BTS ยันไร้แผนเพิ่มทุนช่วง 3 ปี แม้ประมูลงานใหม่ได้อื้อ

BTS ยันไร้แผนเพิ่มทุนช่วง 3 ปี แม้ประมูลงานใหม่ได้อื้อ

‘บีทีเอส กรุ๊ป’ ยันไม่มีแผนเพิ่มทุนในช่วง 3 ปี แม้ได้งานประมูลใหม่เพิ่ม เหตุ มีกระแสเงินสดสูง ดี/อี ต่ำ พร้อม แจงสาเหตุเข้าถือหุ้นบจ.หลายแห่ง หวังหนุนธุรกิจ -ได้เงินปันผล หลังสภาพคล่องเงินทุนล้น พร้อมคาดผลการดำเนินงานปีหนี้เติบโตต่อเนื่อง

นายสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผยว่า บริษัทไม่มีแผนการเพิ่มทุน ในช่วง 3 ปีนี้ แม้ได้งานใหม่เพิ่มจากการชนะประมูลโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 2 เส้นทาง คือ บางปะอิน-นครราชสีมา และ บางใหญ่ -กาญจนบุรี ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามกับกรมทางหลวงได้ในช่วงต้นปี 2563 และหากได้งานพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา รวมถึง การประมูลรถไฟฟ้าสายอื่นๆเพิ่ม ฯลฯ เพราะ บริษัทมีกระแสเงินสดและเงินลงทุนมีสภาพคล่องเทียบเท่าเงินสด 1.8 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนก.ย.2562 และ บริษัทมีหนี้สินต่อทุนเพียง 0.9 เท่ายังมีความสามารถในการกู้ได้มากพอสมควร

‘บริษัทยังไม่มีแผนเพิ่มทุนในช่วง 3 ปี นี้ แม้จะมีการชนะการประมูลต่างๆที่ได้มีการยื่นประมูลไปแล้ว เพราะ บริษัทมีกระแสเงินสดในมือที่สูง ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างนั้น บริษัทได้มีการจัดหาแหล่งเงินทุนไปหมดแล้ว ทั้งการลงทุนในรถไฟฟ้าสีเหลืองและสีชมพู รถไฟฟ้าสายสีเขียว ฯลฯ’

ทั้งนี้ในช่วงเดือนพ.ย. 2562 มีผู้ถือหุ้นใช้สิทธิใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท (BTS-W4) เมื่อรวมกับการใช้สิทธิครั้งก่อน ได้เงินรวม 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ 80 % ของเงินที่ได้จากBTS-W4 จะนำไปชำคืนหนี้ โดยจะทำให้บริษัทลดภาระดอกเบี้ยได้ปีละ 200 ล้านบาท และ ทำให้กำไรต่อหุ้น ( EPS)ของบริษัทปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่าจะทำให้อัตราหนี้สินต่อทุนของบริษัทลดลงเหลือประมาณ 0.8 เท่า

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาบริษัทได้มีการเข้าไปถือหุ้น ในบริษัทจดทะเบียน หลายแห่ง เช่น บมจ. อาร์เอส ( RS) , บมจ. คอมเซเว่น ( COM7) บมจ. สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง ( SPI) ฯลฯ เพราะบริษัทมีสภาพคล่องทางการเงินที่สูง และสามารถต่อยอดธุรกิจร่วมกันได้ (synergy) เช่น SPI นั้น ทาง Lawson 108 ได้มีการเปิดสาขาบนสถานี BTS และ ยังได้รับผลตอบแทนการลงทุนเป็นเงินปันผลอีกด้วย

นายสุรยุทธ กล่าวถึง ความคืบหน้าการต่อสัญญาสัมปทาน รถไฟฟ้าสายสีเขียว ต่อไปอีก 30 ปี ว่า ทางบริษัทฯ ได้มีการเจรจาร่างสัญญาไปเรียบร้อยแล้ว ส่งเรื่องให้กับทางกระทรวงมหาดไทยแล้ว ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทยส่งให้คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจพิจารณาแล้วเช่นกัน ในเดือนพ.ย.2562 ขณะนี้รอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะเข้าครม.ได้ทันภายในปีนี้หรือไม่ ส่วนแผนการเข้าประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม นั้นคาดว่าจะออก ประกาศเชิญชวนเข้าร่วมประมูล (TOR)ได้ในปลายไตรมาส1ปี 2563 หรือ ต้นไตรมาส 2ปี 2563

สำหรับผลการดำเนินงานปีงวดปี 2562/2563 (เม.ย.62-มี.ค. 63) เติบโตต่อจากงวดปี 2561/2562 (เม.ย.61-มี.ค.62 ) ที่มีรายได้รวม 4.9 หมื่นล้านบาท เนื่องจาก คาดว่าจะมี คาดมีรายได้จากงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง มูลค่า 2.3-2.7 หมื่นล้านบาท มีรายได้จากการขายและติดตั้งระบบไฟฟ้า และเครื่องกล ( E&M) มูลค่า 4-6 พันล้านบาท มีรายได้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการการระบบรถไฟฟ้า ( O&M) 3.4 พันล้านบาท รายได้จากการให้บริการเดินรถ 1.5-1.9 พันล้านบาท ขณะกลุ่มธุรกิจโฆษณาคาดมีรายได้จำนวน 6-6.2 พันล้านบาท ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คาดมีรายได้รวม 350 ล้านบาท และรับรู้รายได้จากบมจ. ยู ซิตี้ ( U) จำนวน 7.2-7.5 พันล้านบาท