'SME D Bank' ปลุก 'การค้าออนไลน์' รับเทรนด์โลกปี 63

'SME D Bank' ปลุก 'การค้าออนไลน์' รับเทรนด์โลกปี 63

ปลุกการค้าออนไลน์รับเทรนด์โลกปี63 ในฐานะที่เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตเป็นหัวใจสำคัญช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจยุค 4.0 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้เข้าร่วมการค้าอีคอมเมิร์ซ

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มดีแบงก์) ร่วมกับบริษัท AJ E-commerce จัดเวทีสัมมนา "ตีตั๋วธุรกิจพลิกแนวคิดสู่ตลาดโลกกับอาลีบาบา ดอท คอม และโค้ชชิ้งติวเข้มให้กับผู้ค้าเอสเอ็มอีทางออนไลน์กับช้อปปี้" ในวันอีคอมเมิร์ซเดย์ภายใต้คอนเซ็ปต์ “งานนี้มีนอกมีใน” เพื่อจุดประกายความคิดและถ่ายทอดเทคนิคทำตลาดอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ ทั้งแพลตฟอร์มการค้าในประเทศและต่างประเทศ

สิรินันท์ ทองเพ็ญ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษจากอาลีบาบา ดอท คอม กล่าวถึงทิศทางตลาดอีคอมเมิร์ซในปี 2563 ว่า แนวโน้มการค้าออนไลน์ในปีหน้าจะเข้มข้นมากขึ้น เพราะจะเป็นการหลอมรวมการค้ายุคใหม่ เชื่อมโยงระบบออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกัน รวมทั้งยังมีเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาเป็นตัวช่วยให้ผู้ประกอบการในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ในเรื่องการบริหารจัดการและปรับกลยุทธ์การตลาดให้เท่าทันสถานการณ์การค้าดิจิทัล

157562453476

สำหรับอาลีบาบา ดอท คอม เป็นเว็บไซต์ขายส่ง หรือแบบ B2B ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งปัจจุบัน มีผู้ซื้ออยู่ใน 240 ประเทศ ขณะที่มีจำนวนลูกค้าลงทะเบียนไว้กับอาลีบาบามากกว่า 150 ล้านคนทั่วโลก ผู้ค้ากับแพลตฟอร์มอาลีบาบา 10 ล้านคน และจำนวนสินค้ามากกว่า 170 ล้านชิ้นจาก 5,900 ประเภทสินค้า ใน 40 อุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ยังมีโปรแกรมต่างๆที่ช่วยการค้าและทำการตลาด อาทิ โปรแกรมของอาลีบาบา สำหรับแชทคุยกับลูกค้าแบบเรียลไทม์ที่มีให้เลือก 16 ภาษา และโปรแกรมวิเคราะห์ความต้องการของผู้ซื้อ รวมทั้งตลาดโลก เพื่อเพิ่มโอกาสส่งสินค้าไปยังประเทศต่างๆผ่านแพลตฟอร์มของอาลีบาบา

"อาลีบาบาเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยตอบโจทย์ผู้ประกอบเอสเอ็มอีสามารถนำสินค้าท้องถิ่นส่งไปขายทั่วโลก สิ่งสำคัญของการทำการค้าออนไลน์ระหว่างประเทศคือ ผู้ประกอบการต้องรู้ว่า ตนเองจะขายสินค้าให้กับใคร เป็นสินค้าประเภทให้ผู้ซื้อใช้งานเอง (ขายปลีก) หรือสินค้าที่ผู้ค้านำไปกระจายต่อ (ขายส่ง) เพื่อนำไปสู่การวางแผนกลยุทธ์ทำการตลาดให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายได้ถูกต้อง" สิรินันท์กล่าว

157562383450

อาลีบาบาได้วิเคราะห์ผู้ซื้อสินค้าออนไลน์กับบริษัทใน 10 อันดับแรกทั่วโลก ซึ่งไม่นับรวมประเทศจีน พบผู้ซื้อส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐมากที่สุด รองลงมาเป็น อินเดีย แคนาดา บราซิล ออสเตรเลีย อังกฤษ รัสเซีย ตุรกี ปากีสถาน และเม็กซิโก

ส่วนประเภทสินค้า 10 อันดับแรกที่ได้รับความนิยมจากผู้ซื้อทั่วโลก ได้แก่ อาหารเครื่องดื่ม สินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวเครื่องสำอาง เครื่องนุ่งห่ม สินค้าบริโภคอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนประกอบรถ เครื่องใช้อุปกรณ์ในที่ทำงานและโรงเรียน อาหารเสริมและอุปกรณ์ดูแลสุขภาพ และเครื่องใช้ภายในบ้าน ทั้งนี้ จะเห็นว่า ประเภทสินค้า 5 อันดับแรกเป็นสินค้าส่งออกของไทยและอาเซียนที่มีศักยภาพ สะท้อนถึงโอกาสที่จะทำตลาดออนไลน์ไปทั่วโลก

