ผ่าอาณาจักร ‘เรือใบสีฟ้า’ ทีมกีฬามูลค่าแสนล้าน

ผ่าอาณาจักร ‘เรือใบสีฟ้า’ ทีมกีฬามูลค่าแสนล้าน

แม้ผลงานในสนามฤดูกาลนี้ของ “เรือใบสีฟ้า” แมนเชสเตอร์ ซิตี ยักษ์ใหญ่แห่งพรีเมียร์ลีก อังกฤษ อาจไม่เปรี้ยงปร้างเหมือนฤดูกาลก่อนที่คว้า 3 แชมป์ในประเทศ แต่ผลงานในโลกธุรกิจกลับเติบโตต่อเนื่อง จนกลายเป็นอาณาจักรกีฬามูลค่าสูงสุดอันดับ 2 ของโลกไปแล้ว

ปัจจุบัน แมนเชสเตอร์ ซิตี สโมสรฟุตบอลเก่าแก่ของอังกฤษที่ก่อตั้งมานานกว่าศตวรรษ กลายเป็นหนึ่งในขุมทรัพย์ล้ำค่าของกลุ่มทุน “อาบูดาบี ยูไนเต็ด กรุ๊ป” แห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ซึ่งเทคโอเวอร์สโมสรต่อจาก “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีและนักธุรกิจชาวไทยเมื่อเดือน ก.ย. 2008

กลุ่มทุนยูเออีถือหุ้นทีมเรือใบสีฟ้าผ่าน "ซิตี ฟุตบอล กรุ๊ป" (ซีเอฟจี) ที่ก่อตั้งขึ้น 6 ปีหลังการเทคโอเวอร์ เพื่อควบคุมธุรกิจสโมสรฟุตบอลทั่วโลกของตนอย่างมีประสิทธิภาพ

ความยิ่งใหญ่ของ อาบูดาบี ยูไนเต็ด กรุ๊ป อยู่ที่ตัวเจ้าของ นั่นคือ “ชีค มันซูร์” หรือชื่อเต็มว่า ชีค มันซูร์ บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน รองนายกรัฐมนตรียูเออีและสมาชิกราชวงศ์แห่งอาบูดาบี ผู้มีมูลค่าสินทรัพย์ ณ ปัจจุบัน ราว 3 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 9.11 แสนล้านบาท!

เมื่อปลายเดือนที่แล้ว ซีเอฟจีได้ขายหุ้นกว่า 10% ให้กับ “ซิลเวอร์ เลค” บริษัทหุ้นนอกตลาดของสหรัฐในราคา 500 ล้านดอลลาร์ ทำให้สโมสรฟุตบอลของมันซูร์มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 4,800 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.45 แสนล้านบาท รั้งเบอร์ 2 ทีมกีฬามูลค่าสูงที่สุดในโลกและมูลค่าสูงที่สุดในยุโรป

157564598415

มูลค่าที่เพิ่มขึ้นล่าสุดนี้ ทำให้ทีมเรือใบสีฟ้าก้าวกระโดดจากอันดับ 25 ของโลกในการประเมินมูลค่าทีมกีฬาทั่วโลกโดยนิตยสารฟอร์บสเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนั้น “เรอัล มาดริด” ยักษ์ใหญ่แห่งสเปนครองตำแหน่งแฟรนไชส์กีฬามูลค่าสูงสุดในยุโรป ตามมาด้วย “บาร์เซโลนา” ทีมคู่แค้นจากชาติเดียวกัน

