APP ลุยอินโดนีเซีย ดันเป้า 'แถวหน้า' อาเซียน

APP ลุยอินโดนีเซีย ดันเป้า 'แถวหน้า' อาเซียน

ไม่ควรละเลยโอกาสลงทุนในต่างแดน ! 'ประภาส ตั้งอดุลย์รัตน์' ผู้ก่อตั้ง 'แอพพลิแคด' ยืนยัน หลังชิมล่างตลาดอินโดนีเซียมาตั้งแต่ 2556 ปีนี้จะพลิกกำไรครั้งแรก ก่อนขยับสเต็ปในประเทศอื่นต่อไป ด้านเมืองไทยเงินทุนพร้อมผลักดันขีดความสามารถประมูลงานไซด์ใหญ่ขึ้น

กระแสการตื่นตัวการเข้าสู่ 'ยุคดิจิทัล' ทั้งรัฐและเอกชน บ่งชี้ผ่านนโยบาย Thailand 4.0 กำลังเป็นความหวังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม หวังต่อกรกับการเปลี่ยนแปลงโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วม (Digital Transformation) ถือเป็น 'ปัจจัยบวก' ช่วยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ ! 

สอดคล้องกับผลประกอบการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2559-2561) มีรายได้รวมจำนวน 540.39 ล้านบาท 563.48 ล้านบาท และ 738.96 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 21.23 ล้านบาท 27.73 ล้านบาท และ 75.24 ล้านบาท ตามลำดับ ล่าสุดงวด 9 เดือนแรกปี 2562 มีรายได้รวมจำนวน 569.30 ล้านบาท กำไรขั้นต้นรวมจำนวน 263.98 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้นเท่ากับ 46.89% และกำไรสุทธิอยู่ที่ 49.59 ล้านบาท คิดเป็นอัตราอัตรากำไรสุทธิเท่ากับ 8.71% 

อาจจะเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ หุ้น แอพพลิแคด หรือ APP เข้าซื้อขาย (เทรด) วันแรกสามารถยืนราคาจองที่ 2.90 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 17.89% จากไอพีโอ 2.46 บาทต่อหุ้น ถือเป็นการให้ผลตอบแทนผู้ถือหุ้นราว 23.58% จากไอพีโอ...

ปัจจุบัน APP ประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายโซลูชั่นด้านการออกแบบอย่างครบวงจร ทั้งซอฟต์แวร์สำหรับออกแบบอุตสาหกรรม (MEC) และสถาปัตยกรรมและการก่อสร้าง (AEC) รวมถึงผลิตภัณฑ์ด้านการออกแบบ 3 มิติ (Hardware) ได้แก่ เครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) และเครื่องสแกน 3 มิติ ตลอดจนการให้บริการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่อง โดยกลุ่มบริษัทได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายจากผู้ผลิตซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์แบรนด์ชั้นนำ 

โดยธุรกิจหลักของบริษัทประกอบด้วย 'ธุรกิจจัดจำหน่ายซอฟต์แวร์สำหรับการออกแบบ' เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้แก่กลุ่มบริษัทได้แก่ ซอฟต์แวร์สำหรับการออกแบบอุตสาหกรรม (MEC) ซอฟต์แวร์สำหรับการออกแบบสถาปัตยกรรมและการก่อสร้าง (AEC) 'ธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านการออกแบบ 3 มิติ' (ฮาร์ดแวร์) ได้แก่ เครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3D Printer) และเครื่องสแกน 3 มิติ (3D Scanner) รวมถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง และ 'ธุรกิจการบริการและฝึกอบรมการใช้งานซอฟต์แวร์' ผ่านบริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท ดีอีทีไอ จำกัด และ บริษัท แรบบิท โปรโตไทป์ จำกัด ซึ่งปัจจุบันบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 99.99% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด 

'ประภาส ตั้งอดุลย์รัตน์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอพพลิแคด หรือ APP ถือโอกาสฉายภาพธุรกิจให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า แม้โอกาสการขยายตัวของกิจการจัดจำหน่ายโซลูชั่นด้านการออกแบบอย่างครบวงจร ทั้งซอฟต์แวร์สำหรับออกแบบอุตสาหกรรม (MEC) และสถาปัตยกรรมและการก่อสร้าง (AEC) รวมถึงผลิตภัณฑ์ด้านการออกแบบ 3 มิติ (Hardware) ในประเทศยังมีอยู่ค่อนข้างมาก แต่ไม่ควรหลงลืมที่จะออกไปแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในต่างประเทศด้วย

เมื่อราว 5 ปีก่อน บริษัทมองเห็น 'โอกาสขยายการลงทุนใหม่' ในตลาดต่างแดน และหนึ่งในนั้นคือ 'ประเทศอินโดนีเซีย' ผ่าน PT. Indonesia AppliCAD (APP Indo) บริษัทย่อย ซึ่งประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายโซลูชั่นด้านการออกแบบ 3 มิติ ซึ่งบริษัท ถือหุ้นในสัดส่วน 67% ถือเป็นโอกาสที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายในการเป็น 'บริษัทชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน' ในการจัดจำหน่ายโซลูชั่นด้านการออกแบบ เพื่อการผลิตและการก่อสร้างแบบครบวงจรอย่างครบวงจร 

