Green Pulse I ซีพีเอฟ เดินหน้าโรดแมพบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน 

Green Pulse I ซีพีเอฟ เดินหน้าโรดแมพบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน 

บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ซึ่งเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารรายใหญ่ของประเทศ มุ่งลดขยะพลาสติกตลอดห่วงโซ่การผลิต เดินหน้าตามแผนงานบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนปี 2563 โดยให้ความสำคัญกับพลาสติกที่สามารถนำมานำมาใช้ซ้ำ (reuse)

หรือ นำมาใช้ใหม่ (recycle) หรือย่อยสลายได้ (compostable) ทั้งกิจการในประเทศและต่างประเทศ

นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการขยะพลาสติกทั้งในองค์กรและสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล เพื่อการเติบโตของบริษัทฯและการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไปสู่ความยั่งยืน บนพื้นฐาน “เศรษฐกิจหมุนเวียน” หรือ Circular Economy โดยมุ่งให้ความสำคัญกับการเลือกใช้วัสดุ การออกแบบผลิตภัณฑ์ การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ เพื่อมุ่งมั่นให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยลดของเสียและมลพิษตลอดทั้งกระบวนการของสินค้าและบริการ

ภายใต้แผนงานบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน (Sustainable Packaging Roadmap) ระหว่างปี 2558-2568 ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals), บรรจุภัณฑ์พลาสติกของบริษัทฯที่นำมาใช้ จะต้องสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reusable) นำมาใช้ใหม่ (Recyclable) นำไปผลิตเป็นสินค้าอื่นใหม่ได้ (Upcyclable) หรือ สามารถย่อยสลายได้ (Compostable) 100% สำหรับกิจการในประเทศไทย ในปี 2568 และกิจการในต่างประเทศจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2573

ภายใต้แผนงานดังกล่าว บรรจุภัณฑ์ของบริษัททั้งที่ทำจากกระดาษและพลาสติก จะต้องมีการออกแบบที่เหมาะสม (Optimized Design) ได้มาตรฐาน (Standardization) และสามารถใช้ร่วมกันได้ (Harmonization) โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้วัสดุและอาหารปลอดภัย ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

นอกจากการออกแบบบรรจุภัณฑ์อย่างเหมาะสมแล้ว บริษัทยังคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมใน 4 ประเด็นหลัก คือ การป้องกันผลกระทบทางกายภาพ ชีวภาพและสารเคมี ที่จะเกิดกับอาหาร ความเสียหายและการใช้พลังงานระหว่างการขนส่ง มีรูปแบบที่ปลอดภัยต่อการใช้งาน และง่ายต่อการจัดการตามแนวทาง 3R’s คือ ลดการใช้ (Reduce) นำมาใช้ซ้ำ (Reuse) และนำมาใช้ใหม่ (Recycle) ตลอดจนส่งเสริมการใช้ทรัพยาการที่สามารถหมุนเวียนได้ (Renewable) และย่อยสลายได้ (Compostable) ตามความเหมาะสมของผลิตภัณฑ์ โดยเลือกใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้และเพิ่มปริมาณการใช้วัสดุที่รีไซเคิลได้ เพื่อลดการฝังกลบขยะ

“ในปี 2561 บรรจุภัณฑ์ในธุรกิจอาหารทั้งหมดของ ซีพีเอฟ มีการใช้พลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ถึง 99% และสามารถลดการใช้วัสดุในการทำบรรจุภัณฑ์ ทั้งกระดาษและพลาสติกได้ถึง 377 ตัน และมีเป้าหมายจะเพิ่มเป็น 600 ตัน ในปี 2563” นายวุฒิชัย กล่าว

ปัจจุบัน ธุรกิจห้าดาว สตาร์คอฟฟี่ และซีพี เฟรชมาร์ท เดินหน้าลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ตามนโยบายและแนวปฏิบัติบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน ด้วยการเปลี่ยนเป็นบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติย่อยสลายได้ โดยธุรกิจห้าดาว เปลี่ยนไปใช้กล่องกระดาษแทนถุงพลาสติกสำหรับใส่ไก่ย่างให้กับลูกค้า ขณะที่ STAR coffee เปิดตัวร้านกาแฟรักษ์โลกต้นแบบ ECO-HOUSE ที่ใช้ภาชนะและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยแก้วเครื่องดื่มเย็น หลอดดูด และฝายกดื่ม ทำจากไบโอพลาสติกทำจากพืช ย่อยสลายได้ 100%

ล่าสุด ซีพี เฟรชมาร์ท ร่วมมือกับ บริษัท GEPP เป็นสตาร์อัพของไทย ที่เชี่ยวชาญการทำระบบจัดการขยะ เพื่อสร้างชุมชนต้นแบบในการนำขยะพลาสติกไปรีไซเคิล โดยรณรงค์ให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี และนำขยะพลาสติกแลกไข่ไก่ ควบคู่ไปกับกิจกรรม “ซื้อของน้อยไม่รับถุง” โดยทุกวันพุธงดให้บริการถุงพลาสติกแก่ลูกค้า

จากการปฏิบัติตามแผนงานบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในปี 2561 ซีพีเอฟ สามารถลดการใช้พลาสติกในองค์กรได้ถึง 27,000 ตัน เทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 97,000 ตันคาร์บอนไดอ๊อกไซด์