เข้าใจหนี้ครัวเรือน ว่าด้วยหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์

เข้าใจหนี้ครัวเรือน ว่าด้วยหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์

มาทำความเข้าใจเรื่องสหกรณ์ออมทรัพย์ แหล่งเงินกู้สำคัญของภาคครัวเรือนไทย ที่ล่าสุด ธปท.รายงานสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงถึง 78.7% โดยเป็นการกู้ยืมจากสหกรณ์ออมทรัพย์ถึง 16%

เมื่อพูดถึง สหกรณ์ออมทรัพย์ (Savings Cooperative) คนทั่วไปมักจะนึกถึงการเป็นแหล่งเงินกู้ของสมาชิกสหกรณ์ มีเงินกู้ฉุกเฉิน เงินกู้เพื่อเปิดภาคเรียน ฯลฯ โดยเฉพาะในแวดวงข้าราชการจะคุ้นเคยกับสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นอย่างดี เนื่องจากได้พึ่งพาและใช้บริการการเงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ของหน่วยราชการต่างๆ อยู่เสมอ

สำหรับประเทศไทยมีสหกรณ์ออมทรัพย์ 2 ประเภท คือ สหกรณ์เครดิตยูเนียน (สหกรณ์ออมทรัพย์สำหรับสมาชิกที่ไม่มีรายได้ประจำ) และ สหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีรายได้ประจำ การดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์มีหลักการพื้นฐานของเช่นเดียวกับสหกรณ์ทั่วไป คือการช่วยเหลือสมาชิก โดยใช้หลักของความเท่าเทียมและการมีผลประโยชน์ร่วมกัน สหกรณ์จะอยู่ได้เพราะสมาชิกซื่อสัตย์และมีการตรวจสอบเชื่อใจกัน สมาชิกแต่ละคนมีเสียงเพียงหนึ่งเสียงไม่ว่าจะถือหุ้นมากหรือน้อยเพียงใด ต่างกับกรณีการถือหุ้นสถาบันการเงินที่สิทธิออกเสียงขั้นกับจำนวนหุ้นของผู้ถือหุ้น เมื่อสหกรณ์มีความมั่นคง มีผลประกอบการดี สมาชิกก็จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนกลับในรูปเงินปันผล

สหกรณ์ออมทรัพย์ ถือเป็นสถาบันการเงินรูปแบบหนึ่งที่มีบทบาทในการระดมเงินออมของประชาชนรายย่อย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกเข้มงวดกับการออมทรัพย์เพื่อที่จะมีเงินเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็น ในภาพรวมถือว่ามีบทบาทที่สำคัญไม่แพ้สถาบันการเงินหรือธนาคารในระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพราะจากจำนวนสินทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วประเทศในแต่ละปี ทำให้สหกรณ์ออมทรัพย์มีความสำคัญในด้านการส่งเสริมการออมอีกสถาบันหนึ่ง

157587717651

  • หนี้ครัวเรือนอันเกิดจากสหกรณ์ออมทรัพย์

จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาส 2/2562 อยู่ที่ 78.7% โดยเป็นการกู้ยืมจากสหกรณ์ออมทรัพย์ 16% รองจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ สะท้อนถึงความสำคัญของสหกรณ์ออมทรัพย์ในการเป็นแหล่งเงินให้กู้ยืมที่สำคัญของภาคครัวเรือน เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของวัตถุประสงค์การกู้ยืมของสมาชิกสหกรณ์ พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ การกู้ยืมเพื่อนำไปชำระหนี้สินเดิม 26% ใช้สอยส่วนตัว 24% และใช้จ่ายด้านอื่นๆ 13% แตกต่างจากการกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ที่ส่วนใหญ่เป็นการกู้เพื่อซื้อบ้านและรถยนต์