ขณะที่ กูเกิลและเทมาเส็กได้จัดทำการสำรวจเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปี 2562 พบว่า ประเทศไทย มีการเติบโตเศรษฐกิจดิจิทัลอยู่ในอันดับ 4 มีมูลค่าการค้าออนไลน์อยู่ที่ 69 ล้านดอลลาร์ ส่วนอันดับหนึ่งเป็นอินโดนีเซียมีมูค่า 264 ล้านดอลลาร์ อันดับ2 ฟิลิปปินส์มูลค่า 105 ล้านดอลลาร์ อันดับ3 เวียดนามมูลค่า 96 ล้านดอลลาร์ ขณะที่อันดับ5 เป็นมาเลเซียมูลค่า 32 ล้านดอลลาร์ และอันดับ6 สิงคโปร์มูลค่า 6 ล้านดอลลาร์

ในรายงานยังระบุว่า อีคอมเมิร์ซเป็นธุรกิจออนไลน์ที่ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลมากที่สุด รองลงมาเป็นการจองโรงแรมและตั๋วท่องเที่ยวทางออนไลน์ บริการเรียกรถผ่านแอพพลิเคชัน และสื่อโฆษณาทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งปีนี้เติบโต 100,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 213% และคาดว่า จะเติบโตสูงขึ้น 300,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 200% ในอีก 6 ปีข้างหน้า

ภายในงานนี้ บริษัท ช้อปปี้ ประเทศไทย ผู้ให้บริการเบอร์หนึ่ง ด้านแอพพลิเคชั่นช้อปปิ้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวัน ได้มาร่วมจัดกิจกรรมเวิร์คช็อป และแนะนำเครื่องมือทำการตลาดให้กับเอสเอ็มอีที่เข้าร่วม รวมทั้งวิธีการทำโค้ดและโปรโมชั่นส่วนลดต่างๆ ที่จะเป็นกลยุทธ์ทำการตลาดออนไลน์ในประเทศ เพราะเห็นโอกาสจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 57 ล้านคน

157562389530

ก่อนหน้านี้ ช้อปปี้เปิดเผยแผนกลยุทธ์การดำเนินงานปี 2562 ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันสู่ความสำเร็จนี้ด้วยการเชื่อมโยงผู้ใช้ทั่วทั้งภูมิภาคผ่านการสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งที่น่าสนใจและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งาน ซึ่งช้อปปี้ได้พัฒนาฟีเจอร์เกมต่างๆ เพื่อให้การชอปปิงออนไลน์เต็มไปด้วยความสนุกสนาน และมีการโต้ตอบกันระหว่างผู้ใช้งาน และแพลตฟอร์ม อีกด้วย

สำหรับช้อปปี้อยู่ในกลุ่มบริษัท Sea ในสิงคโปร์และขยายไปยังมาเลเซีย ไทย ไต้หวัน อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ โดยที่ผ่านมา ช้อปปี้ได้พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยระบบการชำระเงินและการสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ให้ครอบคลุมทั่วภูมิภาค

157562423564

ตัวเลขล่าสุดกลางปี 2562 พบว่า ช้อปปี้มียอดดาวน์โหลดมากกว่า 200 ล้านครั้ง มีจำนวนผู้ขายที่เป็นสมาชิกกับช้อปปี้ใน 7 ประะเทศสมาชิกอาเซียนรวมไต้หวัน มีรวมกันกว่า 7 ล้านราย มีจำนวนแบรนด์ และร้านค้าพันธมิตรบน ช้อปปี้มอลล์มากกว่า 10,000 ราย และมีสัดส่วนยอดคำสั่งซื้อบนมือถือมากกว่า 95% รวมยอดสั่งซื้อผ่านช้อปปี้ ในไตรมาส 2 ปีนี้ทะลุ 3.8 พันล้านดอลลลาร์

ขณะเดียวกันพบว่า มีผู้ซื้อสินค้าและบริการในประเทศไทยผ่านแพลตฟอร์มช้อปปี้สูงถึง 80% และผู้เข้ามาค้นหาสินค้า 90% ทำให้ช้อปปี้ก้าวขึ้นเป็นแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์เป็นอันดับหนึ่งของไทย

สิ่งเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงเทรนด์การค้าในโลกออนไลน์ที่พร้อมจะสร้างโอกาสให้กับทุกประเทศในอาเซียน