ดีเดย์1 ม.ค.63 งดถุงพลาสติกหูหิ้ว ค้าปลีกตั้งเป้าลด 9 พันล้านใบต่อปี 

ดีเดย์1 ม.ค.63 งดถุงพลาสติกหูหิ้ว ค้าปลีกตั้งเป้าลด 9 พันล้านใบต่อปี 

ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วในประเทศไทยมีจำนวนมหาศาลถึง 45,000 ล้านใบต่อปี!! (ข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) โดยบรรดาถุงพลาสติกหูหิ้วมาจาก 3 แหล่งใหญ่

“40%” จากตลาดสด เทศบาล เอกชน และแผงลอย กว่า 18,000 ล้านใบต่อปี  “30%”  มาจากร้านขายของชํา 13,500 ล้านใบต่อปี และอีก “30%”  มาจากห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต  ร้านสะดวกซื้อ 13,500 ล้านใบต่อปีเช่นกัน  นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ยคนละ 8 ใบต่อวันทีเดียว ทําให้มีปริมาณขยะพลาสติกมากถึง 80 ล้านใบต่อวัน!! 

วรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ร่วมกับผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เกต ร้านสะดวกซื้อ และภาคีเครือข่ายสมาคมผู้ค้าปลีกไทยกว่า 40 แห่งทั่วประเทศ ประกาศเจตนารมณ์งดให้บริการถุงพลาสติกทุกวันที่ 4 ของเดือน ตามนโยบายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมไทยเพื่อร่วมกันลดปริมาณขยะถุงพลาสติกที่เป็นปัญหาสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อคุณภาพ ชีวิตของคนและสิ่งมีชีวิตทั่วโลก 

แคมเปญ ลดให้ถุงพลาสติก ช่วยลดขยะมากน้อยแค่ไหนนับแต่เริ่มกิจกรรมตั้งแต่วันที่ 4 ธ.ค. 2561 จนถึง 31 ส.ค.ที่ผ่านมา  ผู้ค้าปลีกใช้หลากหลายวิธีในการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติก นับตั้งแต่ไม่รับถุงพลาสติกได้คะแนนสะสมมูลค่า 1-3 บาท บริจาคเป็นเงินเข้าองค์กรการกุศลต่างๆ ซึ่งช่วยลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วไปแล้วกว่า 2,000 ล้านใบ หรือ 5,755 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 400 ล้านบาท หรือราว 4.6%  

หากนําแคมเปญ งดให้ งดรับถุงพลาสติกหูหิ้วทุกวัน มาใช้ในปี 2563 อย่างจริงจัง คาดว่า จะสามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วได้มากถึง 9,000 ล้านใบต่อปี หรือคิดเป็น 20% ของขยะถุงพลาสติกทั้งหมด!! 

ทั้งนี้ สมาคมฯ ได้หารือสมาชิกห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อและร้านค้าในภาคีเครือข่าย มีฉันทามติอย่างเป็นเอกฉันท์สนับสนุน แคมเปญ “Everyday Say No to Plastic Bags”งดให้ถุงพลาสติกหูหิ้ว นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป พร้อมขยายความความร่วมมือโดยประสานร้านค้าปลีกค้าส่งทั่วประเทศ จากร้านค้าภาคีในเครือข่ายสมาคม 42 ร้านค้า เพิ่มเป็น 75 ร้านค้า เพื่อให้เกิดพลัง!! ในการขับเคลื่อนแคมเปญพร้อมกันทั้งองคาพยพ ที่จะมีช่องทางจําหน่ายกว่า 24,500 ช่องทาง ที่จะงดให้ถุงพลาสติกหูหิ้วอย่างจริงจัง

แน่นอนว่า จะผลักดันแคมเปญ “Everyday Say No to Plastic Bags” ให้บรรลุเป้าหมาย สร้างพฤติกรรมและทัศนคติต่อผู้บริโภคในการร่วม ลด ละ เลิก ขยะพลาสติก ได้เร็วกว่าโรดแมพที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กำหนดว่าถุงพลาสติกจะหมดไปในปี 2571 

อย่างไรก็ดี เพื่อให้มีดำเนินการต่อเนื่องระยะยาวอย่างยั่งยืน สมาคมฯ มี 10 ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ประกอบด้วย 1.ภาครัฐต้องเร่งประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ประชาชนรับทราบและร่วมด้วยช่วยกันงดรับถุงพลาสติกหูหิ้วอย่างทั่วถึง จากข้อมูลการวิจัยผู้บริโภคในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีการรับรู้ต่อแคมเปญงดให้ถุงพลาสติกหูหิ้วที่จะเริ่มวันที่ 1   ม.ค. 2563 เป็นต้นไป แต่ประชาชนในต่างจังหวัดยังรับทราบถึงการประชาสัมพันธ์ดังกล่าวน้อยมาก 

2.ภาครัฐควรศึกษาเส้นทางการจับจ่ายของลูกค้า (Customer Journey) อย่างเข้าใจและเข้าถึง!! เพื่อให้เกิดผลสูงสุด กล่าวคือจะต้องให้ผู้บริโภคตระหนักรู้ตั้งแต่อยู่บ้าน ที่ทำงาน หรือจุดเริ่มต้นของเส้นทางการจับจ่าย ซึ่งการประชาสัมพันธ์ ณ จุดขาย เป็นเพียงการแก้ที่ปลายเหตุเท่านั้น 

3.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมแคมเปญ “EVERYDAY SAY NO TO PLASTICS BAGS” มีสัดส่วนเพียง 1ใน5ขณะที่ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วในไทยมีมากถึง 45,000 ล้านใบต่อปี ภาครัฐต้องเร่งประชาสัมพันธ์ จัดกิจกรรมเชิญชวนให้ภาคส่วนอื่นๆ เข้าร่วม แคมเปญ นับตั้งแต่ร้านค้าปลีกอื่นๆ ตลาดสด เทศบาล เอกชน แผงลอย และร้านขายของชําทั่วประเทศ ซึ่งเป็นผู้ใช้ ปริมาณถุงพลาสติกหูหิ้ว อีก “4ใน5” ของปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วทั้งประเทศ 

4.ภาครัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอและชัดเจนในการทําโครงการรณรงค์ลด ละ เลิก การ ใช้ถุงพลาสติก หูหิ้ว และกำหนดโลโก้ งดให้ถุงพลาสติกหูหิ้ว” เป็นสากลและมาตรฐานเพื่อที่ร้านค้าต่างๆ นำไปเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักรู้แก่ ผู้บริโภค ยกตัวอย่าง ฉลากเบอร์ 5 ลดการใช้พลังงาน” 

6.ภาครัฐควรจัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการลดใช้ งดใช้ถุงพลาสติกเป็นกาลเฉพาะ เพื่อให้ห้าง ร้านค้า ที่เข้าร่วมโครงการ นําเงินที่ผู้บริโภคบริจาคจากการต้องใช้ถุงพลาสติกในกรณีจําเป็น 

7.การลดขยะถุงพลาสติกหูหิ้ว ไม่ควรเป็นเรื่องของความสมัครใจ แต่ควรเป็นเรื่องของการใช้กฎระเบียบบังคับ เพราะสมาชิกสมาคมฯ ได้ดำเนินการเรื่องนี้มาเป็นระยะเวลามากกว่า 5 ปี โดยเป็นภาคสมัครใจและให้ผลประโยชน์ตอบแทนในรูปแบบต่างๆ  แต่ก็ยังได้ผลน้อยมาก 

8.การจะแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกให้ได้ผล ภาครัฐต้องออกเป็นประกาศ กฎกระทรวง ให้มีผลบังคับใช้กับผู้บริโภคทุกคนทั่วประเทศ 

9.การประเมินผลสัมฤทธิ์ของแคมเปญ “Everyday Say No to Plastic Bags” ควรให้การดําเนินแคมเปญผ่านไปแล้ว 6 เดือน เพราะช่วง 6 เดือนแรก ร้านค้าและผู้บริโภคจะต้องปรับตัว ปรับพฤติกรรมให้เตรียมพร้อมในการจับจ่ายแต่ละครั้งด้วยการเตรียมถุงผ้าหรือถุงพลาสติกอื่นๆ ก่อนที่จะเดินเข้าร้าน

10.ภาครัฐต้องประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 6 เดือนแรก!!เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นของโครงการ

ผู้ค้าปลีกมุ่งเป็นแบบอย่างในการรณรงค์ลดขยะพลาสติก สร้างพลังกระตุ้นทุกภาคส่วนขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กันทั้งประเทศ