'ฮ่องกง' หวั่นตกขบวน โดดร่วมวงขอร่วมสมาชิก 'อาร์เซ็ป'

'ฮ่องกง' หวั่นตกขบวน โดดร่วมวงขอร่วมสมาชิก 'อาร์เซ็ป'

“อาร์เซ็ป”เนื้อหอม หลายประเทศขอร่วมเป็นสมาชิก "อาร์เซ็ป"  ล่าสุด”ฮ่องกง”ร่อนหนังสืออาเซียนขอเป็นสมาชิกเร็วที่สุด หลังแจ้งมาแล้วตั้งแต่ปีก่อน “พาณิชย์” ยันอาร์เซ็ปน่าสนใจ ดึงดูดนักลงทุนมากขึ้น

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์  ประธานคณะเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อาเซียน-ฮ่องกง และหัวหน้าคณะเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ฝ่ายไทย  เปิดเผยว่า นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  ได้มอบแนวทางการเจรจาอาร์เซ็ป ว่า ไทยและสมาชิกต้องร่วมลงนามในความตกลงให้ได้ตามเป้าหมายที่ผู้นำได้ประกาศไว้ในปี 63 

ดังนั้นไม่ว่าประเด็นที่จะมีการหารือเพิ่มเติมก็ต้องให้แล้วเสร็จในไตรมาสที่ 1 ของ 63  ขณะที่ฮ่องกง ได้ส่งหนังสือไปยังสมาชิกอาเซียน เพื่อยืนยันความตั้งใจเดิมที่จะเข้าเป็นสมาชิกอาร์เซ็ปหลังจากฮ่องกงได้แสดงความจำนงจะเข้าเป็นสมาชิกมาแล้วตั้งแต่ปี 61 นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณจากอีกหลายประเทศ ที่สนใจจะเข้าเป็นสมาชิกอาร์เซ็ป เช่น ชิลี แคนาดา ฯลฯ

ทั้งนี้ เมื่อการเจรจาเอฟทีเออาเซียน-ฮ่องกงเสร็จสิ้นและลงนามเมื่อปี 2561  ฮ่องกงได้ขอเข้าเป็นสมาชิกอาร์เซ็ป แต่อาเซียนต้องการให้การเจรจาอาร์เซ็ปเสร็จก่อนจึงจะพิจารณารับสมาชิกใหม่ ถึงวันนี้ ผู้นำประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปได้ประกาศความสำเร็จแล้วเมื่อเดือน พ.ย.2562 ฮ่องกงจึงส่งหนังสือย้ำความตั้งใจเดิมอีกครั้ง โดยจะขอเข้าเป็นสมาชิกให้ได้เร็วที่สุด  ซึ่งสมาชิกพร้อมสำหรับการเปิดรับสมาชิกใหม่

แต่ในระหว่างนี้ สมาชิกกำลังใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเตรียมการลงนามความตกลงอาร์เซ็ปในปี 63 คาดว่า สมาชิกอาร์เซ็ปจะหารือกันถึงกระบวนการรับสมาชิกในช่วงการประชุมคณะเจรจาจัดทำอาร์เซ็ประดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (ทีเอ็นซี) ที่จะประชุมครั้งแรกเดือน ม.ค.63 ที่เวียดนาม หลังจากผู้นำได้ประกาศความสำเร็จของการเจรจาไปแล้ว รวมถึงจะหารือกับอินเดียในประเด็นที่ยังคงค้างให้เสร็จโดยเร็วตามเป้าหมายของผู้นำด้วย

ทั้งนี้ หากฮ่องกงเป็นสมาชิกของอาร์เซ็ป จะยิ่งทำให้อาร์เซ็ปมีความน่าสนใจมากขึ้น เพราะมีความหลากหลายทางด้านการค้า และการลงทุนในภูมิภาคอาร์เซ็ป เพราะฮ่องกง มีศักยภาพมากในการลงทุนภาคบริการ และเป็นศูนย์กลางการเงินของโลก และจีนให้เสรีภาพและอิสระต่อฮ่องกงในการบริหารเศรษฐกิจและการค้าของตนอย่างสมบูรณ์ 

ดังนั้น การเข้าเป็นสมาชิกอาร์เซ็ปของฮ่องกง จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้าของฮ่องกงในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ในเวลาเดียวกัน จะส่งผลดีต่อการขยายการค้า การลงทุนให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออก และอาเซียนได้เป็นอย่างดี ในท่ามกลางการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศมหาอำนาจ ที่กำลังส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอน 

นายรณรงค์ กล่าวถึงกรณีของอินเดีย ที่มีประเด็นคงค้างที่ต้องเจรจากับสมาชิกอาร์เซ็ปเพิ่มเติม โดยเฉพาะการเปิดตลาดการค้าสินค้า บริการ และการลงทุนว่า ล่าสุด คู่เจรจาบางประเทศ กำลังใช้ความพยายามอย่างหนัก ทำให้อินเดียกลับเข้าสู่การเจรจา และลงนามความตกลงร่วมกัน 16 ประเทศให้ได้

โดยพร้อมตอบสนองข้อเรียกร้องของอินเดียให้ได้มากที่สุด ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องไม่ส่งผลต่อการดำเนินการของสมาชิก เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการลงนามความตกลงในปี 63  และเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ส่งหนังสือเชิญอินเดียเข้าร่วมประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเดือน ม.ค.63 แล้ว ขณะนี้กำลังรออินเดียตอบรับการเข้าร่วมประชุมดังกล่าว

"ไทยพร้อมสนับสนุนเต็มที่ให้อินเดียกลับเข้าสู่การเจรจาและลงนามอาร์เซ็ป แต่การสนับสนุนต้องไม่กระทบต่อแผนการลงนามของสมาชิกภายในปี 63 ขณะที่สมาชิกหลายประเทศพยายามวางแนวทางร่วมกันเพื่อจะดึงอินเดียกลับมา อย่างสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ได้เดินทางมาพบผม เพื่อคุยเรื่องนี้"

รวมทั้งสัปดาห์หน้า ญี่ปุ่นจะเดินทางไปพบสมาชิกทุกประเทศ รวมถึงอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประธานคณะเจรจาระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส และนอกเหนือจากที่ผู้แทนระดับสูงจากสมาชิกอาร์เซ็ปได้เดินทางไปประเทศต่างๆ เพื่อหารือทวิภาคีในประเด็นดังกล่าวแล้ว ยังมีประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกอาร์เซ็ปให้ความสนใจและติตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด เช่น สหภาพยุโรป (อียู) ได้ส่งผู้แทนจากสถานทูตมาสอบถามเรื่องนี้ด้วย

สำหรับท่าทีของสมาชิกอาเซียน จากการหารืออย่างไม่เป็นทางการล่าสุด เหมือนกับท่าทีของไทย ที่จะต้องร่วมมือกันเป็นหนึ่งและเข้มแข็งในการผลักดันให้ลงนามความตกลงอาร์เซ็ปให้ได้ในปี 63 เพื่อให้ภาคธุรกิจ และนักลงทุนในภูมิภาคได้ใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงโดยเร็ว