'บสย.'จ่อผุดโปรเจคใหม่ช่วยเอสเอ็มอี หลังยอดปฏิเสธสินเชื่อพุ่ง

'บสย.'จ่อผุดโปรเจคใหม่ช่วยเอสเอ็มอี หลังยอดปฏิเสธสินเชื่อพุ่ง

“บสย.” เตรียมออกโครงการค้ำประกันใหม่  เพื่อช่วยเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน หลังพบ  หลังพบแบงก์ปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้นแตะ  40% ขยับขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ 26% ตั้งเป้ายอดค้ำประกันปีหน้าเป็น 1 แสนล้านบาท  

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ บสย.สามารถค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยอยู่ที่  1 หมื่นล้านบาทต่อเดือน จากเดิมมียอดค้ำประกันเฉลี่ยประมาณ 6-7 พันล้านบาทต่อเดือน คาดทั้งปียอดค้ำประกันดังกล่าวจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ประมาณ 9 หมื่นล้านบาท โดยปัจจุบันยอดค้ำประกันอยู่ที่ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท

สาเหตุที่ยอดค้ำประกันสินเชื่อเพิ่มขึ้นนั้น เป็นผลจากที่โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Schemeระยะที่8 (PGS 8)ที่บสย.ได้ออกไปก่อนหน้านี้ ที่ทำให้บสย.สามารถเข้าไปค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพิ่มมากขึ้น

“สภาพธุรกิจและเศรษฐกิจในปีนี้แย่กว่าปีที่ผ่านมา ธุรกิจขายของได้ยากกว่า แต่ยอดค้ำประกันสินเชื่อเราดีขึ้น ก็รู้สึกดีใจที่บสย.สามารถค้ำประกันสินเชื่อเพิ่มขึ้น เพราะถือเป็นการช่วยผู้ประกอบการให้สามารถมีเงินทุนในการทำธุรกิจ ในยุคที่ธนาคารเข้มงวดปล่อยกู้ โดยในปีหน้าตั้งเป้าหมายค้ำประกันสินเชื่อไว้ที่ 1แสนล้านบาท”

สำหรับโครงการPGS 8ดังกล่าว จะจูงใจให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เนื่องจากฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกันที่คิดกับผู้ประกอบการปีละ 1.75% เป็นเวลา2ปี จากเดิมฟรีค่าธรรมเนียมให้เพียงแค่1ปี นอกจากนี้ บสย.ได้เพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันสินเชื่อให้ธนาคารถึง 30%จากเดิม 22% รวมถึงลดค่าธรรมเนียมค้ำประกันเพิ่มเติมในปีที่ 3 หากธนาคารมีการช่วยเหลือลูกค้าเพิ่มเติม ทำให้ธนาคารกล้าปล่อยกู้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากขึ้น

เขากล่าวด้วยว่า ในปีหน้าโจทย์ที่ยาก คือ ทำอย่างไรให้ธนาคารทั้ง 18 แห่ง ปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ  โดย จากสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) พบว่า ที่ผ่านมาธนาคารมียอดการปฏิเสธการปล่อยสินเชื่อสูงถึง 40% จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ระดับ 26% ซึ่งถือว่ายอดปฏิเสธสินเชื่อสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งบสย.เข้าใจธนาคารว่ากลัวความเสี่ยง เนื่องจากคนไม่ซื้อของ แม้ธุรกิจจะขายของได้ แต่ก็ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็ง ทำให้เงินที่ขายเป็นดอลลาร์สหรัฐ เมื่อแปลงมาเป็นเงินบาทได้น้อยลง

“เราพบว่า ธุรกิจอยากได้เงินทุนมากขึ้น แต่ธนาคารไม่ปล่อยกู้ให้ เช่น เมื่อก่อนมีรายรับ100บาท จ่ายหนี้ไป80บาท ธนาคารปล่อยกู้เพิ่มให้เต็ม100บาท แต่ทุกวันนี้มีรายได้100บาท เป็นหนี้เดิม60บาท ธนาคารก็ไม่ปล่อยแล้ว ดังนั้น บสย.อยู่ระหว่างการคิดว่าในปีหน้าจะมีโครงการค้ำประกันสินเชื่อแบบไหนมาต่อสู้กับการปฏิเสธสินเชื่อดังกล่าวของธนาคารต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น”

นอกจากนี้ บสย.จะพยายามหารือกับธนาคารต่างๆ ให้เข้าไปช่วยดูลูกหนี้ที่กำลังตกชั้นเป็นหนี้เสีย(เอ็นพีแอล) ซึ่งมีเวลา90วัน ก่อนถูกบันทึกเป็นหนี้เสีย เพื่อทำให้ลูกหนี้กลุ่มนี้กลับมาเป็นลูกหนี้ปกติทำให้ไม่เกิดปัญหาหนี้เสียในระบบ และยังเป็นการช่วยเหลือลูกค้าให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ขณะเดียวกันยังช่วยลดหนี้เสียของลูกค้าที่บสย.เข้าไปค้ำประกันอีกด้วย  โดยล่าสุดหนี้เสียที่บสย.รับจากธนาคารมาเหลือ0.89%ต่อปี จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ระดับกว่า1%ต่อปี

157587781416