“เอสซีจี ซีเมนต์”ทรานส์ฟอร์ม จากคนขายปูน สู่ “เอสเคิร์ฟใหม่”

“เอสซีจี ซีเมนต์”ทรานส์ฟอร์ม จากคนขายปูน สู่ “เอสเคิร์ฟใหม่”

เมื่อธุรกิจปูนซีเมนต์ เสาแรกหล่อเลี้ยงเอสซีจี เติบโตมากว่า 100 ปีกลายเป็นธุรกิจที่เริ่มขัดแย้งกับเทรนด์โลก ทรัพยากรจำกัด เศรษฐกิจโตช้า บ้านใหม่ลดลง จึงต้องปฏิรูปจากคนขายปูน สู่“ธุรกิจบริการ"ค้าปลีก -โลจิสติิกส์ เชื่อมตลาดวัสดุก่อสร้าง1.4ล้านล้าน

เอสซีจีซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง (CBM-Cement Building Materials) ถือเป็นกลุ่มธุรกิจแรกสุดที่สร้างการเติบโตให้กับเครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) ผู้ดำเนินธุรกิจหลากหลาย (Conglomerates) ที่ใหญ่ที่สุดในไทย มีอายุกว่า 106 ปี 

โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ภาพรวมยอดขายเอสซีจี อยู่ที่ 331,803 ล้านบาท ติดลบ 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในจำนวนนี้เป็นยอดขายของเอสซีจีซีเมนต์ฯ 45,317 ล้านบาท ลดลง 2% มีสัดส่วนยอดขาย 39% ของรายได้รวมเครือ เป็นอันดับ 2 รองจากธุรกิจเคมีคอลส์ ที่มีสัดส่วน 41% 

อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนดูยอดขายของธุรกิจซีเมนต์ฯ พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2557 -2561) ยอดขายโดยเฉลี่ยลดลงต่อเนื่อง จากปี 2557 ยอดขายอยู่ที่ 185,423ล้านบาท ปี 2558 มียอดขาย178,988 ล้านบาท ปี 2559มียอดขาย 170,944 ล้านบาท ปี 2560 มียอดขาย175,255ล้านบาท และปี 2561 มียอดขาย182,952ล้านบาท แม้จะมียอดขายเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า แต่ยังมีมูลค่าไม่สูงนักเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยยอดขายในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา 

ยิ่งไปกว่านั้น ! กำไรก็ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปี จากปี 2557 มีกำไร 13,180 ล้านบาท ขณะที่ปี 2561 มีกำไร 5,984 ล้านบาท 

157579065949

สถานการณ์ของยอดขายและกำไรที่เติบโตไม่หวือหวา กลายเป็น “บทสะท้อนว่าธุรกิจนี้กำลังถูก ดิสรัป” (Disrupt) จากการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล ยอดขายที่ลดลงในปีนี้ ส่วนหนึ่งยังเกิดจากความผันผวนของเศรษฐกิจภายนอกและภายในประเทศ รวมไปถึงผลกระทบจากน้ำท่วมทำให้ความต้องการปูนซีเมนต์ลดลง 1% จากปกติที่เติบโตเฉลี่ยจากราคาที่เพิ่มขึ้น 3-4% ต่อปี 

เช่นเดียวกันความต้องการคอนกรีตผสมเสร็จลดลง 7% รวมไปถึงสินค้าของตกแต่งบ้านทั้งผนัง ฝ้า เพดาน ลดลง 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐานจะยังคงเป็น “แรงขับเคลื่อน” ทำให้ความต้องการในประเทศเติบโต สวนทางกับตลาดการสร้างบ้านยังทรงตัว กลายเป็น เหตุผลสำคัญทำให้ ธุรกิจซีเมนต์ฯ ต้อง ทรานสฟอร์ม” (Transform) ธุรกิจให้อยู่รอด สู่ ธุรกิจบริการค้าปลีก และกระจายสินค้า (Logistics) 

นิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี เปิดเผยในงานแสดงวิสัยทัศน์กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจปี2020 ซึ่งเป็นรอยต่อของการปรับเปลี่ยนธุรกิจที่เติบโตมาร้อยกว่าปี จากภาคการผลิตไปสู่นิวเอสเคิร์ฟ (New S-Curve) ในภาคบริการค้าปลีก และการกระจายสินค้า ที่จะทำให้เข้าถึงในตลาดวัสดุก่อสร้างที่มีมูลค่าสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งหรือสัดส่วน 50% เป็นตลาดก่อสร้างที่อยู่อาศัย ทั้งแนวราบและแนวสูง มูลค่า 7 แสนล้านบาท และอีกสัดส่วน 30% คือกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน สัดส่วนที่เหลือ 20% เป็นกลุ่มตลาดคอมเมอร์เชียล กลุ่มค้าปลีก และกลุ่มธุรกิจ (B2B)

157579061761

เขายังประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าว่า จะไม่เติบโตก้าวกระโดดอีกต่อไป จะเห็นได้จากอัตราการเติบโตสร้างบ้านใหม่เพียง 2-3% ต่อปี ไม่ตื่นเต้นเมื่อเทียบกับบ้านรีโนเวทใหม่ที่มีมูลค่าตลาดเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับตลาดสินค้าอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน และที่อยู่อาศัย มีมูลค่าเติบโตสูงจาก 7.5 แสนล้านบาทในปี 2561 คาดว่าจะมีมูลค่า 1 ล้านล้านบาทในปี 2566 ตลาดเหล่านี้เป็นน่านน้ำสีคราม (Blue Ocean) ในกการสร้างนิวเอสเคิร์ฟให้กับธุรกิจ เอสซีจีซีเมนต์ฯ

ธุรกิจไม่รอจังหวะเศรษฐกิจดีหรือไม่ดีเพราะทิศทางผันผวนเช่นนี้มาตลอดเดี๋ยวดีและไม่ดี ดังนั้นจึงไม่นำธุรกิจไปอยู่ในจุดที่ควบคุมไม่ได้ (Uncontrollable) เราต้องควบคุมชะตาชีวิตของเรา ทำในสิ่งที่ควบคุมได้ คือการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ตอบโจทย์ที่ลูกค้าต้องการแน่นอน เช่น นวัตกรรม ไม่ใช่รอตลาดปัจจุบันที่เติบโตได้แค่ 2-3%ไม่ตื่นเต้น หันไปทำในสิ่งที่ตื่นเต้นกว่า ซึ่งไม่ง่าย เพราะต้องผสมผสาน (Integrate)ทุกอย่างเข้าด้วยกัน”

นี่จึงเป็นที่มาของการปรับเปลี่ยนหัวเรือธุรกิจ เพิ่มน้ำหนักการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา(R&D) มากที่สุด จากปี2561 มีเพียง 1%ของยอดขาย ในปี 2562 เพิ่มเป็น 1.8% ของยอดขาย และในปี 2563 เพิ่มเป็น 2% ของยอดขาย เป็นการลงทุนที่แสวงหาโอกาสเติบโตใหม่จากผู้ผลิตปูนซีเมนต์ ไปสู่ใน Blue Ocean โดยเฉพาะตลาดค้าปลีกและการบริการ ที่มีอยู่ในกลุ่มธุรกิจเป็นนิวเอสเคิร์ฟ โมเดลธุรกิจใหม่ที่มีอัตราการเติบโต 70-80% บางกลุ่มธุรกิจเติบโตมากกว่า 100%

โดยที่ผ่านมาได้เริ่มต้นพัฒนาธุรกิจใหม่ผ่านหลากหลายรูปแบบทั้งวิจัย ร่วมมือกับสตาร์ทอัพ และผนึกกับพันธมิตร เป้าหมายคือการทรานสฟอร์มเพิ่มสัดส่วนการเติบโตในกลุ่มธุรกิจใหม่ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า

