เทรดวอร์หนุน ‘เอฟดีไอ’ ไทยพุ่ง

เทรดวอร์หนุน ‘เอฟดีไอ’ ไทยพุ่ง

ทุนนอกแห่ย้ายฐานการผลิตเข้าไทย หลัง “สงครามการค้า” ส่อเค้ายืดเยื้อ ขณะ ค่าแรงในจีนสูงขึ้น “ดับบลิวเอชเอ” ชี้เริ่มเห็นการย้ายฐานมาไทยมากขึ้น ทั้งทุน “จีน-ไต้หวัน-ญี่ปุ่น” เผยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มยานยนต์-อิเล็กทรอนิกส์

การเจรจาการค้าระหว่าง “สหรัฐ” กับ “จีน” มีแนวโน้มว่าจะยังไร้ข้อสรุปในปีนี้ และอาจลากยาวถึงหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐช่วงเดือนพ.ย.ปีหน้า หลังจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ประกาศว่า เขาไม่ได้กำหนดเส้นตายการทำข้อตกลงการค้ากับจีน  ส่งผลให้บรรยากาสการค้ากลับมาอึมครึมอีกครั้ง ขณะที่ การตัดสินใจย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการต่างๆ เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น สะท้อนผ่านการลงทุนโดยตรง(เอฟดีไอ) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA เปิดเผยว่า บริษัทเริ่มเห็นสัญญาณการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนโดยตรงในประเทศไทยมากขึ้น โดยลูกค้าที่เข้ามาซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทส่วนมากเป็นบริษัทจากจีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก คือ ยานยนต์ และเห็นแนวโน้มที่มากขึ้นในกลุ่มอิเลคทรอนิกส์และอุปโภคบริโภค

“เชื่อว่าปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ผลักดันให้นักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นเป็นเพราะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่มีท่าทียืดเยื้อ และเดิมทีฐานการผลิตสำคัญของบริษัทเหล่านี้อยู่ในจีน ประกอบกับค่าแรงในประเทศจีนที่ปรับตัวสูงขึ้นด้วย”

นายอนุสรณ์ มุทราอิศ กรรมการ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ DELTA กล่าวว่า ที่ผ่านมาเริ่มเห็นบริษัทต่างชาติซึ่งทำธุรกิจชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ศึกษาเกี่ยวกับการย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งมีความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องใช้เวลาพอสมควร เนื่องจากการสร้างโรงงานลักษณะนี้ต้องใช้เงินลงทุนสูง ขณะเดียวกันสิทธิประโยชน์ทางภาษีของไทยอาจจะยังไม่ได้ดึงดูดมากนัก

“ก่อนหน้านี้เดลต้าได้ศึกษาความเป็นไปได้ที่จะลงทุนขยายธุรกิจในกลุ่ม semiconductor เพิ่มเติมเช่นกัน แต่ด้วยการใช้เงินลงทุนที่ค่อนข้างสูง ทำให้บริษัทยังไม่ได้ตัดสินใจขยาย อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการต่างประเทศย้ายฐานผลิตมาอยู่ในไทยมากขึ้น จะส่งผลบวกต่อบริษัทอิเลคทรอนิกส์ของไทยด้วย”

สำหรับเดลต้าในปัจจุบันเป็นผู้ผลิตกลางน้ำ หากกลุ่มผู้ผลิตปลายน้ำฐานเข้ามาก็จะเป็นโอกาสที่จะได้ลูกค้ามากขึ้น ประกอบกับแนวโน้มการเติบโตของสินค้าอิเลคทรอนิกส์น่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องไปตามเทคโนโลยี และในปีหน้าจะเริ่มเห็นการเติบโตจากการพัฒนา 5G มากยิ่งขึ้น

“ในส่วนของดีมานด์ไม่น่าเป็นห่วงอะไร เพราะความต้องการมีแนวโน้มเติบโตไปตามการพัฒนาของเทคโนโลยีอยู่แล้ว แต่ประเด็นเงินบาทแข็งค่าเป็นเรื่องที่ยังน่าวิตก โดยดูเหมือนว่ายังมีแนวโน้มจะแข็งค่าได้อีก ซึ่งจะส่งผลให้รายได้เมื่อแปลงกลับมาเป็นเงินบาทลดลง ขณะเดียวกันก็ทำให้บริษัทคาดการณ์อนาคตลำบากมากขึ้น”

ด้าน บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส ระบุว่า ผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2562 ของกลุ่มอิเลคทรอนิกส์ค่อนข้างอ่อนแอ โดยรายได้ของกลุ่มหดตัว 5% จากปีก่อน โดยทั้ง บมจ.DELTA และ บมจ.SVI ที่มีรายได้เติบโตในครึ่งปีแรกกลับมามีรายได้ลดลงในไตรมาสนี้ สำหรับกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติ ของกลุ่มลดลงแรงถึง 60% เพราะอุปสงค์ที่ชะลอลง ผลกระทบจากบาทแข็งทำให้มาร์จิ้นต่ำลง

อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น แม้ว่ายอดขาย semiconductor รายเดือนจะยังหดตัว แต่ก็มีอัตราที่น้อยลงนับตั้งแต่เดือน ก.ค. เป็นต้นมา ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 เดือน ของเดือน ต.ค. เริ่มพลิกเป็นบวก หลังจากติดลบมา 11 เดือนต่อเนื่อง ทั้งนี้ ยอดขายชิพที่ใช้กับสมาร์ทโฟนพลิกเป็นบวกได้หลังจากหดตัวมา 7 ไตรมาสติดต่อกัน และมองไปข้างหน้าก็จะมีเทคโนโลยี 5G เข้ามาช่วยหนุนอุปสงค์ในหมวดนี้ด้วย แต่ส่วนชิ้นส่วนที่ใช้กับยานยนต์ยังคงหดตัว คาดว่าจะลดลงเหลือเป็นเลขหลักเดียวในปี 2563

ปรับเพิ่มน้ำหนักลงทุนเป็น Neutral โดยคาดว่าอุตสาหกรรมผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว และคาดว่าจะค่อยๆ กระเตื้องขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4 เป็นต้นไป การลงนามข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนเฟสแรกและค่าเงินบาทที่เสถียรขึ้นเป็นปัจจัยกระตุ้นทางบวกในระยะสั้น 

ขณะที่ บล.เคจีไอ ระบุว่า ภาพของอุตสาหกรรม semiconductor ในมุมมองของทีมวิจัยของ บล.เคจีไอ (ไต้หวัน) เป็นบวกมากขึ้น ตามการฟื้นตัวของยอดขาย semiconductor ทั่วโลก เมื่อเดือนที่ผ่านมา ช่วยหนุนแนวโน้มของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดไทยให้จบวัฏจักรขาลงตามไปด้วย ทั้งนี้ รายงานยอดขาย semiconductor โลกเดือน ส.ค. อยู่ที่ 3.42 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลง 15.9% จากปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 2.4% จากเดือนก่อน