ธปท.จ่ออุ้มลูกหนี้ดี ‘4ล้านบัญชี’ ผุดโครงการรีไฟแนนซ์ ‘บัตรเครดิต-กดเงินสด’ คิดดบ.7-12%

ธปท.จ่ออุ้มลูกหนี้ดี ‘4ล้านบัญชี’ ผุดโครงการรีไฟแนนซ์ ‘บัตรเครดิต-กดเงินสด’ คิดดบ.7-12%

วงในเผย “แบงก์ชาติ” สุ่มทำโครงการ “รีไฟแนนซ์” หนี้บัตรเครดิต-กดเงินสด หวังอุ้มลูกหนี้ดี ที่ไม่มีประวัติผิดนัดชำระ โดยคิดดอกเบี้ยต่ำ 7-12% ช่วยลดภาระการเงิน ท่ามกลางเศรษฐกิจชะลอ ป้องปัญหาลามเป็นหนี้เสีย เผยมีลูกหนี้ที่เข้าข่ายกว่า 4.7 ล้านบัญชี

ช่วงที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ให้ความสำคัญกับการเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย(เอ็นพีแอล) ในกลุ่มบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ผ่านโครงการ “คลินิกแก้หนี้” เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกหนี้กลุ่มนี้มีโอกาสแก้ไขปัญหาหนี้ของตัวเอง ควบคู่กับการส่งเสริมเรียนรู้วินัยทางการเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากับเศรษฐกิจในระยะยาว

ล่าสุด ธปท. มีแผนเข้าไปช่วยเหลือ “ลูกหนี้ดี” ในกลุ่มสินเชื่อบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด เพื่อลดภาระหนี้ให้กับลูกหนี้ในกลุ่มดังกล่าว ผ่านโครงการ “รีไฟแนนซ์” โดยลูกหนี้ที่เข้าโครงการนี้จะได้รับการคิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 7-12% จากปกติอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 18-28% ซึ่ง ธปท. อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดของโครงการดังกล่าว คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในต้นปี 2563

แหล่งข่าวจากวงการเงิน กล่าวว่า ธปท. อยู่ระหว่างทำโครงการ รีไฟแนนซ์ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ดี ที่เป็นหนี้สินเชื่อบัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด เพื่อลดภาระดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้ดี ซึ่งจะช่วยลดภาระทางการเงินลงในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว และยังช่วยป้องกันลูกหนี้ดีเหล่านี้ไม่ให้ตกชั้นไปเป็นหนี้เสีย เพราะปัจจุบันเริ่มเห็นลูกหนี้ดี ที่ชำระปกติ เริ่มมีสัญญาณการผิดนัดชำระ การชำระล่าช้ามากขึ้น และบางส่วนขอเข้าโครงการ “คลินิกแก้หนี้”เพื่อหวังลดภาระทางการเงินลง

ดังนั้นระหว่างนี้ ธปท.จึงอยู่ระหว่างหารือกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อกำหนดรูปแบบโครงการต่างๆให้ชัดเจนอีกครั้ง โดยคาดว่าโครงการนี้จะประกาศใช้ได้ภายในต้นปี 2563

**เคาะคุณสมบัติผู้ร่วมโครงการ

อย่างไรก็ตามหลักการของโครงการรีไฟแนนซ์ หนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด คือ 1.ต้องเป็นลูกหนี้ที่มีวินัยการจ่ายเงิน หรือชำระเงินต่อเนื่องไม่ขาด แต่ปัจจุบันกลุ่มนี้เจอดอกเบี้ยอยู่ที่ 18-28 % ซึ่งดอกเบี้ยดังกล่าวที่คิดในปัจจุบัน ยังไม่สะท้อนคุณภาพลูกหนี้

2.โครงการนี้ให้ความสำคัญกับการรักษาวินัยทางการเงินอย่างเคร่งครัด ดังนั้นผู้ที่เข้าโครงการจะต้องยกเลิกวงเงินเดิม เพื่อไม่ทำให้ภาระหนี้โดยรวมสูงขึ้น และลูกหนี้ต้องได้รับการยินยอมให้ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ(เครดิตบูโร) สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ทุกเดือน

3.สถาบันการเงิน ที่รับรีไฟแนนซ์หนี้ จะไม่ขาดทุน และได้รับผลตอบแทนในระดับหนึ่ง เนื่องจากลูกหนี้เป็นกลุ่มลูกหนี้ดีมีความเสี่ยงต่ำ และอัตราดอกเบี้ยที่คิดยังสูงกว่าต้นทุนทางการเงินของสถาบันการเงิน