  • ทุ่มทุนเพื่อความสำเร็จ

นับตั้งแต่เข้าบริหารเรือใบสีฟ้าเมื่อ 11 ปีที่แล้ว กลุ่มทุนอาบูดาบีได้ทุ่มเงินลงทุนหลายแสนล้านปอนด์ไปกับการพัฒนาสโมสรทั้งในสนามและนอกสนาม ซึ่งรวมถึงปรับปรุงศูนย์ฝึกนักเตะเยาวชนและสร้างสนามซ้อมใหม่ ขยายความจุสนามเหย้า "เอทิฮัด สเตเดียม" และทุ่มซื้อนักเตะและกุนซือระดับบิ๊กเนมมาร่วมทัพอย่างต่อเนื่อง หวังผงาดเป็นทีมฟุตบอลชั้นนำของโลกโดยเร็วที่สุด

ในยุคบริหารของมันซูร์ แมนเชสเตอร์ ซิตี กวาดถ้วยแชมป์ในอังกฤษได้มากมาย รวมถึงปลดล็อกแชมป์พรีเมียร์ลีกครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสรเมื่อซีซั่น 2011-12 พร้อมเถลิงบัลลังก์ต่อเนื่องอีก 3 สมัย (ซีซั่น 2013-14, 2017-18 และ 2018-19) และชูถ้วยเอฟเอ คัพ ซึ่งเป็นฟุตบอลถ้วยรายการใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดของอังกฤษอีก 2 สมัย (ปี 2011 และ 2019)

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในสนามของเรือใบสีฟ้ายังขาดเพียงถ้วยแชมป์ระดับทวีปยุโรปอย่าง “ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก” เพราะทีมยังไม่เคยทะลุถึงรอบชิงชนะเลิศแม้แต่ครั้งเดียว โดยในฤดูกาลนี้ ซิตีเพิ่งผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้าย หลังจากซีซั่นที่ผ่านมาต้องจอดที่รอบ 8 ทีมสุดท้าย

  • ขยายธุรกิจฟุตบอล

ในปี 2013 หลังประสบความสำเร็จกับทีมเรือใบสีฟ้า อาบูดาบี ยูไนเต็ด กรุ๊ป ก็เริ่มสยายปีกเข้าไปลงทุนในสโมสรฟุตบอลอื่น ๆ ไล่ตั้งแต่ก่อตั้งทีมนิวยอร์ก ซิตีในศึกเมเจอร์ลีกของสหรัฐ และซื้อแฟรนไชส์ทีมเมลเบิร์น ฮาร์ท เอฟซีในเอลีกของออสเตรเลีย พร้อมกับรีแบรนด์ใหม่เป็นเมลเบิร์น ซิตี เอฟซี

เพื่อความคล่องตัวในการบริหารธุรกิจร่วมทุนสโมสรฟุตบอลต่าง ๆ ทั่วโลกและแยกธุรกิจฟุตบอลออกจากธุรกิจอื่น ๆ กลุ่มทุนอาบูดาบีจึงก่อตั้งบริษัทซีเอฟจีขึ้นในปี 2014 เพื่อบริหารทีมลูกหนังทั้งหมดที่อยู่ในการดูแล ในฐานะบริษัทโฮลดิ้งที่นอกจากต้องบริหารทีมฟุตบอลแล้ว ยังต้องดำเนินธุรกิจต่าง ๆ ที่ทำการตลาดเกี่ยวกับบริการด้านฟุตบอลในตลาดที่กว้างขึ้นด้วย

ปัจจุบัน ซีเอฟจีถือหุ้นใน 7 สโมสรฟุตบอลทั่วโลก รวมถึงในสหรัฐ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย และจีน โดยตั้งเป้าเน้นลงทุนกับทีมจากแต่ละทวีปที่มีชื่อ “ซิตี” (City) พ่วงท้าย เช่น มุมไบ ซิตี และนิวยอร์ก ซิตี

  • ซิลเวอร์ เลค ทำอะไร?

