่ปัจจัยหลายอย่าง

การที่องค์กรใหญ่มีทรัพยากรมากพอที่จะแยกธุรกิจใหม่ออกมารันแบบสตาร์ทอัพ ข้อได้เปรียบที่มีในเชิงธุรกิจอาจจะต้องนำมาประเมินกับความเสียเปรียบในบางมุมเช่น ข้อแรก Ownership หรือเซนส์ของความเป็นเจ้าของ จะทำอย่างไรให้ Founder ของธุรกิจใหม่มีจิตวิญญาณของความเป็นเจ้าของเช่นเดียวกันกับสตาร์ทอัพที่มีความเป็นผู้ประกอบการอยู่ในตัวและดิ้นรนมากพอที่จะทำทุกวิถีทางให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ

ข้อสอง Autonomy  ความอิสระในการตัดสินใจของทีม จะสลัดโครงสร้างการบริหารหรือวิถีเดิม ๆ ขององค์กรได้แบบเด็ดขาดหรือไม่ เพราะถ้าในที่สุดสตาร์ทอัพที่เป็น Corporate Spin-off  ยังยึดติดกับภาพและมี Mindset ของการเป็น ผู้บริหารมากกว่าการเป็น ผู้ประกอบการอุปสรรคระหว่างทางก็อาจจะทำให้เส้นทางการสร้างธุรกิจสะดุดลงและขาดแรงผลักดันที่จะสู้เพื่อให้ไปได้สุดทาง สุดท้าย ท้ายสุดการควานหา Role Model หรือ Talents ที่มีความเป็นผู้ประกอบการอาจจะยากกว่าการหาโมเดลธุรกิจใหม่ เสียด้วยซ้ำ