กระชับสัมพันธ์ (ชั่วคราว) พรรคร่วม รอยร้าวปริ-เปิดฉากต่อรองรอบใหม่

กระชับสัมพันธ์ (ชั่วคราว) พรรคร่วม รอยร้าวปริ-เปิดฉากต่อรองรอบใหม่

เสียงไชโย 3 ครั้ง หลังสิ้นสุดงานมีตติ้ง “พรรคร่วมรัฐบาล” ที่สโมสรราชพฤกษ์ ช่วงค่ำวันที่ 3 ธ.ค. ต่อปฏิบัติการโหวตล้มญัตติตั้ง กมธ.วิสามัญ ศึกษาผลกระทบจากคำสั่ง คสช. โชว์ให้เห็นว่า “พรรคร่วมรัฐบาล” เสียงปึ๊กขึ้นมา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เปิดเกมเล่น 2 บท ทางหนึ่งขู่ปรับ ครม.-ยุบสภา หาเกิดเหตุสภาล่มขึ้นมาอีก เพราะรู้ดีว่าชั่วโมงนี้พรรคร่วมรัฐบาลไม่อยากให้ยุบสภา หากต้องลงสนามเลือกตั้งมีโอกาสแพ้ให้ ขั้วฝ่ายค้าน ได้เช่นกัน

รวมถึงแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลที่นั่งร่วมวงประชุม ครม. ย่อมไม่ให้อยากมีการปรับ ครม.เกิดขึ้นในเร็ววัน เพราะเพิ่งเข้ามานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีได้เพียง 4 เดือน หากต้องปรับโยกย้าย แรงกระเพื่อม-แรงต่อรอง ภายในพรรคมีสูงลิบแน่นอน

แนวทางของแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล คือรักษาสถานะการอยู่ร่วมรัฐบาลให้นานที่สุด แม้จะง่อนแง่นบ้างในบางช่วงเวลา แต่ก็ต้องประคับประคองสถานการณ์ไม่ให้เดินไปถึงจุดตันทางการเมือง

อีกทางหนึ่ง “พล.อ.ประยุทธ์” เล่นบทกาวใจ ดึงเคล็ดวิชาที่มีออกมาใช้ทั้งหมด บรรยากาศงานมีตติ้งราบรื่น เคลียร์ใจ “แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล” โดยเฉพาะ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ต้องการให้คุมเสียงของลูกพรรค ปชป.ให้อยู่หมัด ไม่ปล่อยให้มี “ก๊วนโหวตสวน”

แม้ผลที่ออกมายังมี “4 ปชป. โหวตสวนหนุนให้ตั้ง กมธ.ศึกษาคำสั่ง คสช. แต่ “ประยุทธ์-บิ๊กรัฐบาล ไม่ติดใจ เพราะนับเลขเคลียร์โจทย์กันแล้วว่าขอแค่ช่วยแสดงตัวนับองค์ประชุม เพื่อไม่ให้การประชุมสภาล่ม ที่เหลือเป็นหน้าที่ของ วิปรัฐบาลที่ดีดลูกคิดแล้วไม่มีคดีพลิก

เกมในสภา พรรคร่วมรัฐบาลแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันช็อตต่อช็อต จำนวนเสียงปริ่มน้ำทำให้ยากต่อการบริหารจำนวนเสียง ต้องรอลุ้นบรรดา งูเห่าจาก “ขั้วฝ่ายค้าน” จะแปรพักตร์หันมาซบ “ขั้วรัฐบาล” แบบเปิดเผยตัวในช่วงใด หรือจะอาศัยเติมโปร

ด่านต่อไปของพรรคร่วมรัฐบาลที่จะสู้ศึกสภา คือการตั้ง กมธ.ศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีการตั้ง กมธ.ขึ้นมาแน่นอน แต่ปัญหาอยู่ปมการตั้ง “ประธาน กมธ.” เอาไว้คุมเกม-คุมประเด็น การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ให้ “ขั้วรัฐบาล” เสียเปรียบ “ขั้วฝ่ายค้าน”

 

ขณะที่ ยุทธพร อิสระชัย นักวิชาการรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองว่ามีตติ้งร่วมรับประทานอาหารของแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล อาจมีส่วนอยู่บ้างต่อการโหวตในสภาฯ ครั้งล่าสุด โดยเฉพาะในเรื่องการกระชับความสัมพันธ์ ความมีเสถียรภาพของรัฐบาล ความมีเอกภาพของพรรคร่วม ทำให้บรรดา ส.ส.ที่มีปัญหาโหวตสวน ปัญหาไม่เข้าร่วมประชุม ได้มาพบปะพูดคุยเพื่อร่วมกันทำงานสามารถเดินหน้าต่อไปได้