ประเทศอินโดนีเซียคือ 'กลยุทธ์สำคัญ' ที่จะช่วยให้กลุ่มบริษัทมีอำนาจต่อรองกับคู่ค้ามากขึ้น อีกทั้ง ช่วยเพิ่มโอกาสในการสรรหาซอฟต์แวร์ และผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพ รวมถึง โอกาสในการเติบโตไปในระดับภูมิภาค ซึ่งถือเป็นเป้าหมายการดำเนินธุรกิจที่สำคัญของบริษัท สะท้อนผ่านอินโดนีเซียมีตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจเฉลี่ยปีละ 6-7%  

นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาขยายตลาดในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันที่มีตลาดในประเทศอินโดนีเซียเพียงแห่งเดียว ซึ่งสัดส่วนรายได้มีการเติบโตคิดเป็น 5% ของรายได้รวม ขณะเดียวกันบริษัทเชื่อมั่นว่าตลาดในอินโดนีเซียยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก จากจำนวนประชากร และเศรษฐกิจที่ขยายตัวในระดับสูง 

'ปีนี้เราจะเห็นตัวเลขผลประกอบการในประเทศอินโดนีเซียพลิกเป็นกำไรสุทธิเป็นปีแรก จากช่วงที่ผ่านมามีผลขาดทุนสุทธิมาตลอด' 

เมื่อถามถึงแผนขยายงานในประเทศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ถือโอกาสเล่าสถานการณ์ว่า หลังจากบริษัทได้เงินระดมทุนแล้วถือว่าจะได้เปรียบในธุรกิจมหาศาลเนื่องจากธุรกิจของ APP เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ดังนั้น กระแสเงินสดจะเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะว่าอนาคตไม่สามารถรู้ว่าเทคโนโลยีใหม่จะเข้ามาตอนไหน ซึ่งสิ่งที่บริษัททำได้คือการเตรียมเงินทุนให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีตลอด 

'เงินระดมทุนในตลาดหุ้น สร้างความได้เปรียบของเราได้มาก โดยเฉพาะธุรกิจกำลังจะเข้าสู่วงจรวิกฤติขาลงของโรงงาน ผมเชื่อว่าผู้ประกอบการที่มีเงินสดในมือจะได้เปรียบคนอื่นๆ จากโอกาสเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป'   

ขณะที่ในแง่ของการเข้าประมูลงานเช่นกันหลังมีเงินระดมทุนแล้ว จะทำให้บริษัทมีขีดความสามารถการเข้าประมูลงานขนาดใหญ่ขึ้น จากก่อนเข้าระดมทุนขีดความสามารถในการเข้าประมูลงานอยู่ที่ประมาณ 30 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเป้าหมายในการเข้าประมูลงานในอนาคตที่กำลังส่งผลดีอย่างโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยธุรกิจของบริษัทมีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกอุตสาหกรรมที่รัฐบาลสนับสนุน 

'แผนการเข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นจะช่วยเสริมความแข็งแกร่ง เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและขยายตลาดได้มากขึ้น และจะสะท้อนถึงผลประกอบการที่จะเติบโตอย่างมั่นคงของ APP' 

นอกจากนี้ บริษัทยังมี 'จุดเด่น' ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ มี 'รายได้จากบริการ Subscription Service' คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของรายได้รวม ซึ่งเป็น 'รายได้ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ' (Recurring Income) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนลูกค้าที่ใช้งานที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากในส่วนของยอดขายซอฟต์แวร์ที่เพิ่มขึ้น และลูกค้าเดิมที่ต่ออายุสัญญาบริการ Subscription ซึ่งปกติแล้วการที่ลูกค้าเลือกใช้ซอฟต์แวร์ใดแล้ว การเปลี่ยนไปใช้ซอฟต์แวร์อื่นจะเป็นไปได้ยากมาก 

สะท้อนผ่านให้จำนวนสัญญา Subscription Service ที่บริษัทให้บริการในปี 2559-งวด 9 เดือนแรกปี 2562 เพิ่มขึ้นจากประมาณ 2,560 สัญญา เป็น 3,101 สัญญา คิดเป็นรายได้เพิ่มขึ้นจาก 156 ล้านเป็น 187 ล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณปีละ 10% 

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายจากเจ้าของผลิตภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์ SolidWorks จาก Dassault Systems SolidWorks Corporation, ซอฟต์แวร์ ArchiCAD จาก Graphisoft SE, เครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3D Printer) Stratasys จาก Stratasys AP Limited และเครื่องสแกน 3 มิติ GOM จาก Gom GmbH. และเพื่อความครบวงจร รวมทั้งกลุ่มบริษัทให้บริการฝึกอบรมการใช้งานซอฟต์แวร์ สำหรับการออกแบบและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และบริการผลิตชิ้นงานต้นแบบ (Prototype) ด้วยเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ 

'การที่บริษัทมีประสบการณ์ในธุรกิจมานานกว่า 25 ปี และให้ความสำคัญอย่างมากในการสรรหาผลิตภัณฑ์ โดยจะเน้นซอฟต์แวร์และผลิตภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย และล้วนแล้วแต่เป็นนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพสูงจากเจ้าของผลิตภัณฑ์ชั้นนำระดับโลกที่จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ความต้องการด้านการออกแบบของลูกค้าทั้งทางด้านอุตสาหกรรม และด้านสถาปัตยกรรมและก่อสร้างอย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร' 

นอกจากนี้ บริษัทยังมี 'ฝ่ายวิจัยและพัฒนา' (R&D) ที่รับผิดชอบในการพัฒนาและนำเสนอโซลูชั่นด้านการออกแบบใหม่ๆ โดยต่อยอดจากผลิตภัณฑ์ที่บริษัทจัดจำหน่ายทำให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและครบวงจร ซึ่งเป็นการสร้างความแตกต่างเมื่อเปรียบเทียบผู้ประกอบการรายอื่น สะท้อนถึงความเป็นผู้นำในธุรกิจจัดจำหน่ายโซลูชั่นด้านการออกแบบ 3 มิติ และให้บริการอย่างครบวงจรไม่ใช่แค่เพียงประเทศไทย แต่เป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน

สำหรับเป้าหมายรายได้บริษัทตั้งเป้าปี 2563 เติบโต 15% จากปีนี้ โดยจะมีรายได้มาจากการให้บริการที่เกิดขึ้นเป็นประจำ หรือรายได้จากบริการ Subscription Service ในสัดส่วน 30% และอีก 70% จะมาจากการเติบโตจากภายใน (Organic Growth) ที่คาดจะมีการเติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก หรือมากกว่า 15%

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ชนิดโลหะ หรือเครื่องปริ้นเหล็ก เป็นต้น และอยู่ระหว่างศึกษาขยายตลาดในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง

'รายได้จากบริการ Subscription Service คิดเป็นสัดส่วน 10% ของรายได้รวม ซึ่งเป็นการให้บริการอัพเกรดซอฟต์แวร์ และบริการบำรุงรักษาเครื่องพิมพ์สามมิติ ที่จะทยอยรับรู้รายได้ตลอดระยะเวลาสัญญาบริการ โดยรายได้ดังกล่าวเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนลูกค้าที่ใช้งานที่เพิ่มขึ้น และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 10%' 

ท้ายสุด 'ประภาส' ทิ้งท้ายไว้ว่า การค้าขายเทคโนโลยี มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ไม่เป็นความเสี่ยงกับบริษัท ยิ่งเปลี่ยนเร็ว จะเป็นตัวเร่งให้ลูกค้ามีการเปลี่ยนแปลงซอฟต์แวร์มากขึ้น เป็นผลดีกับบริษัท

เซลล์สู่เจ้าของธุรกิจ ! 

'ประภาส ตั้งอดุลย์รัตน์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอพพลิแคด หรือ APP เล่าประวัติฉบับย่อให้ฟังว่า บ้านเกิดเป็นคนจังหวัดบุรีรัมย์ โดยครอบครัวทำธุรกิจค้าขายชุดนักเรียน ในเมืองบุรีรัมย์  ซึ่งตนเองเป็น 1 ใน 3 ของเด็กบุรีรัมย์ ที่สอบเทียบเข้าศึกษาเทคโนบางมด (สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ) คณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ 

หลังเรียนจบแล้ว เริ่มต้นมนุษย์เงินเดือนด้วยการเป็นเจ้าหน้าที่ซับพอร์ต ดูแลลูกค้า ให้กับบริษัทขายฮาร์ดแวร์แห่งหนึ่ง ทำงานได้ 1 ปี บริษัทขาดเซลล์ (พนักงานขาย) เลยถูกปั้นให้เป็นเซลล์เอ็นจิเนีย ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเป็นพนักงานขาย 

ด้วยประสบการณ์การค้าขายที่มีอยู่ในสายเลือดจึงได้เริ่มชีวิตการขายของตั้งแต่นั้น แต่ทำได้ไม่นาน ถูกแม่เรียกตัวกลับจังหวัดบุรีรัมย์ และอยู่ได้ไม่นาน เห็นลู่ทางการทำธุรกิจ ซึ่งไปคุยกับต่างชาติเป็นตัวแทนขายซอฟต์แวร์ ตอนนั้นตนเองกู้เงินแม่มาลงทุนซื้ออุปกรณ์สำนักงาน ปี 2537 ตั้งบริษัทห้องแถว เช่าชั้น 2 ของบริษัททัวร์ ย่านพระราม 4 ลูกค้ารายแรกที่ให้โอกาสคือ บมจ. ปตท. หรือ PTT ก่อนจะขยับขยายธุรกิจจนเติบโต !