"วรวุฒิ มาลา" พลิกโฉมรถไฟไทย หัวใจสีเขียว

"วรวุฒิ มาลา" พลิกโฉมรถไฟไทย หัวใจสีเขียว

การขนส่งทางรางจะมีความสำคัญมากขึ้นหลังจากระบบรถไฟทางคู่เปิดใช้งาน ทำให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กำหนดเป้าหมาย 5 ปี เพิ่มการขนส่งสินค้าทางรางจาก ปีละ 11 ล้านตัน เพิ่มขึ้นมาเป็นปีละ 15 ล้านตัน

รวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า เงื่อนไขสำคัญของการเพิ่มขนส่งทางรางนอกจากระบบรถไฟทางคู่ จะมีสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่จะเป็นจุดกระจายสินค้า การเพิ่มรถจักรและรถพ่วงที่เตรียมไว้รอแล้ว โดยถ้าวางระบบไอซีดีเรียบร้อยจะสะดวกมากขึ้น

แผนงานดังกล่าวเกิดขึ้นตามทิศทางธุรกิจโลจิสติกส์ที่กำลังขยายตัว ซึ่ง ร.ฟ.ท.จะมีศักยภาพมากขึ้นหลังจากรัฐบาลอนุมัติให้สร้างรถไฟทางคู่ ทำให้สามารถเดินรถแบบ Over Night เพื่อมารองรับขนส่งสินค้า 

ตามแผนจะมีการติดต่อกับลาวเพื่อเชื่อมการขนส่งสินค้าทางรางจากสถานีท่านาแล้ง สปป.ลาว เข้าประเทศไทยผ่านสถานีหนองคาย ซึ่งได้พยายามผลักดันเรื่องนี้มา 5 ปี และเริ่มเดินรถไฟแล้ว 5 ตู้

การขนส่งสินค้าไปลาวมีโอกาสมาก โดยเฉพาะการขนส่งวัตถุดิบและแร่ธาตุ เช่น โปรแตส ที่ลาวมีมากและยังไม่ขุดมาใช้และถ้าในอนาคตลาวเปิดทำเหมืองโปรแตสจะต้องส่งออกทางทะเลผ่านท่าเรือแหลมฉบังหรือท่าเรือมาบตาพุด ซึ่งทำให้เส้นทางหนองคาย-มาบตาพุด เป็นเส้นยุทธศาสตร์การขนส่งสินค้าของประเทศ

รวมทั้งได้มีข้อตกลงกับกัมพูชาในการเดินรถข้ามแดน ซึ่งยังไม่มีดีมานด์การขนส่งสินค้าและเป็นจุดเริ่มต้นในการเดินรถร่วมกัน ซึ่งขณะนี้ตั้งเป้าว่าจะเดินรถให้ถึงปอยเปต และ ร.ฟ.ท.เข้าไปช่วยเหลือในการเดินรถ 

ตั้งเป้าภายในปี 2562 จะเดินรถถึงปอยเปตทั้งรถผู้โดยสารและรถขนส่งสินค้า จะอำนวยความสะดวกให้การขนส่งสินค้าและนักท่องเที่ยวไปนครวัดได้สะดวก ซึ่งการเดินทางจะผ่านสถานีชั่วคราวด่านพรมแดนบ้านคลองลึก เข้าไปเช็คเอาท์ที่ศุลกากรและเช็คอินที่ด่านปอยเปต รวมถึงการขนส่งสินค้าเช่นกัน

นอกจากนี้ ร.ฟ.ท.ได้หารือพันธมิตรที่จะมาเข้าร่วมดำเนินการขนส่งสินค้าทางราง โดยพันธมิตรต้องเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีเงินลงทุนมาก เพราะผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) ค่อนข้างต่ำ แต่ถ้าพูดถึงผลตอบแทนการลงทุนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) บางบริษัทจะสนใจเพราะใช้แนวคิดการดำเนินธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม (CSR)

การลงทุนขนส่งทางรถไฟอย่างคุ้มค่าจึงเป็นบริษัทใหญ่ที่มีศักยภาพ เช่น เครือซีพี กลุ่มไทยเบฟ ซึ่งมีความต้องการกระจายสินค้าไปทั่วประเทศ โดย ร.ฟ.ท.ยังไม่ได้หารือรายละเอียดให้ครบถ้วนจึงต้องดูก่อนว่าจะไปได้จริงหรือไม่ 157564341075