  • สถานภาพสหกรณ์ออมทรัพย์ในประเทศไทย

ประเทศไทยมีสหกรณ์ทั้งสิ้น 8,074 แห่ง โดยมีสหกรณ์ออมทรัพย์เพียง 1,394 แห่ง มีสมาชิกมากกว่า 3 ล้านคน สามารถแบ่งสหกรณ์ออมทรัพย์ออกเป็น 8 ประเภทตามกลุ่มอาชีพ ได้แก่ 1.มหาวิทยาลัย 2.ครู 3.ทหาร 4.ตำรวจ 5.โรงพยาบาล 6.ส่วนราชการ 7.รัฐวิสาหกิจ และ 8.ภาคเอกชน โดยสหกรณ์ออมทรัพย์ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคเอกชน คิดเป็น 40% ของจำนวนสหกรณ์ออมทรัพย์ทั้งหมด แต่หากพิจารณาด้านขนาดสินทรัพย์ พบว่าสหกรณ์ครูมีขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ที่ 35% ของสินทรัพย์ทั้งหมด

สหกรณ์ออมทรัพย์แม้จะมีจำนวนเพียง 1,394 แห่ง แต่มีมูลค่าสินทรัพย์อยู่ที่ 2,059,457 ล้านบาท การขยายตัวของสินทรัพย์สหกรณ์ส่วนใหญ่มาจากการขยายตัวของเงินให้สินเชื่อ โดยเงินให้สินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่ 169 แห่ง ณ สิ้นปี 2559 อยู่ที่ 1.8 ล้านล้านบาท สอดคล้องกับสินทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ขยายตัวมาอยู่ที่ 2.5 ล้านล้านบาท นอกจากนี้พบว่าสัดส่วนเงินฝาก และเงินให้กู้ที่ส่วนใหญ่เป็นของสหกรณ์ครู อยู่ที่ 25% และ 43% ของปริมาณทั้งหมดตามลำดับ

157587788864

หากพิจารณาโครงสร้างทางการเงินทั้งในด้านแหล่งที่มาและการใช้ไปของเงินทุน แบ่งสหกรณ์ออมทรัพย์ได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

1.สหกรณ์ที่มีเงินเหลือ (surplus) หมายถึง สหกรณ์ที่มีเงินทุนภายในเกินกว่าความต้องการกู้ยืมของสมาชิก (เงินให้กู้แก่สมาชิก) ได้แก่ มหาวิทยาลัย รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน ส่วนราชการ และทหาร

2.สหกรณ์ที่เงินขาด (deficit) หมายถึง สหกรณ์ที่มีเงินทุนภายใน ไม่เพียงพอกับความต้องการกู้ยืมของสมาชิก ได้แก่ ครู ตำรวจ และโรงพยาบาล

ขณะเดียวที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ไตรมาส 2/2562 อยู่ที่ 78.7% เป็นการกู้ยืมจากสหกรณ์ออมทรัพย์ 16% รองจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ สะท้อนถึงความสำคัญของสหกรณ์ออมทรัพย์ในการเป็นแหล่งเงินให้กู้ยืมที่สำคัญของภาคครัวเรือน!! เพื่อนำไปชำระหนี้สินเดิม 26% ใช้สอยส่วนตัว 24% และใช้จ่ายด้านอื่นๆ 13% แตกต่างจากการกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ที่ส่วนใหญ่เป็นการกู้เพื่อซื้อบ้านและรถยนต์

  • สถานการณ์ความเสี่ยงของสหกรณ์ออมทรัพย์

กระทรวงศึกษาธิการออกมาระบุว่า ครูและบุคลากรทางการศึกษามีหนี้ในระบบราว 1.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ที่กู้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูและแหล่งกู้อื่น 7 แสนกว่าล้านบาท หรือ 60% และหนี้ที่กู้กับธนาคารออมสินผ่านโครงการสวัสดิการเงินกู้กองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) 4.7 แสนล้านบาท กว่า 65,000 คน ยังไม่นับถึงหนี้นอกระบบซึ่งยังไม่มีหน่วยงานไหนรวบรวมจากครู 4.5 แสนคน ได้อย่างเป็นรูปธรรม ยังไม่มีการจำแนกว่ามีครูผู้สอนจริงๆ เป็นหนี้จำนวนเท่าไร และเป็นบุคลากรทางการศึกษาเท่าไร แต่มีการคาดการณ์กันว่า ทั้งหมดรวมกันเป็นตัวเลขที่สูงกว่า "ครึ่งหนึ่ง" ของงบประมาณแผ่นดิน!! หรือสูงกว่า 2 ล้านล้านบาท

  • สหกรณ์ออมทรัพย์ไม่ได้เป็นสมาชิกเครดิตบูโร

สหกรณ์ออมทรัพย์ส่วนใหญ่ยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ส่งผลให้การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของสหกรณ์ขาดการประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของสมาชิกอย่างรอบด้าน เพราะสหกรณ์ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลภาระหนี้สินอื่นของสมาชิกได้ ประกอบกับสหกรณ์ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย จึงทำให้มาตรการดูแลหนี้ครัวเรือนต่างๆ ที่ออกมาไม่ครอบคลุมถึงการกู้ยืมผ่านสหกรณ์ และเป็นการบ่งชี้ว่าปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนยังคงเป็นประเด็นที่น่ากังวลอยู่ โดยเฉพาะการก่อหนี้ที่อยู่นอกระบบธนาคารพาณิชย์ อย่างสหกรณ์ออมทรัพย์

  • ความเสี่ยงของกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เงินขาด deficit

สหกรณ์ที่อยู่ในกลุ่มเงินขาดจะประกอบด้วยกลุ่มอาชีพที่มีรายได้ประจำเป็นรายเดือน (ครู ตำรวจ และโรงพยาบาล) แต่จากสัดส่วนดอกเบี้ยค้างรับ (accrued interest receivable) เทียบกับสินทรัพย์รวม (total asset) ที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหกรณ์ครู สะท้อนถึงความสามารถในการชำระหนี้ของสมาชิกที่มีแนวโน้มด้อยลง และความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของสมาชิกเพิ่มสูงขึ้น

ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง จากปัญหาเงินทุนภายในสหกรณ์มีไม่เพียงพอกับการกู้ยืมของสมาชิก ส่งผลให้สหกรณ์ต้องระดมเงินจากแหล่งเงินทุนภายนอกผ่านการกู้ยืมสหกรณ์อื่น ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 4 ของเงินทุนทั้งหมด หมายความว่า กรณีที่ผู้ให้กู้มีเหตุให้ต้องหยุดหรือลดสัดส่วนการให้กู้อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อการบริหารจัดการด้านสภาพคล่องของสหกรณ์กลุ่มนี้

  • ความเสี่ยงของกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เงินเหลือ surplus

ความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของสหกรณ์อื่น ในฐานะที่กลุ่มเงินเหลือเป็นหนึ่งในแหล่งเงินทุนสำคัญของกลุ่มเงินขาดผ่านการให้กู้ยืมทั้งระยะสั้นและระยะยาวนั้น อาจทำให้สหกรณ์เจ้าหนี้มีความเสี่ยงที่สหกรณ์ลูกหนี้อาจไม่สามารถชำระหนี้ได้จากการบริหารจัดการที่ผิดพลาด หรือการผิดนัดชำระของสมาชิกสหกรณ์แห่งนั้นๆ การแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ในยุคที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับจำนวนเงินที่เหลือค่อนข้างมากและพันธกิจที่ต้องการจ่ายคืนผลตอบแทนแก่สมาชิก ส่งผลให้สหกรณ์บางแห่งนำเงินส่วนที่เหลือไปแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นผ่านการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ในสัดส่วนที่สูงขึ้นและสูงเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 

การลงทุนดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสหกรณ์ได้ หากเป็นการกระทำที่มีความเสี่ยงสูงที่ทำลงไปโดยขาดความรู้และความเข้าใจ