“โอกาสในตลาดใหม่ๆ ความต้องการใหม่ๆ ที่เชื่อมต่อกับคนทั้งห่วงโซ่ โดยเฉพาะตลาดรีโนเวท จากปีที่มีการสร้างบ้านบูมมาก ในยุคกว่า 30 ปีที่ผ่านมาการก่อสร้างบ้านใหม่เติบโต 30% ซึ่งมีจำนวนบ้านอายุเกินกว่า 30 ปีเพิ่มขึ้นถึง10% นี่เป็นตลาดรีโนเวทบ้านที่น่าจับตา เช่นเดียวกับในยุโรป และญี่ปุ่น ตลาดรีโนเวทมีสัดส่วนสูงกว่าบ้านใหม่ รอการสร้างบ้านใหม่ไม่ได้ เพราะประชากรไม่เพิ่มขึ้น บ้านขนาดเล็กลง ” เขากล่าว

  • แกะเพนพอยท์ปั้น "นิวเอสเคิร์ฟ"

ก่อนออกแบบโมเดลธุรกิจจะต้องแก้โจทย์จากแนวคิด “ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง” ผลรีเสิร์ชยืนยันปัญหาของคนมีบ้าน เจอเรื่องเดิมซ้ำๆ วนไป โดยที่ยังไม่มีธุรกิจเข้าไปจัดการ จึงยังคงเป็นปัญหากวนใจ (Pain Point)ผู้บริโภคมี 3 เรื่องคือ

1.ช่างรับเหมาขาดแคลน เบี้ยวงาน งานไม่มีคุณภาพ ไม่มีเวลาไปดูแลการก่อสร้าง แบบไม่ตรงกับความต้องการเกิดความสูญเสียระหว่างก่อสร้าง 15-20%

2.ปัญหาด้านที่อยู่อาศัย เช่น บ้านร้อน ฝุ่นเยอะ ไม่ปลอดภัย และอยากปรับเปลี่ยนบ้านไปสู่บ้านอัจฉริยะ (Smart Home)ให้ผู้สูงวัยอยู่ในบ้านได้ และ

3.ลูกค้าไม่มีความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และต้องการการบริการกระจายสินค้าที่สะดวก

นี่คือปัญหาของคนมีบ้านในปัจจุบันที่ยังไม่มีใครเข้าไปจัดการการบริการแก้ไขปัญหาได้อย่างสมบูรณ์

“แนวคิดลูกค้าเป็นศูนย์กลางจึงต้องทำในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ นี่คือความท้าทายประสบการณ์ลูกค้าเดิมๆ ที่เห็นว่าเอสซีจี ทำสินค้ามีคุณภาพ ส่งออกไปในร้านค้าวัสดุก่อสร้าง โฮมมาร์ท แต่ปัญหาคือใครดีไซน์ ช่างหายาก เบี้ยวงาน เจ้าของบ้านไม่มีเวลา และไม่มีองค์ความรู้การเลือกซื้อสินค้า ปัญหาใหญ่ของคนทำบ้าน”

จากมองเห็นปัญหา จึงถูกแปลงมาเป็นธุรกิจใหม่ที่สร้างการเติบโต จากการเชื่อมโยงสินค้าที่ผลิตไปสู่ภาคบริการ ประกอบด้วย

1.ธุรกิจก่อสร้าง (Construction Service) เชื่อมต่อการบริการกับช่าง สถาปนิก ผู้รับเหมา และเจ้าของบ้าน เพื่อลดการสูญเสียจากการสร้างบ้าน เช่น การเลือกแบบผิด แบบไม่สอดคล้องกับการทำงานช่างรวมถึงช่างทิ้งงาน ถือเป็นอุปสรรค สร้างความลำบากใจให้กับผู้บริโภคเกิดการสูญเสีย 15-20 % จากตลาดรวมก่อสร้างที่อยู่อาศัยมูลค่า 7 แสนล้านบาท หากลดการสูญเสียให้เหลือเพียง 5%ก็เท่ากับว่ากลุ่มธุรกิจกวาดรายได้จากการบริการที่ลดการสูญเสีย