การหาพันธมิตรลักษณะดังกล่าวต้องอาศัยภาครัฐเข้ามาช่วย โดยยกตัวอย่างอาจเจรจากับเครือซีพีที่มีศูนย์กระจายสินค้าที่ขอนแก่น และให้ซัพพลายเออร์ส่งสินค้าไปที่ขอนแก่น ซึ่งถ้ามีซัพพลายเออร์ 100 ราย ต้องใช้รถขนส่ง 100 คันไปขอนแก่น 

เงื่อนไขที่เอกชนอาจสนใจมาร่วมขนส่งสินค้าทางราง คือ CSR และ กรีนโลจิสติกส์ ที่เป็นการบริหารจัดการโลจิสติกส์ในมิติที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่ช่วยประหยัดพลังงานและลดต้นทุน ซึ่งถ้ากลุ่มซีพีสนใจจะมีคุณค่าต่อบริษัท ทำเพื่อสังคมเพื่อคืนถนนและลดการจราจร โดยเอกชนไม่ต้องลงทุนเพิ่มมากแต่ซัพพลายเออร์ไม่ต้องใช้รถบรรทุกขนส่งสินค้าถึงปลายทาง แต่มาส่งถึงแค่สถานีรถไฟ

“พันธมิตรของเรา คือ ผู้ที่จะตัดสินใจ อำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์ในการเลือกขนส่งสินค้า ดังนั้น ร.ฟ.ท.ต้องเริ่มคุยกับรายใหญ่ก่อนแล้วรายย่อยจะตามมาเอง นี่เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของประเทศที่จะปรับมาใช้การขนทางราง”

รวมทั้งการขนส่งอีกส่วนที่น่าสนใจ คือ ขนส่งวัตถุดิบประเภทขยะเพื่อขนไปเผา ซึ่งในอนาคตจะมีโรงไฟฟ้าขยะและจะมีความต้องการขยะไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเพิ่มมากขึ้น แต่โรงไฟฟ้าอาจไม่ได้ตั้งอยู่ทุกพื้นที่จึงจำเป็นที่ต้องขนขยะไปโรงงาน และการขนส่งทางรถไฟเป็นทางเลือกหนึ่ง แต่ ร.ฟ.ท.ต้องพร้อมก่อน

ส่วนการขนส่งผู้โดยสารที่จะมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญหลังจากพัฒนาระบบทางคู่ได้ตามแผน คือ การทำตลาดขนส่งผู้โดยสารได้หลากหลายมากขึ้น โดยร.ฟ.ท.จะจับกลุ่มนักท่องเที่ยว ขายตั๋วล่วงหน้าเป็นแพ็คเกจ เพราะเป็นลูกค้าที่ไม่ได้ดูราคาแต่ดูที่การจัดทริป

แนวทางดังกล่าวจะเห็นชัดเจนในเส้นทางสายเหนือ ซึ่ง ร.ฟ.ท.มองว่าสามารถขายแบบแพ็คเก็จทัวร์ล่วงหน้าให้นักท่องเที่ยวได้ทั้งกลุ่มชาวไทยและต่างชาติ ส่วนเส้นทางอีสานจะไปที่หนองคายที่เดินทางต่อไปประเทศลาวได้ ในขณะที่เส้นทางสายใต้มีโอกาสน้อยกว่าเพราะส่วนใหญ่เป็นตลาดท่องเที่ยวด้วยตัวเอง ลูกค้าอีกกลุ่มที่น่าสนใจ คือ ผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่เร่งรีบแต่ขอให้มีจุดสนใจในการเดินทาง เช่น อาหาร ที่พัก ซึ่ง ร.ฟ.ท.จะต้องไปหาตลาดให้ได้ ร

“ภัยคุกคามของการเดินทางรถไฟอยู่ที่ระยะกลาง 250–500 กิโลเมตร ถ้านับกรุงเทพ เป็นจุดศูนย์กลาง จะครอบคลุมนครราชสีมา นครสวรรค์ หัวหิน ซึ่งการเดินทางรถไฟไปนครราชสีมาใช้เวลา 4 ชั่วโมงครึ่ง แต่รถตู้ใช้เวลาไปนครราชสีมา 3 ชั่วโมง แต่เมื่อรถไฟทางคู่เสร็จการเดินทางไปนครราชสีมาจะใช้เวลา 2 ชั่วโมง 45 นาที ถึง 3 ชั่วโมง ก็จะแข่งขันได้และสู้ด้านราคาได้”

“อาวุธที่ ร.ฟ.ท.จะต้องมี คือ รถใหม่ อุปกรณ์ภายในใหม่ อยู่ในขั้นตอนขอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และจะขอปรับเป็นรถ 2 ระบบไฟฟ้าและดีเซล เพราะต้องเข้ามาที่สถานีกลางบางซื่อ”