บริษัทซิลเวอร์ เลค ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1999 และมีสำนักงานใหญ่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย บริษัทประกาศตัวว่าเป็นผู้นำระดับโลกด้านการลงทุนในเทคโนโลยี หลังเข้าลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ เช่น อาลีบาบา ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซของจีน, เดลล์ บริษัทคอมพิวเตอร์ของสหรัฐ และสไกป์ ผู้พัฒนาโปรแกรมแชทซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในลักเซมเบิร์ก

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซิลเวอร์ เลค ยังลงทุนในธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนท์ ซึ่งรวมถึงกีฬาอย่างเต็มตัว และมีรายงานว่า บริษัทติดต่อขอลงทุนหรือถือหุ้นในสโมสรฟุตบอลอื่น ๆ ทั้งในอังกฤษและในประเทศอื่น ๆ ของยุโรปด้วย แสดงให้เห็นว่ากลุ่มทุนอเมริกันต้องการเดินหน้าธุรกิจฟุตบอลอย่างต่อเนื่อง

ไฟแนนเชียล ไทม์ส ระบุว่า เหตุผลที่ ซิลเวอร์ เลค ให้ความสนใจธุรกิจฟุตบอลโดยเฉพาะกับแมนเชสเตอร์ ซิตี เพราะผลตอบแทนที่สูงขึ้นอย่างมหาศาลจากการขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดให้กับบรรดาสถานีโทรทัศน์และกลุ่มสื่อออนไลน์ต่าง ๆ

การที่บริษัทอเมริกันเข้ามาอัดฉีดเม็ดเงินในสโมสรเรือใบสีฟ้าจะช่วยให้ซีเอฟจี ในฐานะเจ้าของทีม สามารถพัฒนาสโมสรและขยายเครือข่ายได้ง่ายขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ซีเอฟจีมีผู้ถือหุ้นข้างน้อยเป็นกลุ่มทุนจีนชื่อ “ไชน่า มีเดีย แคปิตอล” (ซีเอ็มซี) อยู่แล้ว ทำให้โครงสร้างผู้ถือหุ้นของสโมสรปัจจุบันประกอบด้วย ซีเอฟจีที่ถืออยู่ 77% ซีเอ็มซีของจีน 12% และซิลเวอร์ เลค 11%

157564595639

อีกอน เดอร์แบน กรรมการผู้จัดการของซิลเวอร์ เลค กล่าวหลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหม่ของทีมเรือใบสีฟ้าว่า การลงทุนในซีเอฟจีเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เพราะบริษัททำให้คนอื่น ๆ เห็นถึงวิธีการใหม่ ๆ ในการทำการตลาดในโลกฟุตบอล ควบคู่กับการรักษาประวัติศาสตร์ของสโมสรไปพร้อมกัน

“เราเคารพนับถือวิธีการบริหารของซีเอฟจีที่นำมาใช้กับสโมสรที่มีธรรมเนียมมากว่า 100 ปี และการขยายฐานแฟนบอลของทีมไปทั่วโลก”

  • รายได้จ่อแซง “ผีแดง”

แมนเชสเตอร์ ซิตี ประสบความสำเร็จในแง่ของการเติบโตทางการเงินตลอด 11 ปีที่ผ่านมา โดยเมื่อต้นเดือน พ.ย. สโมสรรายงานว่ามีรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 535.2 ล้านปอนด์ (ราว 2.13 หมื่นล้านบาท) ในฤดูกาลที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นประมาณ 6% จากฤดูกาลก่อน นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสรที่สามารถโกยรายได้ทะลุหลัก 500 ล้านปอนด์

แม้รายได้ทะยานติดลมบน แต่ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นตาม สโมสรระบุว่า ค่าเหนื่อยนักเตะและสตาฟฟ์โค้ชเพิ่มจาก 52% มาอยู่ที่ 59% ของผลประกอบการซีซั่นที่แล้ว โดยใช้จ่ายไปทั้งสิ้น 315.6 ล้านปอนด์ จาก 259.2 ล้านปอนด์ในฤดูกาล 2017-18

