Green Pulse I พลิกโฉมเอกชนไทย สู่บทบาทการพัฒนาอย่างยั่งยืน

Green Pulse I พลิกโฉมเอกชนไทย  สู่บทบาทการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ในบริบทของกระแสความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านเทคโนโลยี สังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้หลายฝ่ายตระหนักถึงการพัฒนาเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ที่ไม่เพียงแต่สร้างการเติบโตของผลกำไรในธุรกิจเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นการเติบโตแบบองค์รวมในทุกด้านไปพร้อม ๆ กัน

นั่นจึงเป็นความหมายของคำว่า “ยั่งยืน” อย่างแท้จริง ทำให้ทุกวันนี้ ภาคเอกชนไทยก้าวเข้ามาร่วมผลักดันโครงการต่าง ๆ อันจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

​โดยในงานเปิดตัวเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) ที่ผ่านมานั้น 5 บริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศได้มาร่วมแบ่งปันมุมมอง ประสบการณ์ และการดำเนินกลยุทธ์ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้หัวข้อ “เอกชนไทยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง… เราจะเติบโตไปด้วยกัน”

Home Pro สู่ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

​คุณวุฒิ ธรรมพรหมกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โฮมโปรดำเนินธุรกิจค้าปลีกที่ต้องการส่งเสริมให้ผู้บริโภคบริโภคสินค้าด้วยความรับผิดชอบ จึงร่วมกับผู้ผลิตสินค้าพัฒนาสินค้า เรียกว่า อีโค่ ช้อยส์ (Eco Choice) ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปลอดภัยต่อผู้ใช้ เช่น ไม้ที่ใช้ในการผลิตเฟอร์นิเจอร์จะเป็นไม้จากป่าปลูก มีจานดูดซับน้ำมันจากอาหารทอด เทียนแอลอีดี หรือกระถามธูปแอลอีดี ล้วนเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ รวมถึงสินค้าอื่น ๆ ซึ่งปัจจุบันสินค้าที่วางจำหน่ายในโฮมโปรเป็น อีโค่ ช้อยส์ ถึง 30%

​ส่วนงานบริการ บริษัทเล็งเห็นถึงความต้องการของลูกค้าที่เมื่อซื้อสินค้าจากโฮมโปรแล้วจะต้องจ้างช่างให้ไปติดตั้งวัสดุ อุปกรณ์ภายในบ้านซึ่งอาจประสบปัญหาการทำงานของช่างที่ไม่ได้มาตรฐาน บริษัทจึงจัดฝึกอบรมพนักงานช่างให้มีทักษะและความเชี่ยวชาญที่ได้มาตรฐานตามมาตรฐานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นอกจากนี้ ยังได้จัดโครงการเถ้าแก่น้อย ดึงบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมอบรม เพื่อให้มีทักษะงานช่างที่มีมาตรฐาน เป็นการส่งเสริมสร้างอาชีพให้กับบุคคลทั่วไป ให้มีรายได้และมีความมั่นคงในชีวิต

​“ปัจจุบันเรามีช่างอยู่เป็นพันกว่าทีม และในจำนวนนี้เป็นทีมช่างจากโครงการเถ้าแก่น้อยถึง 40% ที่เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนเหล่านี้ โดยพวกเขาเองยังสามารถต่อยอดไปสร้างเป็นธุรกิจของตนเองได้อีก ขณะเดียวกัน บริษัทเองยังต่อยอดโครงการเถ้าแก่น้อยด้วยการจัดทำโครงการ โฮม เซอร์วิส อะคาเดมี่ อีกด้วย ซึ่งสิ่งที่เราทำต่อเนื่องมายาวนานนั้นทำให้เรามีผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง มีสินค้าที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ช่วยผลักดันยอดขายของบริษัทให้สูงขึ้นตามมา” คุณวุฒิ กล่าว

AIS ชูอีเวสต์

นัฐิยา พัวพงศกร Head of Business Sustainability บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ให้มุมมองกลยุทธ์การพัฒนาอย่างยั่งยืนไว้อย่างน่าสนใจว่า บริษัทมองเรื่องผลกระทบจากเทคโนโลยีเป็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจ โดยปรับตัวตัวเองจากธุรกิจโทรคมนาคม ไปสู่การเป็น ดิจิทัล เซอร์วิส โพรไวเดอร์ และในบริบทของการช่วยเหลือสังคมและการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น มุ่งเน้นไปที่โครงการ ไซเบอร์ เวลเนส มุ่งให้เยาวชนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตอย่างปลอดภัยและชาญฉลาด

