ปัญหาทุจริตยังอยู่ รู้ธรรมาภิบาล แต่ไม่ปฏิบัติตาม-เกรงใจนาย

"ชวน" ปาฐกถาพิเศษ "มหันตภัย คอร์รัปชั่น 4.0" ชี้ปัญหาทุจริตยังอยู่ เพราะคนรู้หลักธรรมาภิบาล แต่ไม่ปฏิบัติตาม-เกรงใจนาย พร้อมขอ ป.ป.ช. จัดการกลุ่มทุนรับเหมาทิ้งงานหน่วยงานรัฐสร้างความเสียหาย

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 62 นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลส่งเสริมการต่อต้านคอร์รัปชั่น ประจำปี 2562 ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย) พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ “มหันตภัย คอรัปชั่น ยุค 4.0” ตอนหนึ่งว่า ปัญหาคอร์รัปชั่น ที่ยังคงอยู่ในปัจจุบันเป็นเพราะคนไม่ปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งคนส่วนใหญ่จำหลักธรรมาภิบาล 6 ประการ ที่กำหนดในสมัยตนเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีปัจจุบัน ก็ท่องได้ครบ แต่ปัญหาที่พบในยุคปัจจุบัน คือความเกรงใจ ทำให้คดีทุจริตสำคัญๆ มีข้าราชการระดับสูงเข้ามาเกี่ยวข้อง สุดท้ายต้องออกจากราชการ ต้องเข้าคุก เพราะทำหน้าที่ขัดกับหลักธรรมาภิบาล เกรงใจนาย เกรงใจผู้บังคับบัญชา เกรงใจผู้มีพระคุณ เช่น ปลัดกระทรวงบางกระทรวงในอดีต ที่ช่วยนักการเมืองแทรกแซงการแต่งตั้งข้าราชการถึงขั้น เลขาธิการ กพ. ในขณะนั้น เข้ามาแก้ไขระเบียบ การแต่งตั้งบุคคล แต่ถูกร้องเรียนจนถูกให้ออกจากราชการ ทั้งที่คนเล่านี้ไม่ได้มีพื้นฐานเป็นคนโกง แต่ทำเพราะเกรงใจ ตอนนี้ได้รับพระราชทานอภัยโทษไปหมดแล้ว

เช่นเดียวกับ กรณีของ พ.ต.อ.ชาญชัย เนติรัฐการ อดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรโพธิ์แก้ว จ.นครปฐม รุ่นน้องธรรมศาสตร์ไปวิ่งเต้นติดสินบนจำนวน 30 ล้านบาท ให้แก่ ม.ล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ช่วยเหลือในการตัดสินคดียุบพรรคไทยรักไทย เมื่อปี 2549 ทั้งๆ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรค แต่เพราะเกรงใจภรรยา ส่วนภรรยา ก็เกรงใจ คุณหญิง สุดท้ายติดคุก

อย่างไรก็ตามส่วนตัวมองว่าความเกรงใจ เป็นสิ่งงดงาม แต่ปัญหาเกิดเพราะเอาความเกรงใจมาใช้ผิดๆ จึงขอเพิ่ม หลักธรรมาภิบาลเป็น 7 ข้อ คือ
1.หลักนิติธรรม
2. หลักคุณธรรม
3. หลักความโปร่งใส
4. หลักการมีส่วนร่วม
5. หลักความรับผิดชอบ
6. หลักความคุ้มค่า
และ ข้อที่ 7 หลักความไม่เกรงใจ

นอกจากนี้ นายชวน ยังฝากให้ กรรมการ ป.ป.ช. จัดการกับปัญหาทุจริตของผู้รับเหมาก่อสร้างที่มาประมูลงานจากรัฐ แต่กลับดำเนินงานไม่เสร็จ หรือที่เรียกว่าการทิ้งงาน สร้างความเสียหายให้รัฐเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะที่ จ.ตรัง พบมีหลายหน่วยงานได้รับผลกระทบ ทั้งโรงพยาบาล มหาวิทยาลัย ที่มีการประมูลก่อสร้างแต่สร้างไม่เสร็จ ปล่อยเป็นตึกร้าง เนื่องจากบริษัทรับเหมาประมูลต่ำกว่าราคากลาง สุดท้ายไม่สามารถทำได้ จนตนต้องไปขอร้องรัฐบาลจัดสรรงบพิเศษไปช่วยแก้ปัญหา

สมัยนี้เราจะละเลยค่านิยมของเรื่องนี้ เพราะดูจากการหลังการเลือกตั้ง ที่เมื่อก่อนเมื่อมีผลการเลือกตั้งจะมีการพูดว่าคนนี้คนนั้นชนะมาเพราะซื้อการเสียง แต่เดี๋ยวนี้แทบไม่มีใครสนใจในเรื่องนี้กันแล้ว เพียงไม่กี่คนที่เอาจริงเอาจัง มีผลต่อการป้องกันมาก เพราะจะทำให้คนที่กระทำผิดได้รับโทษ ถือวันที่ 9 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันต่อต้านการคอรัปชั่นสากล ถือเป็นวันสำคัญของชาติที่ต้องร่วมกัน ความเกรงใจคือที่มาของการยึดหลักธรรมาภิบาล เรามีสังคมที่งดงาม เพราะมีความเกรงใจ ความเกรงใจเป็นสิ่งที่ดีในสังคมไมย เป็นวัฒนธรรมที่งดงาม ที่ชาติอื่นไม่ค่อยมี แต่เมื่อนำความเกรงใจมาใช่กับเรื่องที่ไม่ควรใช่ก็ทำให้เกิดปัญหาตามมา ธรรมาภิบาล 6 ข้อ ต้องเพิ่มข้อ 7 คือไม่เกรงใจในการปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล

พระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 ปี 2552/2553 เขียนบทความให้ มธ. เรื่องความรับผิดชอบ ที่เขียนเรื่องนี้เพราะเป็นคนชอบอ่านพระบรมราโชวาท และนำไปใช้ ตนอ่านซ้ำเป็นร้อนๆครั้ง ทำไมพระองค์รับสั่งซ้ำ เพราะปกติพระองค์จะไม่มีการรับสั่งซ้ำ คือ “การขอให้ท่านทั้งหลายพิจารณาให้ถ่องแท้ว่าหน้าที่ของท่านคืออะไร และปฏิบัติหน้าที่นั้นให้ดีที่สุด”

เมื่อกฎหมายเราดีอยู่แล้ว สิ่งที่ต้องการคือนักกฎหมายที่ดีแท้ ต้องมองไปถึงการคอรัปชั่นของคน เพราะเหนือสิ่งอื่นใดคือการสร้างคนดี เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นความจริงในชีวิต จะเป็นนักการเมือง ข้าราชการ ปัญหาเรื่องคนดีเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะกำหนดทิศทางบ้านเมืองว่าจะเดินไปในทิศทางใด