SSF ป่วนตลาดหุ้น โบรกคาดเม็ดเงินหายหมื่นล้าน

SSF ป่วนตลาดหุ้น โบรกคาดเม็ดเงินหายหมื่นล้าน

วงการตลาดทุน ห่วงกองทุน SSF สะเทือนตลาดหุ้น เหตุไร้ข้อจำกัดการลงทุน ต่างจาก “แอลทีเอฟ” ที่ขีดเส้นการลงทุนในหุ้นไม่ต่ำกว่า 65% “นักวิเคราะห์” ประเมินเงินทุนส่อไหลเข้าลดลงกว่าครึ่ง จากปกติที่มักเข้าตลาดหุ้นไม่น้อยกว่า 3-4 หมื่นล้านต่อปี

วงการตลาดทุนแสดงความเป็นห่วงต่อเม็ดเงินลงทุนใน “ตลาดหุ้น” หลังกองทุนรวมหุ้นระยะยาว(LTF) จะหมดสิทธิประโยชน์ทางภาษีลงในสิ้นปีนี้ แม้ว่าคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพิ่งจะมีมติอนุมัติการให้สิทธิทางภาษีกับกองทุนประเภทใหม่ คือ กองทุนรวมเพื่อการออม(Super Saving Fund หรือ SSF) ที่มาแทนกอง LTF แต่เนื่องจากกองทุน SSF ให้สิทธิการลงทุนได้เสรี โดยไม่ได้กำหนดให้ต้องลงทุนในตลาดหุ้นอย่างน้อย 65% เหมือนกับกองทุน LTF จึงประเมินกันว่า จะทำให้เม็ดเงินจากนักลงทุนสถาบันในตลาดหุ้นไทยหายไปพอสมควร

สำหรับกองทุน SSF ที่ ครม. มีมติเห็นชอบส่งเสริมการลงทุนไปเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา ให้สิทธิการลดหย่อนภาษีสูงถึง 30% เทียบกับกองทุน LTF ที่ให้สิทธิลดหย่อนเพียง 15% แต่กองทุน SSF ใช้สิทธิลดหย่อนได้ไม่เกิน 2 แสนบาทต่อปี และเมื่อรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF) ต้องไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปี และกองทุนนี้ต้องถือลงทุนอย่างน้อย 10 ปี

นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า กองทุน SSF สามารถลงทุนได้หลากหลาย ไม่มีข้อจำกัดว่าต้องลงทุนในตลาดหุ้นอย่างน้อย 65% เหมือนกองทุน LTF จึงประเมินว่า เม็ดเงินที่จะไหลเข้าตลาดหุ้นอาจลดลงมากกว่า 50% 

“โดยปกติเงินจากกองทุน LTF มักไหลเข้าตลาดหุ้นไทยปีละประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท หลังจากนี้เมื่อมีกองใหม่ คือ SSF ก็คาดว่าจะลดลงเหลือ 1 หมื่นล้านบาท เพราะแรงจูงใจในการซื้อน้อยลง อีกทั้งกองทุนนี้ต้องถืออย่างน้อย 10 ปี”

 ทั้งนี้ หากประเมินอายุการถือครองต่ออัตราภาษีที่หักได้ เช่นหักลดลงภาษีได้ 30 % ระยะเวลา 10ปี หักลดหย่อนภาษีได้ปีละ 3 % แต่ LTF เดิมถือครอง 7 ปี เฉลี่ย หักลดหย่อนภาษีได้ปีละ 4.5 % (ไม่นับผลตอบแทนการลงทุน) 

157546868624

นอกจากนี้แม้กองทุนใหม่ที่ให้หักลดหย่อนภาษีได้เป็น 30 % จากเดิม ที่ 15 % ของรายได้ นั้น เชื่อว่า ประชาชนจะมีการใช้สิทธิไม่เต็ม เพราะ ต้องมีเงินไว้เพื่อในการใช้จ่ายส่วนตัว ดังนั้นจะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยปีหน้า เพราะ จะมีเม็ดเงินจากนักลงทุนสถาบันในประเทศคงไหลเข้าตลาดหุ้นไทยน้อยลง 

นายสรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย กล่าวว่า จากสถิติแรงซื้อหุ้นของกองทุน LTF ในช่วง4 ปีย้อนหลังอยู่ที่ประมาณปีละ 3.5 หมื่นล้านบาท แต่ จากวงเงินที่ให้สิทธิซื้อกองทุน SSF เมื่อรวมกับ กองทุน RMF และกองทุนอื่นไม่เกิน 5 แสนบาท ลดลงจากเดิมที่ 1 ล้านบาท ทำให้คนที่มีฐานรายได้ เกิน 4 ล้านบาทต่อปี ซื้อได้น้อยลงเหลือ ไม่เกิน 2 แสนบาท และทางบริษัทได้มีการจัดทำผลสำรวจ

เบื้องต้นลุ่มคนที่ได้สิทธิซื้อวงเงินเพิ่มจาก 15% เป็น 30% นั้น พบว่าประมาณ 70-80 % จะไม่ใช้สิทธิ ซื้อเพิ่ม ดังนั้นประเมินว่าเม็ดเงินที่จะเข้ามาลงทุนลดลงไม่ต่ำกว่า 6 พันล้านบาท เหลือประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในปีหน้า

**คลังปัดเพิ่มลดหย่อนกองเลี้ยงชีพ

นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กอง SSF ไม่ได้เน้นการลงทุนหุ้นเชื่อว่าไม่กระทบกับตลาดทุนไทย เพราะนักลงทุนมีความรู้ที่จะเลือกลงทุนตามความเสี่ยงของตนได้เองและกองทุนเองทุกวันนี้ก็ลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายอยู่แล้ว อีกทั้งมองว่าตลาดทุนไทยยังแข็งแกร่ง เพราะเม็ดเงินลงทุน LTF ที่ผ่านมาคิดเป็นสัดส่วน 2% กว่าของมาร์เก็ตแคป ดังนั้นแทบจะไม่มีนัยต่อตลาด ส่วนกรณีการเพิ่มลดหย่อนภาษี PVD คงไม่มีเพราะก็ให้รวมอยู่ในวงเงิน500,000บาทอยู่แล้ว

นายวศิน วณิชย์วรนันต์ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน และ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) กสิกรไทย กล่าวว่า ขนาดของกองทุน LTF ทั้งอุตสาหกรรมในปัจจุบัน มีประมาณ 4 แสนล้านบาท การที่รัฐบาลไม่ต่ออายุกองทุนดังกล่าวออกไป คาดว่าจะมีเม็ดเงินไหลออกประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท และประเมินว่าจะมีเม็ดเงินจาก SSF เข้ามาทดแทนประมาณ 2-4 หมื่นล้านบาท

"รัฐบาลพยายามให้คนตระหนักถึงการออมเพื่อการเกษียณมากขึ้น จึงขยายสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากเดิมที่ 15% เป็น 30% และปรับให้การออมเพื่อการเกษียณมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยโครงสร้างใหม่ของกองทุน SSF ไม่จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่อง แต่ต้องถือครบ 10 ปี ดังนั้น คนรุ่นใหม่หรือผู้ที่ไม่เคยลงทุนใน RMF อาจจะมีความสนใจมากขึ้น"

**คนชั้นกลางได้ประโยชน์จาก SSF

นางสาวชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์กองทุน ประจำประเทศไทย บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ซ (ประเทศไทย) กล่าวว่า กองทุน SSF มีประเด็นที่น่าสนใจ ประเด็นแรก คือ การลดหย่อนได้มากขึ้นจาก 15% เป็น 30% ของเงินได้พึงประเมินแต่ยอดสูงสุดนั้นต่ำลงจาก 5 แสนบาท เป็น 2 แสนบาท นั่นหมายความว่ากองทุน SSF นี้จะมีประโยชน์กับประชาชนกลุ่มใหญ่คือผู้ที่มีรายได้ไม่สูงมากนัก โดยจะทำให้นำมูลค่าการลงทุน SSF ไปลดหย่อนได้มากขึ้นและเสียภาษีน้อยลง

ประเด็นที่สอง คือ เงื่อนไขการรวมมูลค่าหน่วยลงทุน SSF กับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ สูงสุด 5 แสนบาท ที่อาจกระทบกับการเติบโตของกองทุน RMF เช่น 1.กรณีประชาชนกลุ่มรายได้ปานกลางเลือกลงทุน SSF เต็มตามเกณฑ์สูงสุดและมีการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้วอาจขาดสภาพคล่องเพื่อลงทุนกองทุน RMF และ 2.กรณีกลุ่มรายได้สูงที่ยังไม่เข้าใกล้วัยเกษียณอาจเลือกลงทุน SSF ก่อนเพราะมีระยะการถือครองที่สั้นกว่าและเมื่อรวมกับมูลค่าการลงทุนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วจะทำให้ซื้อกองทุน RMF ได้น้อยลง (ส่วนต่างที่เหลือจากการลงทุน SSF และ PVD แล้ว)

ประเด็นสุดท้ายคือ การถือครองที่ยาวขึ้นซึ่งเป็นความตั้งใจของทางภาครัฐที่สนับสนุนให้ประชาชนออมเงินระยะยาว รวมทั้งยังคงได้ประโยชน์ทางภาษี อย่างไรก็ตามด้วยระยะการถือครอง 10 ปีกับปริมาณการออมต่อปีที่มากขึ้น นักลงทุนควรพิจารณาด้านสภาพคล่องส่วนตัวประกอบไปด้วย