ทั้งนี้การพบปะพูดคุยกันแบบไม่เป็นทางการ ถือเป็นวิธีการดำเนินงานอย่างมีกลยุทธ์ภายใต้รัฐบาลผสม ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นได้จากการต่อรองภายใน หรือจากสมาชิกในพรรคพลังประชารัฐเอง และการต่อรองจากภายนอก หรือจากพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติ

157560282549

แต่ในแง่ความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาลนั้น คงเกิดขึ้นแบบไม่ถาวร เพราะการต่อรองภายใต้รัฐบาลผสม จะมีโดยตลอด แต่การหันหน้ามาพูดคุยกันถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจากนี้ไปยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างรออยู่ ทั้งจากการเปิดอภิปรายที่จะมีขึ้นจากญัตติต่างๆ การต่อรองการปรับคณะรัฐมนตรี

ฉะนั้น “การพูดคุยเป็นระยะ” จึงเป็นสิ่งสำคัญในระยะยาวของรัฐบาลผสมในภาวะเสียงปริ่มน้ำ เพราะภาวะรัฐบาลผสม ไม่ใช่การทำงานของพรรคการเมืองเดี่ยว แต่เป็นการร่วมกันบนความแตกต่างของแต่ละพรรค ทั้งอุดมการณ์ เป้าหมาย วิถีทางการเมือง วิธีปฏิบัติงาน การหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

ส่วนเรื่อง “งูเห่า” เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งบนวิถีทางการเมืองภายใต้รัฐบาลผสม แต่ในระยะยาว การตั้งคำถามจากสังคม ทั้งเรื่องความชอบธรรมในระบบรัฐสภา การเป็นตัวแทนของประชาชนที่ใช้วิถีทางการเมืองเชิงกลยุทธ์มากกว่าการมองประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ และแม้โดยส่วนตัวจะไม่สนับสนุนการใช้กลยุทธ์ดังกล่าว แต่จากปัญหาความสัมพันธ์ในพรรคร่วมรัฐบาลก็เชื่อว่า งูเห่า จะเกิดขึ้นได้ยากเท่าไรนัก

ด้าน สติธร ธนานิธิโชติ รักษาการผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า มองว่า ภาวะความเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำที่เกิดจากการต่อรองผลประโยชน์กันมาตั้งแต่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล และตราบใดที่ระดับของพรรคการเมืองที่มี 50 เสียงขึ้นไปยังสามารถต่อรองรัฐบาล หรือต่อรองพรรคประชารัฐ (พปชร.) ได้ เอฟเฟคต่างๆ เช่น องค์ประชุมไม่ครบ โหวตสวน ก็จะพบเห็นได้อีก

157560311472

ในอนาคตการนัดรับประทานอาหารก็จะมีอีก แต่ไม่แน่ว่าการร่วมโต๊ะอาหารรอบหน้าอาจไม่สามารถให้ผลลัพธ์ที่ต้องการได้

ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ของ 2 พรรคร่วมขนาดใหญ่เกิดจากสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่างๆ ที่พรรคการเมืองได้ไปตั้งแต่แรก แต่หลังเข้าร่วมรัฐบาลแล้วกลับพบว่าบางอย่างขาดหายไป เช่น บางพรรคได้กระทรวง แต่ไม่สามารถนำนโยบายของพรรคไปขับเคลื่อนให้เห็นผลตามที่เคยหาเสียงไว้กับประชาชน

ยกตัวอย่าง พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคที่ค่อนข้างได้เต็ม ได้ทั้งกระทรวงและได้มีบทบาท จึงน่าจะมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับพรรคพลังประชารัฐ แต่สิ่งที่มาบั่นทอนความสัมพันธ์ก็มาจากกระแสการทวงคืนกระทรวงคมนาคม

หรืออย่างพรรคประชาธิปัตย์ที่ยังได้ไม่ครบ คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการร่วมรัฐบาล แต่เมื่อพรรค ปชป.เป็นผู้ผลักดันในการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 เงื่อนไขของการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรค แต่ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล

การดึง ส.ส.จากฝ่ายค้านไม่น้อยกว่า 50 คนเข้ามาร่วมทำงาน ดูจะเป็นวิธีเดียวที่อาจขจัดปัญหาความสัมพันธ์ได้ เพื่อแสดงสัญญาณที่ชัดเจนว่าพรรคพลังประชารัฐพร้อมเข้าสู่โหมดปรับ ครม. และพร้อมเอาตำแหน่งในบุคคลพรรค ปชป.หรือ ภท.ออก และถือเป็นยาแรงที่สุด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย