“พาณิชย์” เล็งดึงธุรกิจ 4.0 พ้นกฎหมายต่างด้าว

“พาณิชย์” เล็งดึงธุรกิจ 4.0 พ้นกฎหมายต่างด้าว

“กรมพัฒนาธุรกิจการค้า” ถกบีโอไอ ดึงบัญชีแนบท้ายกฎหมายต่างด้าวเพิ่มเน้นธุรกิจที่สอดคล้องนโยบายไทยแลนด์ 4.0 หลังล่าสุดปรับออกแล้ว 45 ธุรกิจ เล็งเพิ่มอีก 4 ประเภทธุรกิจ

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ มีแผนที่จะอำนวยความสะดวกในการเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในไทยให้กับคนต่างด้าว โดยล่าสุดได้มีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อพิจารณาปรับธุรกิจออกจากบัญชีแนบท้ายพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 เพิ่มเติม ขณะกำลังรอข้อมูลจากบีโอไออยู่ แต่หลักๆ จะเน้นพิจารณาธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมสมัยใหม่

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ได้มีการปรับธุรกิจออกจากบัญชีแนบท้ายแล้ว 45 ธุรกิจ และกำลังจะปรับออกเพิ่มอีก 4 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจบริการโทรคมนาคม สำหรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่ 1 ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคม , ธุรกิจศูนย์บริหารเงิน ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน , ธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยานตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ สำหรับใบรับรองหน่วยซ่อม ประเภทที่ 2 สำหรับบำรุงรักษาส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน และใบรับรองหน่วยซ่อมประเภทที่ 3 สำหรับบำรุงรักษาบริภัณฑ์และชิ้นส่วนของอากาศยาน และธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง การปรับธุรกิจออกจากบัญชีแนบท้าย ทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่ต้องมาขออนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจกับกรมฯ อีก

โดยธุรกิจที่ปรับออก ส่วนใหญ่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลอยู่แล้ว เช่น ธนาคาร ประกันภัย ก็ให้ไปขออนุญาตที่หน่วยงานตรงเลย หรืออย่างธุรกิจที่ไม่กระทบคนไทย เช่น การตั้งสำนักงานผู้แทน ก็ไม่ต้องมาขอ เป็นต้น และจากนี้ไป กรมฯ จะมีการทบทวนบัญชีแนบท้ายถี่ขึ้น แทนที่จะทบทวนปีละ 1 ครั้งตามที่กฎหมายระบุไว้ เพราะต้องการปรับให้สอดคล้องกับการดึงดูดการลงทุน และการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจของคนต่างด้าว

นอกจากนี้ กรมฯ ยังจะทำการเชื่อมโยงข้อมูลกับบีโอไอ โดยหากคนต่างชาติได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอแล้ว ตามกฎหมายต้องมาขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจกับกรมฯ อีก โดยกรมฯ ต้องออกหนังสือรับรองให้ภายใน 30 วัน ซึ่งจะดำเนินการให้เหลือแค่ 1 วัน