2.ธุรกิจการบริการด้านที่อยู่อาศัย (Living Solution) นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปช่วยซ่อมแซมบ้าน โดยทำหน้าที่เชื่อมต่อการจัดหาวัสดุและการบริการ เช่น ปัญหาบ้านร้อน การประหยัดพลังงาน และความปลอดภัยการอยู่อาศัย รวมไปถึงการยกระดับพัฒนาบ้านไปสู่บ้านอัจฉริยะ (Smart Home) ตลอดจนการซ่อมแซมบ้าน

 3.ธุรกิจค้าปลีก (Active OMNI-Channel) ร้านค้าปลีกวัสดุก่อสร้างที่เชื่อมออฟไลน์และออนไลน์ โดยประสานงานร้านค้าปลีกในเครือและจัดส่งสินค้าวัสดุก่อสร้างกว่า 840 แห่งทั่วประเทศ จากผู้ผลิตสินค้าเอสซีจีซีเมนต์ฯ มีสัดส่วนสินค้าเพียง 10%ในตลาดวัสดุก่อสร้างและสินค้าภายในบ้านที่มีจำนวนมากมาย จึงจะก้าวเป็นผู้สร้างเครือข่าย จัดหาสินค้าหลากหลายจากพันธมิตรธุรกิจ เพื่อตอบโจทย์ ”เซอร์วิส โซลูชั่น” เช่น โซลาร์ เซลล์ เป็นสินค้าของพันธมิตรที่เพิ่มการบริการได้ ที่จะเป็นผู้จัดหาเชื่อมการบริการผ่านแพลตฟอร์ม “Active OMNI-Channel”

“จากสินค้าอุตสาหกรรมขายผ่านดีลเลอร์มีการเชื่อมต่อทุกบริการครบวงจร หรือ “เซอร์วิสโซลูชั่น” จุดเปลี่ยนทรานสฟอร์มธุรกิจ 3 ธุรกิจ นิวเอสเคิร์ฟ โดยการเปลี่ยนจากผู้ผลิตมาเป็นการบริการและจากขายผ่านค้าปลีกและมีหน้าร้านมาเป็นแอคทีฟ ออมนิ ชาแนล ที่เชื่อมออฟไลน์กับออนไลน์มาบริการ และเร็วๆ นี้จะนำเทคโนโลยีประมวลผล เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เลือกสินค้าจากกว่า 1 หมื่นเอสเคยูได้ตรงตามลูกค้ามองหาภายในไม่กี่นาที”

นี่คือการบริการที่แก้ไขปัญหาลูกค้าโดยการบูรณาการระบบการผลิตจนถึงการบริการ โดยการส่งมอบนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการปฏิรูปการทำงานใหม่ ทั้งองคาพยพ เพื่อตอบโจทย์กลุ่มธุรกิจซีเมนต์ฯ

“หากตอบโจทย์ลูกค้าได้สำเร็จ จะเป็นการปฏิรูป ทรานสฟอร์มธุรกิจจากผู้ผลิตอย่างเดียว เป็นผู้บริการตอบโจทย์ลูกค้า ผ่าน Active OMNI Channel ตั้งแต่การจำหน่าย บริการจัดหาสินค้า รวมถึงให้คำปรึกษาแก้โจทย์ก่อสร้างให้กับเจ้าของบ้านและช่าง ธุรกิจก็จะอยู่กับลูกค้าอย่างน้อยอีกร้อยปีข้างหน้าเหมือนที่เอสซีจีอยู่มาแล้วร้อยปี” เขาย้ำถึงการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจเพื่อเป้าหมายระยะยาว