4.เครดิตบูโรต้องให้การสนับสนุนโครงการ ด้านการนำข้อมูลเครดิตสกอริ่ง มาช่วยคัดกรองลูกหนี้อีกหนึ่งชั้น รวมทั้งลดค่าธรรมเนียมขอข้อมูลจากเครดิตบูโร เช่น ลด 50 % 

157563957567

**อัตราดอกเบี้ยต่ำ7-12%

5.โครงการนี้จะช่วยเหลือลูกหนี้ดีให้มีทางเลือกที่ดีขึ้น ตั้งแต่ต้น และช่วยลดปัญหา Moral Hazard ที่ลูกหนี้จะจงใจผิดนัดชำระ

สำหรับคุณสมบัติลูกหนี้ที่สามารถเข้าร่วมโครงการ หรือเงื่อนไขโครงการ คือ ลูกหนี้ต้องมีประวัติดี ชำระดีต่อเนื่องอย่างน้อย 12 เดือน มีรายได้ประจำ และอายุไม่เกิน 70 ปี อัตราดอกเบี้ยที่คิดจะอยู่ที่ 7-12 % ขึ้นอยู่กับกลุ่มอาชีพ และระยะเวลาผ่อนชำระ

เช่น หากเป็นข้าราชการ ระยะเวลาผ่อนชำระ 1 ปี ดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 7 % พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างองค์กรรัฐ กำหนดผ่อนชำระ 2 ปี ดอกเบี้ย 8 % ผู้ที่รายได้ ผ่อน 3 ปีดอกเบี้ย 9 % และหากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้มากกว่า 5 % ระยะเวลาผ่อนชำระ 4 ปี ดอกเบี้ย 10 %

ขณะที่หากเป็นประชาชนทั่วไป ระยะเวลาผ่อนชำระ 1 ปี ดอกเบี้ย 9 % ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ใช้บัตรเครดิต ผ่อนชำระ 2-3 ปี ดอกเบี้ย 10-11 %และหากกลุ่มนี้มีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้เกิน 8 % กำหนดระยะเวลาการชำระ 4 ปี ดอกเบี้ย 12 % โดยอัตราดอกเบี้ยที่กำหนด จะเป็นการผ่อนชำระคงที่ ระยะเวลาผ่อนชำระ 1-4 ปี

**คาดช่วยลูกหนี้ได้ราว1แสนราย

ทั้งนี้ หากดูประมาณการเบื้องต้น พบว่า ลูกหนี้ที่เข้าข่ายเข้าโครงการได้ โดยเป็นลูกหนี้ที่ผ่อนชำระดีต่อเนื่องอย่างน้อย 12 เดือน ของบัตรเครดิต อยู่ที่ 3 ล้านบัญชี วงเงิน 9 หมื่นล้านบาท บัตรกดเงินสด 1.7 ล้านบัญชี วงเงิน 6 หมื่นล้านบาท รวมทั้งสองบัญชีแล้ว จะมีจำนวนบัญชีที่เข้าข่ายทั้งหมด 4.7 ล้านบัญชี หรือยอดเงินรวม 1.5 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเข้าไปช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้ดีที่มีหนี้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย โดยคิดดอกเบี้ยอยู่ที่ 7 % คาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้ได้ถึง 1 แสนคน

**ผปก.แนะขีดเงื่อนไขห้ามก่อหนี้ใหม่

ด้านนายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการกรุงศรี คอนซูเมอร์ และผู้บริหารสายงาน ดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรมธนาคารรกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ยังไม่เห็นรายละเอียดที่ชัดเจนของโครงการนี้ แต่หากดูการรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดที่ให้กับลูกค้าอยู่แล้ว พบว่า ส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะลูกหนี้มักนำหนี้เดิมมารีไฟแนนซ์เพื่อลดดอกเบี้ยเท่านั้น ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ไปเปิดบัญชีใหม่อีก ดังนั้นโครงการรีไฟแนนซ์หนี้จึงอาจไม่ได้ช่วยลดภาระลงจริงๆ ทำให้การรีไฟแนนซ์หนี้ที่ผ่านมาไม่ได้ประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม หากจะให้โครงการรีไฟแนนซ์หนี้สำเร็จ และมีประสิทธิภาพ ลูกหนี้ที่เข้าโครงการ จะต้องปิดบัญชีไปเลย และต้องห้ามก่อหนี้ใหม่ และคนที่เข้าโครงการต้องมีลิสต์ขึ้นที่เครดิตบูโร เพื่อให้แบงก์ทราบว่า ลูกหนี้รายดังกล่าวอยู่ระหว่างการเข้าโครงการรีไฟแนนซ์ เพื่อป้องกันก่อหนี้ใหม่ ซึ่งหากทำแบบนี้ได้เชื่อว่า จะเป็นสิ่งที่ดี และทำให้การแก้ไขปัญหา ลดภาระลูกหนี้ทำได้จริงและมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ต้องให้ผู้ให้บริการบัตรเครดิต บัตรกดเงินสดเข้าสู่ระบบทุกราย ไม่งั้นจะเกิดความเหลื่อมล้ำ หรือมีผลกระทบต่อผู้ที่เข้าโครงการได้

“หากลูกหนี้ถือบัตรเครดิตอยู่ 3 บัตรแล้วเอา เข้ามารีไฟแนนซ์แค่บัตรเดียว โดยไม่ให้ต้องปิดบัตรที่เหลือ โอกาสที่คนนี้จะไปสร้างหนี้ใหม่ก็มีเพิ่มขึ้น เราก็บังคับเข้าไม่ได้ ดังนั้นโครงการนี้ก็จะไม่ช่วยจริงๆ แต่หากโครงการนี้บังคับให้ลูกหนี้ที่เข้าโครงการ ปิดหนี้ทั้งหมด และกำหนดว่าไม่สามารถสร้างหนี้ใหม่เหล่านี้ดีอีกจนกว่าจะชำระหนี้ครบตามกำหนด อันนี้ก็จะช่วยได้”

**‘กรุงไทย’พร้อมอุ้มลูกหนี้ดี

นายผยงศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ ปรับโครงการหนี้ รีไฟแนนซ์หนี้ที่ผ่านมา ธนาคารได้เข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้อยู่แล้วและมีการประสานงานกับหน่วยงานรัฐ และธปท.อย่างต่อเนื่อง เพื่อเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ และสิ่งที่กรุงไทยทำมาโดยตลอดคือ ธนาคารพยายามเข้าไปประคอง และช่วยเหลือลูกหนี้ ขึ้นอยู่กับภาวะการณ์ต่างๆ ดังนั้นตราบใดที่ลูกหนี้ไม่ทุจริต ธนาคารก็พร้อมเข้าไปช่วยอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม การเข้าไปช่วยเหลือต่างๆ ผ่านโครงการต่างๆในอนาคต ก็ต้องคำนึงถึง มาตรฐานทางบัญชี หรือ TSRS9ด้วย  ดังนั้นการเข้าไปช่วยเหลือด้านดอกเบี้ยต่างๆ จำเป็นที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ และพิจารณาดูว่า สอดคล้องกับกลไกตลาด หรือต้นทุนของธนาคาร หรือถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ด้วย 

**“นอนแบงก์”หนุนอุ้มลูกหนี้ดี

นางสาวพิชามน จิตรเป็นธรรม ผู้อำนวยการ ธุรกิจสินเชื่อบุคคล บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวถือเป็นเรื่องดี ที่จะช่วยให้ลูกหนี้ดีมีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดก็ถือว่าต่ำมาก แต่ทั้งนี้ตามควรพิจารณาถึงการแก้ปัญหาที่ให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ทั้งจำนวนมากกว่า เพราะในอนาคตถึงแม้จะเป็นลูกหนี้ดีแต่มีโอกาสที่อาจก่อหนี้เพิ่มเติมจากบัตรกดเงินสด อย่างไรก็ตามต้องรอดูรายละเอียดที่ประกาศชัดเจนก่อน ปัจจุบันสินเชื่อบุคคล มีจำนวนทั้งสิ้น 13 ล้านบัญชี เป็นมูลหนี้ประมาณ 4 แสนล้านบาท

แหล่งข่าวธุรกิจบัตรเครดิตนอนแบงก์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวถือเป็นเรื่องดีสำหรับลูกหนี้ประวัติดี คงต้องรอดูรายละเอียดชัดเจนก็ว่าการขอความร่วมมือสถาบันการเงินทุกแห่งแบบสมัครใจหรือบังคับ และให้สิทธิลูกหนี้ดีรายเดิมหรือรายใหม่ อีกทั้งในเรื่องดอกเบี้ยตามที่กำหนดถือว่าถูกมาก ซึ่งในการดำเนินธุรกิจของนอนแบงก์ต้องพิจารณาถึงการปล่อยสินเชื่อที่คุ้มต้นทุนด้วย