SCB ฝ่ากระแส 'ดิสรัปชั่น' ชูยุทธ์ศาสตร์ 'เรือเล็ก' ลุยธุรกิจใหม่

SCB ฝ่ากระแส 'ดิสรัปชั่น' ชูยุทธ์ศาสตร์ 'เรือเล็ก' ลุยธุรกิจใหม่

SCB งัดโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ ฝ่าดิจิทัลดิสรัปชั่น หลังทุ่มงบทรานส์ฟอร์มองค์กรมา 3ปี ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ชูยุทธศาสตร์"เรือลำเล็ก" ออกไปทดลองทำธุรกิจรูปแบบใหม่

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)(SCB)  บรรยายให้หัวข้อ “Transformingฺ Banking  For The Next Generation Case Study SCB”  ในหลักสูตร “Digital Transformation For CEO” จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ และบริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFEC  วานนี้( 4 ธ.ค.)ว่า

ดิจิทัลดิสรัปชั่น มีผลกระทบมากกับธุรกิจของธนาคารในรูปแบบเดิมๆ  ผู้ใช้บริการทางการเงินหันไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น ภายใต้ต้นทุนที่ต่ำลง ทำให้การทำธุรกรรมผ่านสาขาปรับลดลงต่อเนื่อง มาอยู่ที่ระดับ 4% ลดลงเร็วมากเทียบสิ้นปี 2560 ที่อยู่ระดับ 15% ขณะที่ธุรกรรมผ่านดิจิทัลเพิ่มขึ้นเป็น 60% จากเดิม 23%

ดังนั้นรูปแบบการให้บริการในอนาคต จะเคลื่อนย้ายไปกับเทคโนโลยีใหม่ และเจเนอเรชั่นใหม่ๆมากขึ้น  สิ่งที่วันนี้ที่ยังมีอยู่ จะค่อยๆเล็กลงเรื่อยๆ หากไม่ปรับตัวเอง อาจจะไม่มีที่ยืน สำหรับแบงก์อีกต่อไป  สอดคล้องกับรายได้ และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ที่พบว่าปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ทุกธนาคารทั้งในประเทศและต่างประเทศ เจอทิศทางเดียวกันหมด

หากดู ROE ของระบบธนาคาร พบว่าจากเดิมที่เคยเติบโตเป็นเลข2หลัก หรือเติบโตกว่า 10% วันนี้ลดลงเหลือเลขหลักเดียว เช่นเดียวกับไทยพาณิชย์ สิ่งที่ตามมาคือ มูลค่าทางบัญชีต่อหุ้นมีทิศทางปรับลดลงต่อเนื่อง  ของทั้งระบบอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1% ส่วนของไทยพาณิชย์อยู่ที่ 1.2% แต่แนวโน้มมีโอกาสปรับลดลงต่อเนื่อง ปรากฏการณ์ต่างๆเป็นผลพวงมาจาก การปรับเปลี่ยนของเทคโนโลยีที่เข้ามา โดยเฉพาะดิจิทัลเทคโนโยลี ที่เข้ามาทดแทน และดิสรัปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง

157551382827

โจทย์หลักของการทำ digital transformation คำถามแรกๆ คือต้องเริ่มด้วยอะไร จุดไหน หากไปไม่ถูกก็มีโอกาสเจ๊งได้

  • ไขกุญแจสู่ทรานส์ฟอร์ม

จึงเป็นที่มาของการเดินหน้าทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์มของธนาคารไทยพาณิชย์ โดยเริ่มจากการลงทุนด้านเทคโนโลยี ทั้งการปรับเปลี่ยนไปสู่เทคโนโลยีใหม่มากขึ้น แต่ช่วงระยะเวลา 3ปีที่ผ่านมา การลงทุนหลายเรื่องที่ไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งมาจากความไม่พร้อมขององค์กร ซึ่งอันนี้ถือเป็นเคสสำคัญ สำหรับองค์กรใหม่ๆที่คิดจะทรานส์ฟอร์มองค์กร 

กุญแจสำคัญ ต้องดูจาก 3 ปัจจัย คือ Tech (เทคโนโลยี) People (คน) และ Culture (วัฒนธรรมองค์กร) หลักๆ คือจะต้องเข้าไปดูเรื่องความพร้อมขององค์กร  ทั้งตัวบุคคล และวัฒนธรรมองค์กร ว่าพร้อมจะขับเคลื่อนไปด้วยกันหรือไม่  ถัดมาหากทรานส์ฟอร์มแล้ว จะต้องดูในด้าน Revenue  (รายได้) และ Cost (ต้นทุน ) ว่า มีผลกระทบอย่างไร สุดท้าย คือ ส่วนของลูกค้า จำเป็นต้องให้น้ำหนัก เพราะลูกค้าเป็นศูนย์กลาง คือสิ่งที่ต้องคำนึงถึง

“โจทย์หลักของการทำ digital transformation คำถามแรกๆ คือต้องเริ่มด้วยอะไร จุดไหน หากไปไม่ถูกก็มีโอกาสเจ๊งได้ ดังนั้นสิ่งที่ต้องดูคือ ช่องว่างขององค์กร ของคน ของเทคโนโลยี หากเริ่มต้นไม่ถูก บอกเลยว่ามีโอกาสสูญเงินเปล่า จะเจอกับโปรเจคมากมายที่ไม่เกิดประสิทธิภาพใดๆ  ดังนั้นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญก่อนที่จะตัดสินใจใช้เงิน คือต้องมองเรื่องเหล่านี้  ในส่วนของไทยพาณิชย์คือ ด้านต้นทุน เราคาดว่าภายใน 3ปี จะลดต้นทุนลง 30% เพื่อ Identify องค์กร เพราะหากไม่ทำตรงนี้ องค์กรไหนก็ตาย”