ขณะที่นิวเอสเคิร์ฟตัวใหม่ของ เอสซีจีซีเมนต์ฯ คือการผนึกกับดีลเลอร์ค้าปลีก โดยในปีที่ผ่านมาได้ร่วมทุนกับพันธมิตรธุรกิจ บุญถาวรและใช้เครือข่ายเอสซีจีโฮม ตลอดจนเอสซีจี โกลบอล ที่เอสซีจีเข้าไปร่วมทุนปัจจุบันมี 63 สาขา รวมไปถึงเอสซีจี เอ็กซพีเรียนซ์ เป็นช่องทางค้าปลีกที่มีกว่า 840 แห่ง แห่งทั่วประเทศเข้าถึงลูกค้า รวมถึงระบบการกระจายสินค้าที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ มีน้ำหนักมาก (Heavy weight logistics)ส่วนกลุ่มขนส่งสินค้าน้ำหนักเบา (Express)โดยการร่วมทุนกับธุรกิจโลจิสติกส์เพื่อต่อยอดการบริหารจัดการขนส่ง ให้ครบวงจร เช่นก่อนหน้านี้ร่วมทุนกับ นิชิเร (Nichirei)จากประเทศญี่ปุ่น

“รุกธุรกิจค้าปลีกโดยใช้จุดแข็งวัสดุก่อสร้างกว่า 840 แห่งทั่วประเทศ รวมไปถึงมีการพัฒนาเครือข่ายช่างที่ผ่านการอบรมด้านการติดตั้ง รวมระบบการขนส่งสินค้าทำให้CBMเป็นกลุ่มธุรกิจที่รุกไปครบวงจรด้านก่อสร้างทั้งด้านสินค้า บริการ เทคโนโลยี”

ขณะที่กลุ่มประเทศอาเซียน เอสซีจีซีเมนต์ฯ แสวงหาช่องทางผนึกพันธมิตรค้าปลีกในท้องถิ่นเข้าไปสร้างเครือข่ายร้านค้า ใน 4 ประเทศ ได้แก่ ในอินโดนีเซีย เข้าไปร่วมทุนถือหุ้นสัดส่วน 29% ใน PT Catur Sentosa Adiprana Tbk (CSA)ธุรกิจที่บริการค้าปลีก Mitra 10 มีเครือข่ายร้านค้าปลีกกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศอินโดนีเซีย เช่นเดียวกันกับตลาดเมียนมา เข้าไปจับมือกับ Pro1 Home Center Global, ในกัมพูชา จะปรับอุตสาหกรรมเป็นร้านค้าปลีก และในเวียดนามจับมือกับV-Homeและ@Homeเพื่อขยายสาขาร้านค้าปลีก

  • เปิดตัว10โมดูลธุรกิจสู่ตลาด

ชนะ ภูมี Vice President–Cement and Construction Solution Business ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวถึงกลยุทธ์ของพัฒนาธุรกิจใหม่มุ่งเน้นการเข้าไปช่วยปลดล็อกปัญหาในการสร้างบ้าน การอยู่อาศัย และการเข้าถึงสินค้า เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ที่ดีของผู้อยู่อาศัย เป็น“เรือธง” ที่เน้นการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงสภาวะแวดล้อมธุรกิจ (Ecosystem) ของผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่อยู่อาศัยและก่อสร้างทั้งห่วงโซ่มีการบริการที่เข้มแข็งพร้อมกันกับคำนึงถึงความยั่งยืน ด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ลดการสูญเสีย ใช้ประโยชน์วัสดุคุ้มค่า ทำให้ผู้เกี่ยวข้องได้ประโยชน์ (Passion for Better Green Society)

“เศรษฐกิจในบ้านเราหากจะหวังเติบโตแบบก้าวกระโดดนั้นไม่มีอีกแล้ว ทำอย่างไรที่ได้ประโยชน์ในภาพรวมทั้งประเทศ ทั้งช่างก่อสร้าง ผู้รับเหมา และธุรกิจเอสซีจีเติบโตไปพร้อมกัน ต้องใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน คู่ขนานกับคอนกรีต ซีเมนต์ โมเดลธุรกิจใหม่แก้ปัญหาการก่อสร้างและและที่อยู่อาศัยบ้านครบวงจร (Solution For Life)