​อีกโครงการคือการดูแลผลกระทบในเชิงเทคโนโลยี จึงได้จัดทำโครงการ อิเล็กทรอนิกส์ เวส ที่มองว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่หมดอายุการใช้งานแล้ว หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ถูกต้องอาจก่อให้เกิดมลพิษและก่อมะเร็งได้ และการจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้จำเป็นต้องทำอย่างถูกวิธี ซึ่งหากถูกแยกออกมาอย่างถูกต้องหลายส่วนก็จะเป็นมูลค่ามากกว่าเป็นของเสียเสียด้วยซ้ำ

​“นอกจากนี้ การที่เรามองว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องของการสร้างโอกาส จึงได้นำเทคโนโลยีเข้าไปสนับสนุนการทำงานของ อาสาสมัครสาธารณสุขชุมชน (อสม.) เพื่อให้พวกเขาสามารถรับข้อมูลข่าวสาร และรายงานด้านการสาธารณสุขได้อย่างทันท่วงที ซึ่งผลที่ได้รับ นอกจากจะเป็นการเข้าไปช่วยเหลือชุมชนแล้วยังทำให้ชุมชนมองเห็นประโยชน์ของเทคโนโลยี ยอมรับการจัดตั้งเสาสัญญาณในพื้นที่ชุมชนได้มากขึ้น มีการใช้งานเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน” นัฐิยา กล่าว

Sea Change กับ ทีทูเอฟ

​บริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ทียูเอฟ ซึ่ง “ธีรพงศ์ จันศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บอกเล่าถึง โครงการ Sea Change กลยุทธ์ด้านความยั่งยืนทั่วโลก ให้ฟังว่า ปัจจุบันกระแสการบริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยผู้บริโภคให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตสินค้า ที่มาของสินค้า และการปฏิบัติต่อแรงงาน รวมถึงที่ผ่านมาประเทศไทยและบริษัทเองซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมอาหารทะเล ตกเป็นเป้าของการถูกโจมตีในเรื่องการกดขี่แรงงาน และการประมงผิดกฎหมาย จึงมองว่าเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่เรื่องที่ทำภายในบริษัทเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของความอยู่รอดของอุตสาหกรรม และความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีกด้วย

​ดังนั้น การพัฒนาอย่างยั่งยืนจะทำเฉพาะในบริษัทไม่ได้ แต่จะต้องทำร่วมไปกับซัพพลายเชนทั้งหมด โดยกลยุทธ์ ซี เช้นจ์ นั้น มุ่งเน้น 3 เรื่อง คือทำอย่างไรให้ทะเลทั้งโลกมีความยั่งยืน ทำอย่างไรให้แรงงานปลอดภัย ได้รับการยอมรับที่ถูกกฎหมาย และได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกัน และสุดท้ายคือ การทำให้ประมงถูกกฎหมาย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่มีความท้าทายอย่างมาก เพราะไม่เพียงแต่มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติเฉพาะในบริษัท แต่เรายังต้องมีแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องไปตลอดทั้งซัพพลายเชน ที่จะต้องส่งทีมงานไปฝึกอบรมให้ความรู้แก่คู่ค้า รวมถึงทีมงานที่จะต้องคอยตรวจสอบการปฏิบัติงานของคู่ค้าที่ทำการค้ากับบริษัททั้งหมด

​“ทียูเอฟ เป็นบริษัทไทยที่มีพนักงานทั่วโลกกว่า 4.9 หมื่นคน มีรายได้จากต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วน 88% ของรายได้ของบริษัท ซึ่งเรามองว่า จากกระแสผู้บริโภคให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาของอาหาร การปฏิบัติที่ถูกต้อง แม้จะเป็นเรื่องของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่เราไม่สามารถทวนกระแสของผู้บริโภคได้ ดังนั้น เราจึงต้องใช้ความอดทนในระยะเริ่มต้น แม้จะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อทุกอย่างได้ผ่านไป ทุกคนทำถูกต้องทั้งหมด เชื่อว่าต้นทุนต่าง ๆ ก็จะเท่าเทียมกันได้ในที่สุด” ธีรพงศ์กล่าว

ไมเนอร์ชู 3 เสาหลักความยั่งยืน

​บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และไลฟ์สไตล์ โดย ชมพรรณ กุลนิเทศ รองประธานฝ่ายการลงทุน กล่าวว่า บริษัทได้ดำเนินกลยุทธ์การพัฒนาอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ โดยเป็นแผนระยะยาวทุก ๆ 5 ปี กลยุทธ์การพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นจะประกอบด้วย 3 เสาหลัก คือการพัฒนาบุคลากร การพัฒนาซัพพลายเออร์ให้มีความยั่งยืน และการดูแลสิ่งแวดล้อม ที่มุ่งเน้นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ธรรมชาติ