  • ผุดยุทธศาสตร์ “เรือลำเล็ก” 

เขากล่าวต่อว่า 3 ปีที่ผ่านมา ไทยพาณิชย์พบว่า หลายเรื่องยังไม่ประสบความสำเร็จ และพบว่ามีข้อจำกัดนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งที่ 3 ปีที่ผ่านมาธนาคารใช้เงินไปเยอะ แต่ยังทรานส์ฟอร์มองค์กรแห่งนี้ไม่ได้ จึงต้องหา New business model หรือแผนยุทธ์ศาสตร์ของแบงก์ในอนาคต

ไทยพาณิชย์กำลังต่อเรือลำเล็ก เอาเรือเล็กออกจากฝั่ง เพื่อไปทดลอง หรือ Experiment เรือลำใหญ่  

เช่น การนำเรือลำเล็กไปเป็นพาร์ทเนอร์กับเทคคัมพะนี ในการทำธุรกิจเครดิตการ์ด เพื่อจะออกโปรดักท์ให้โดนใจลูกค้า และทำให้ธุรกิจมีความคล่องตัวในการคิดผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้มากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องไปทำลายเรือลำใหญ่ หรือสละเรือลำใหญ่ เพราะในที่สุดแล้วหากเรือลำเล็ก สามารถทำธุรกิจได้ ก็จะเข้ามาทดแทน และทำให้เรือลำใหญ่หายไปเองในอนาคต 

157551498519

วันนี้การเดินบัญชีกับแบงก์ หรือ Payroll เป็นส่วนสำคัญของแบงก์ แต่เมื่อมีเทคโนโลยี มีเอไอ เข้ามา จะทำให้ Payroll อาจตายไปเลย

ดังนั้น อีกไม่นานธนาคารจะประกาศยุทธศาสตร์องค์กรเพื่อให้เป็นไปตามแผนเหล่านี้ ขณะเดียวกัน จะพยายามประคอง ควบคุมให้แซนด์บ็อกซ์ที่ธนาคารสร้างขึ้นมาเกิดประสิทธิภาพและใช้เงินน้อยลง ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเข้ามาเพิ่มขีดความสามารถใหม่ให้แบงก์มากขึ้น

“การเปลี่ยนธุรกิจจากซ้ายไปขวาขององค์กร เป็นเรื่องที่ยาก หากไม่สามารถทรานส์ฟอร์มองค์กรใหม่ด้วยเทคโนโลยี การทำธุรกิจแบบเดิมยังไงก็ไม่รอด วันนี้การเดินบัญชีกับแบงก์ หรือ Payroll เป็นส่วนสำคัญของแบงก์ แต่เมื่อมีเทคโนโลยี มีเอไอ เข้ามา จะทำให้ Payroll อาจตายไปเลย เพราะการเคลื่อนย้ายของเงินของพนักงานทำได้เร็ว ด้วยต้นทุนที่ต่ำ สามารถไปอยู่กับแบงก์อื่นได้ภายในวินาที

เอไอทำให้แบงก์มีข้อมูลอื่นมากขึ้น เรียนรู้พฤติกรรมลูกค้าได้มากขึ้น ดังนั้นโลกกำลังมีขีดความสามารถที่เรานึกไม่ถึงในหลายเรื่องจากเทคโนโลยี”

157551477779

  • คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม

ในด้านภาพรวมสาขาและพนักงาน ธนาคารได้มีการเทรนนิ่ง การเพิ่มขีดความสามารถของพนักงาน และให้โอกาสพนักงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับดิจิทัลดิสรัปชั่น โดยในอดีตสาขาธนาคารมีอยู่ 1.2 พันสาขา วันนี้ปรับลดลงเหลือกว่า 900 สาขา ขณะที่พนักงานปรับลดต่อเนื่องเหลือ ระดับ 1หมื่นกว่าคน จากการลาออกโดยธรรมชาติปีละเกือบ 2พันคน โดยไม่ต้องปลดพนักงาน 

อย่างไรก็ตามการปลดพนักงาน อาจเกิดขึ้นบ้าง เป็นสิ่งที่ลำบากใจ แต่เหล่านี้คือความจริงใจ ที่ต้องพูดความจริง และดูแลเท่าที่แบงก์จะทำได้ เพราะการทำธุรกิจแบงก์ ต้องนึกถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม แบงก์ต้องพยายามบานลานซ์สิ่งเหล่านี้เท่าที่สามารถทำได้

ในด้านรายได้ค่าธรรมเนียม ปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วน 30% ของรายได้ทั้งหมด ในอนาคตจะถูกดีสรัปลงอีกเกินครึ่ง หากยังทำธุรกิจแบบเดิมๆ ย่อมจะเป็นการทำลายธุรกิจธนาคารในฐานะตัวกลางลงเรื่อยๆ เพราะปัจจุบัน เทคโนโลยีบล็อกเชนได้เข้ามาแทนที่ ได้รับความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจ และมีต้นทุนต่ำ

"แบงก์ต้องดีไซน์ตัวเองว่าจะทำอย่างไร อยู่ตรงไหน เพราะอนาคตเรื่องเงินฝาก หรือเงินทุน แทบจะไม่ใช่โจทย์ใหญ่ของแบงก์แล้ว ขณะเดียวกัน หากสามารถทำให้มีการเปิดบัญชี โดยที่ไม่ต้องใช้แบงก์ ไม่ต้องเข้าแบงก์ เชื่อว่าตัวเลขการเติบโตต่างๆในปัจจุบัน อาจติดลบ หรือเป็น 0% ได้ทันที"