จากธุรกิจคอนกรีตจนมีพัฒนาการอยู่มากว่า 67 ปี จากมีบทบาทในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ก็ยังเดินหน้าต่อไป ไปพร้อมกันกับการนำเสนอโมเดลธุรกิจใหม่ โดยการนำความรู้และประสบการณ์ในวงการก่อสร้าง ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เกี่ยวข้อง ทั้งช่าง สถาปนิก วิศวกรและนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ คือการทำงานข้ามกลุ่มธุรกิจเพื่อเข้าใจความซับซ้อนของปัญหาที่เรียกว่า Scrum (สกรัม) ในรูปแบบAgile (อไจล์) ผ่านกระบวนการคลี่ปัญหาและนำมาสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ (Design Thinking)

ผลลัพธ์คือการพัฒนาโมดูลเล็กๆ ในองค์กรมากกว่า 50 โมดูลธุรกิจ แต่ดึงมานำเสนอตลาดเริ่มต้นที่ 10 โมดูลเพื่อทดสอบตลาด และเป็นจุดเริ่มต้นของการพูดคุยกับพันธมิตรที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่เพื่อตอบโจทย์ความ้องการของกลุ่มลูกค้าทั้ง B2B (กลุ่มธุรกิจ) และ B2C (ผู้บริโภค) เช่น การเข้าไปหารือกับช่างเพื่อยกระดับทักษะการปูกระเบื้องที่แตกต่างจากเดิมทำให้งานเสร็จเร็วขึ้น, รวมไปถึงการแก้ปัญหาโพลงในบ้านที่เป็นต้นแบบของการมีสัตว์เลื้อยคลานโผล่ในบ้าน

ธุรกิจใหม่จึงประกอบด้วย การทำงานกับ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสร้างเครือข่ายที่ตอบโจทย์ความต้องการในอุตสาหกรรม เปลี่ยนการสูญเสียให้เป็นความมั่งคั่ง (Wasteเป็นWealth)และ ใช้หลัก Circular Economy สร้างสังคมเศรษฐกิจสีเขียว

“ธุรกิจใหม่ที่เป็นนิวเอสเคิร์ฟ นิวบิสโมเดล ที่เรียกว่าบริการตอบโจทย์การก่อสร้างครบวงจร (Construction solution) ไม่ใช่เอาคอนกรีตไปต่อยอด แต่ช่วยแก้ไขปัญหาลดการสูญเสียจากการก่อสร้าง 15-20% บ้าน 1 หลังราคา 1 ล้านบาท เจ้าของบ้านได้ของเพียง 8 แสนบาท อีก 2 แสนบาท คือการสูญเสีย จะถูกแปลงมาเป็นมูลค่า จากการการก่อสร้างที่มีมาตรฐานมีการวางแผน พร้อมกันกับตลาดรีโนเวทบ้าน ปรับปรุงซ่อมแซม ตกแต่ง (Renovate) บ้านเก่าที่อายุ 30 ปีเริ่มมีมากขึ้น เป็นเทรนด์ที่ อนาคต”

โดยการบริการใหม่ที่แนะนำเข้าสู่ตลาด อาทิ

1.ธุรกิจก่อสร้างจะเข้าไปจับตลาดรีโนเวทบ้าน และเข้าไปเป็นที่ปรึกษา พัฒนาทั้งโครงการขนาดเล็กและใหญ่โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้เห็นภาพที่เสร็จสมบูรณ์จริง (VR-Virtual Reality)และนำเทคโนโลยีBIM(Building Information Modeling) มาใช้ในออกแบบลดการใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการขยายศูนย์บริการCPAC Solution Centerกระจายทั่วประเทศกว่า 20 ศูนย์ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้า

2.ธุรกิจแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัย (Living Solution)แก้ทำให้อยู่สบาย ประหยัดพลังงาน ปลอดภัย และตอบโจทย์สมาชิกในครอบครัวทุกเจเนเรชั่น

3.ธุรกิจค้าปลีกด้วยรูปแบบActive OMNI-Channel พัฒนาร้านค้าของเอสซีจีในรูปแบบเดิมให้มีการเชื่อมโยงทั้งออฟไลน์ สู่ออนไลน์แบบไร้รอยต่อ (Seamless)