ขณะเดียวกัน ซิตีเพิ่งทำสัญญาสปอนเซอร์ชุดแข่งกับแบรนด์ “พูม่า” ตั้งแต่ฤดูกาลนี้ยาวถึงปี 2029 โดยคาดกันว่ามีมูลค่ารวมกว่า 600 ล้านปอนด์ หรือคิดเป็นรายได้เฉลี่ย 65 ล้านปอนด์ต่อฤดูกาล

นอกจากนั้น ตัวเลขรายได้เป็นประวัติการณ์ของซิตียังขยับเข้าใกล้คู่แข่งร่วมเมืองอย่าง “ปิศาจแดง” แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งประกาศในเดือน ก.ย. ว่ามีรายได้ 627 ล้านปอนด์ (เกือบ 2.5 หมื่นล้านบาท) ในฤดูกาลที่ผ่านมา นับว่ามีรายได้สูงที่สุดในพรีเมียร์ลีก

อย่างไรก็ตาม การที่เรือใบสีฟ้าได้ไปเล่น ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก ซึ่งเป็นถ้วยใหญ่สุดของยุโรป ขณะที่ผีแดงไม่ได้มีส่วนร่วมในซีซั่นนี้ ทำให้มีโอกาสสูงที่รายได้ของเพื่อนบ้านสีแดงจะลดลง และหมายความว่า ซิตีก็จะสามารถโกยรายได้แซงหน้าคู่แค้นร่วมเมืองได้สำเร็จเมื่อจบฤดูกาล 2019-20

  • ลุ้นหนักผลตัดสินยูฟ่า

ถึงกระนั้น เรือใบสีฟ้ายังคงต้องลุ้นกับอุปสรรคสำคัญอีกหนึ่งด่านว่าจะถูกสั่งห้ามเล่นฟุตบอลถ้วยรายการใหญ่สุดของยุโรปหรือไม่

ขณะนี้สมาพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือยูฟ่า กำลังสอบสวนทีมของมันซูร์เกี่ยวกับข้อกล่าวหาละเมิดกฎควบคุมการเงิน “ไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์” (Financial Fairplay) ของยูฟ่า ซึ่งห้ามไม่ให้สโมสรสมาชิกใช้จ่ายเงินเกินรายได้ที่แจ้งในบัญชีผลประกอบการ

เดือน พ.ค. ที่ผ่านมา นิวยอร์ก ไทม์ส สื่อดังในสหรัฐ รายงานว่า ก่อนหน้านี้ ยูฟ่าได้ทำการตรวจสอบหลักฐาน หลังมีเอกสารลับระบุว่า เจ้าของสโมสรเรือใบสีฟ้าได้จ่ายเงินกว่า 59.5 ล้านปอนด์ ผ่าน อาบูดาบี ยูไนเต็ด กรุ๊ป เข้าสู่สโมสรโดยตรง โดยอ้างว่า เป็นเงินจากสายการบิน “เอทิฮัด แอร์เวย์ส” หนึ่งในสปอนเซอร์ของสโมสร

นอกจากนั้นการใช้เงินก้อนดังกล่าวยังเป็นเวลาเดียวกันกับที่สโมสรควักเงิน 60 ล้านปอนด์ คว้าตัว ริยาด มาห์เรซ มาร่วมทีมเมื่อช่วงซัมเมอร์ปีที่แล้ว ซึ่งอาจเข้าข่ายจงใจละเมิดกฏควบคุมทางการเงิน

เจ้าหน้าที่สอบสวนอิสระของยูฟ่าแนะนำว่า หากเรือใบสีฟ้าละเมิดกฎการเงินจริง จะต้องถูกห้ามลงเล่นยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก เป็นเวลา 1 ฤดูกาล ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าจะมีผลบังคับใช้ในฤดูกาลหน้าเลยหรือไม่ คาดว่ายูฟ่าจะประกาศผลการสอบสวนชี้ชะตาทีมทุนอาหรับในเร็ววันนี้!