ปตท.รุกแอลเอ็นจีภาคอุตฯ

ปตท.รุกแอลเอ็นจีภาคอุตฯ

ปตท.เตรียมแผนรุกตลาดค้าส่งแอลเอ็นจี เจาะกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมทั้งในและนอกแนวท่อส่งก๊าซฯ หวังดันยอดขายปี2563โต คาดนำเข้าเต็มสัญญา 5.2 ล้านตันต่อปี ขณะที่ความต้องการใช้ภาคไฟฟ้ายังทรงตัว

นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า ในปี2563 ปตท.มีแผนจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ปริมาณ 5.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีการจัดหาและนำเข้าLNG เกือบ 5 ล้านตัน ซึ่งจะเป็นไปตามการนำเข้าตามสัญญาซื้อ-ขายก๊าซฯระยะยาวที่ปตท. ได้ลงนามไว้กับคู่ค้า 4 สัญญา แบ่งเป็น การ์ต้า 2 ล้านตันต่อปี,เชลล์ 1 ล้านตันต่อปี ,บีพี 1 ล้านตันต่อปี และปิโตรนาส 1.2 ล้านตันต่อปี

ทั้งนี้ ประเมินว่า ความต้องการใช้ก๊าซฯในประเทศปี2563 จะเติบโตใกล้เคียงกับปี2562 หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยความต้องการใช้ก๊าซฯเพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าจะทรงตัวจากปีนี้ อยู่ที่ 4,800-5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คิดเป็นสัดส่วนราว 60% ของความต้องการใช้ก๊าซฯในประเทศ ส่วนความต้องการใช้ก๊าซฯเพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้กับภาคอุตสาหกรรม ที่มีสัดส่วนกว่า 20% ของความต้องการใช้ก๊าซฯในประเทศ คาดว่า จะเพิ่มขึ้นจากปีนี้ ที่ยอดขายหดตัวตามสภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่ความต้องการใช้ก๊าซฯผ่านโรงแยกก๊าซฯ ที่มีสัดส่วนกว่า 10% ยังคงทรงตัว

“ปีหน้า การใช้ไฟฟ้าในประเทศยังเติบโตตามเศรษฐกิจ และจะมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำเข้าระบบ ทำให้การใช้ก๊าซฯยังคงที่ ส่วนภาคอุตสาหกรรมฯจะโตขึ้น เนื่องจากธุรกิจก๊าซฯของปตท.ได้ขยายโครงข่ายการจัดส่งก๊าซฯเจาะตลาดลูกค้าอุตฯมากขึ้น"

157564290393 ขณะเดียวกันคนเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และก๊าซฯก็นับเป็นเชื้อเพลิงที่มีต้นทุนถูกในอันดับต้นๆ อีกทั้งรูปแบบการจัดส่งก๊าซฯในปัจจุบันเปิดกว้างมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องขนส่งผ่านท่อเหมือนในอดีต สามารถขนส่งผ่านรถขนาดเล็ก และเรือขนาดเล็กได้ รวมถึง ปตท.ยังได้จับมือกับเครือข่ายเอกชนหลายรายที่เข้ามารับก๊าซฯจ่ายปตท.เพื่อทำธุรกิจเป็นผู้ค้าส่งก๊าซฯรายย่อย และเริ่มทยอยจัดส่งก๊าซฯตั้งแต่ปีนี้แล้ว ฉะนั้นในปีหน้าคาดว่าจะเห็นการเติบโตเพิ่มขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรม”

ส่วนแนวทางการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขาย LNG ของภูมิภาค (Regional LNG Hub)นั้น ปตท.ได้รายงานความคืบหน้าแผนดำเนินงานให้ทางกระทรวงพลังงาน รับทราบอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะเริ่มทดสอบกิจกรรมการให้บริการต่างๆ ในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2563 เช่น ระบบบริการขนถ่าย LNG (Reload System) ให้บริการเติม LNG แก่เรือที่ใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงในการเดินเรือ (Bunkering) และทำการตลาดเพื่อสื่อสารให้กับผู้ค้า LNG เข้ามาใช้บริการ ซึ่งมีแผนที่จะทดลองส่งก๊าซฯป้อนให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น กลุ่มประเทศ CLMV เป็นต้น

โดยการทดลอง Reload นั้น จะใช้ศักยภาพของสถานีรับ-จ่ายก๊าซฯ (LNG Receiving Terminal) แห่งที่ 1 มาบตาพุด ที่สามารถรองรับ LNG ได้ถึง 11.5 ล้านตันต่อปี และได้ดำเนินการภายใต้โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (Energy Regulatory Commission Sandbox :ERC Sandbox) ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ซึ่งเข้าร่วมจำนวน 2 โครงการ คือ โครงการ Regional LNG Hub ของ ปตท. และโครงการการศึกษาและพัฒนาศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวผ่านสถานีรับจ่ายก๊าซแอลเอ็นจี ของบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด เพื่อต้องการทดสอบความพร้อมของระบบ และกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิด เชื่อว่าไม่น่าจะมีอุปสรรคใดๆ เพราะปตท.ได้ศึกษาแนวทางมาสักระยะแล้ว

อย่างไรก็ตาม มองว่านโยบายผลักดันให้ประเทศไป Regional LNG Hub ของกระทรวงพลังงานมาถูกทางแล้ว เพราะหากไม่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ขณะนี้ ประเทศไทยอาจเสียเปรียบด้านการแข่งขันกับคู่ค้า เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และเมียนมา