​“การพัฒนาคนในความหมายของเราไม่ใช่เพียงแต่การพัฒนาพนักงานของบริษัทให้มีทักษะสูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังก้าวเข้าไปสู่การพัฒนาเยาวชนผ่านโครงการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาร่วมกับสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะในภาควิชาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของไมเนอร์ รวมถึงส่งคนของเราเองไปร่วมเป็นโค้ชในการฝึกอบรมในทุก ๆ ด้านที่เกี่ยวกับสายอาชีพนี้ นอกจากนี้ ยังมีโครงการอบรมที่เรียกว่า ไมเนอร์ คอร์ปอเรท ยูนิเวอร์ซิตี้ (MCU) เป็นโครงการฝึกงานให้แก่เยาวชนที่พวกเขาจะมีรายได้ควบคู่ไปกับการฝึกทักษะด้านอาชีพ และเมื่อจบหลักสูตรแล้วยังมีโอกาสในการเข้าร่วมงานกับไมเนอร์อีกด้วย” ชมพรรณ กล่าวและบอกด้วยว่า​ผลที่ได้รับ นอกจากบริษัทจะได้บุคลากรที่มีทักษะความพร้อมในการทำงานแล้ว เยาวชนที่เคยร่วมฝึกอบรมกับบริษัทจะมีความเข้าใจถึงลักษณะการทำงาน ผ่านการเรียนรู้การทำงานจริงมาแล้ว ทำให้อัตราการลาออกลดลง บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายในการรับสมัครพนักงานใหม่ ลดค่าใช้จ่ายการอบรมพนักงานใหม่ เพราะพวกเขาเหล่านี้จะสามารถทำงานได้เลย ขณะเดียวกัน พนักงานที่ส่งไปเป็นโค้ชยังได้รับการพัฒนาทักษะของตัวเขาเองเพิ่มด้วย

 เรย์ วิสาหกิจเพื่อสังคม

​ขณะที่วิสาหกิจเพื่อสังคมอย่าง บริษัท เรย์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด มีเป้าหมายในการพัฒนาฝีมือและสร้างอาชีพให้แก่กลุ่มคนพิการ เพื่อขจัดความยากจน สร้างความมั่นใจให้แก่คนพิการให้ออกมาอยู่ในสังคม และลดความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย โดย “มานพ เอี่ยมสะอาด” รองประธานบริหาร กล่าวว่า ระยะแรกบริษัทเริ่มต้นจากโอกาสความร่วมมือกับบริษัทเอกชนไทยในการส่งคนพิการ 10 คนไปเป็นพนักงานคอลล์ เซ็นเตอร์ จากนั้นจึงขยายกลุ่มธุรกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเน้นการฝึกอบรมทักษะตามความสามารถและจุดแข็งของคนพิการ เช่น สำหรับคนที่พูดไม่ได้ จะส่งไปเป็นพนักงานตรวจสอบที่คอยตรวจสอบพนักงานคอลล์ เซ็นเตอร์อีกชั้นหนึ่งว่าได้พูดหรือให้ข้อมูลแก่ลูกค้าตามกระบวนการอย่างถูกต้องหรือไม่ เป็นต้น

​“ในระยะหลังมานี้หลายคนอาจกังวลว่า เทคโนโลยีจะเข้ามามีผลกระทบต่อการสร้างงานให้กับคนพิการ เช่น แชตบอต จะเข้ามาแทนที่คอลล์ เซ็นเตอร์ แต่เราก็พยายามมองหาโอกาสทางอาชีพอื่น ๆ เข้ามาทดแทนให้มากขึ้น เช่น ความร่วมมือกับบริษัทโลจิสติกส์ ในการคอยมอนิเตอร์รถบรรทุกขนส่งน้ำมัน ว่าวิ่งไปในเส้นทางที่ถูกต้องหรือไม่ หรือปฏิบัติตัวถูกต้องหรือไม่ รวมถึงการมอร์นิเตอร์ พนักงานรักษาความปลอดภัย(รปภ.) ว่าปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัดหรือไม่ ซึ่งคนพิการที่มีความสามารถด้านคอมพิวเตอร์ และมีความละเอียดอ่อน จะสามารทำงานเหล่านี้ได้ดี รวมทั้งยังมองหาอาชีพอื่น ๆ เพิ่มเติมให้มากขึ้นเช่นในพื้นที่ อีอีซี ซึ่งมีความต้องการแรงงานคนพิการเราจึงพยายามพัฒนาทักษะด้านคอมพิวเตอร์เพื่อให้คนพิการสามารถพัฒนาก้าวสู่อาชีพในอีอีซีได้มากขึ้น” มานพกล่าว

​ทั้งนี้ หากมองในภาพใหญ่ของประเทศ โครงการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทเอกชนไทยทั้ง 5 รายนี้ ยังเป็นเพียงพลังส่วนหนึ่ง ที่หากเมื่อทุกฝ่ายร่วมกันทำงานเชื่อว่าจะเกิดเป็นพลังมหาศาลที่จะผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าได้แข็งแกร่งแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และพร้อมเติบโตยั่งยืนได้อย่างแท้จริง