ของขวัญจาก ‘พ่อ’ ที่ปลายด้ามขวาน

ของขวัญจาก ‘พ่อ’ ที่ปลายด้ามขวาน

น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ใน พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องใน วันพ่อ 2562 ผ่านเรื่องเล่าจาก ว่าที่ร้อยโทดิลก ศิริวัลลภ ล่ามภาษามลายูประจำพระองค์

นอกจากทรงประกอบพระราชกรณียกิจ พระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, พระราชดำรัส, พระบรมราโชวาท ที่ยังประโยชน์สุขในการดำเนินชีวิตแก่ประชาชน ทุกวันขึ้นปีใหม่ของทุกปีชาวไทยยังเฝ้ารอ ‘ส.ค.ส.พระราชทาน’ จาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อย่างใจจดใจจ่อ ดุจเฝ้ารอพรประเสริฐเป็นของขวัญพระราชทาน

แม้ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว แต่ทุกเรื่องราวที่พระองค์ทรงทำไว้ ยังคงเป็นของขวัญสุดล้ำค่า ดังเช่นเรื่องเล่าจากดินแดนใต้สุดปลายประเทศไทย ซึ่งเล่าไว้โดย ว่าที่ร้อยโทดิลก ศิริวัลลภ ล่ามภาษามลายูประจำพระองค์

กรุงเทพธุรกิจ ขอนำมาถ่ายทอดอีกครั้งเนื่องใน วันพ่อ 2562 เพื่อน้อนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ของ 'พ่อแห่งแผ่นดิน' พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 

157546493040

ว่าที่ร้อยโทดิลก ศิริวัลลภ (พ.ศ.2559)

ว่าที่ร้อยโทดิลก เริ่มถวายงานในหน้าที่ ล่ามภาษามลายู ตั้งแต่ปีแรกที่ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ เพื่อทรงประกอบพระราชกรณียกิจเยี่ยมเยี่ยนราษฎรในจังหวัด นราธิวาส เมื่อปีพ.ศ.2516 

หน้าที่ ‘ล่ามภาษามลายู’ ทำให้ว่าที่ร้อยโทดิลกมีโอกาสตามเสด็จถวายงานอย่างใกล้ชิดทุกครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จทรงงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้ประจักษ์ถึงพระราชจริยวัตร น้ำพระราชหฤทัย และพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้เกินคณานับทุกครั้ง

157546626237

เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโรงเรียนร่มเกล้าและทรงเยี่ยมราษฎรในเขตพื้นที่อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2521

แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งซึ่งว่าที่ร้อยโทดิลกยกให้เป็น ‘ที่สุด’ สำหรับตัวเขา

“ครั้งหนึ่งท่านเสด็จไปที่ตำบลภูเขาทอง วัดโต๊ะโมะ อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส....” กล่าวถึงตรงนี้ ว่าที่ร้อยโทดิลก เล่าแทรกให้เห็นภาพการทรงงานของ ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ เพิ่มเติมว่า

รู้ตั้งแต่กลางคืนแล้วว่าจะไปไหน แต่จริงๆ เวลาเสด็จปกติ เราจะไม่รู้ล่วงหน้า ไปใหม่ๆ จะไม่รู้ แต่หลังๆ ท่านจึงบอก ตอนไปตามโครงการ จะบอกล่วงหน้า แต่ก็ไม่มาก มักจะรู้ที่โต๊ะอาหารตอนตีหนึ่งตีสอง ท่านจะบอกว่าพรุ่งนี้ไปไหน ท่านเสวยดึก เพราะกว่าจะกลับมาจากการเยี่ยมราษฎรก็สองทุ่มสามทุ่ม กว่าจะเช็ดหน้าเช็ดตา ออกมาก็สามทุ่ม

คำกล่าวข้างต้นทำให้ทราบว่า เวลาทรงงานในพื้นที่ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มิได้เสวยพระกระยาหารตามเวลาปกติ หากการเยี่ยมเยียนสอบถามทุกข์สุขราษฎรของพระองค์ยังมิเสร็จสิ้น มิต้องสงสัยเลย พระองค์ทรงตรากตรำพระวรกายเพื่อพสกนิกรของพระองค์เพียงใด

ว่าที่ร้อยโท เล่าต่อไปว่า 

"วันนั้น... คือออกจากนราธิวาสทางอำเภอตากใบ อำเภอโกลก อำเภอแว้ง อำเภอสุคิริน พอถึงหมู่บ้านไอตีมุง มีสามแยก ทางตรงเป็นสะพานเหล็ก แต่สะพานหาย ยกขึ้นมาอยู่บนถนน ชาวบ้านบอกซุงเก่าๆ ลอยน้ำมาช้อนสะพานขึ้นมาบนถนน อีกทางซ้ายมือไปบ้านโนนสมบูรณ์ สะพานไม้หายไป เพราะน้ำพัดไป ฝนตกบนภูเขา น้ำท่วมเร็ว... 

จะไปต่อไม่ได้ แต่พระองค์ตั้งใจมากตั้งแต่กลางคืน ว่ามีงานหลายอย่างจะไปสำรวจ เรื่องชลประทาน ทำนบ ฝายน้ำล้น อ่างเก็บน้ำ แต่ไปไม่ได้ก็หมดเลย... 

ทหารทูลว่า เสด็จกลับเถิดพระพุทธเจ้าข้า เพราะไปไม่ได้แล้ว ท่านบอกว่าเขาลำบากนะ เราต้องไป ทหารก็นิ่งไป คงคิดในใจจะไปอย่างไร ไม่มีทางไปแล้ว...

157546516258

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้วิทยุถาม ว่ามีประชาชนมาหรือยัง 

วิทยุตอบมาทันที ประชาชนมาเยอะแล้ว มาตั้งแต่หกโมงเช้า ตอนนั้นเวลาสิบโมงครึ่งโดยประมาณ พระองค์ว่า ถ้าประชาชนอยู่เพราะรอเรา เราก็ต้องไปให้ได้ ทรงใช้สติ ทรงคิด ท่านประทับขึ้นบนรถ ทุกคนกลับขึ้นรถหมด...

ส่วนผมนั้นเฉยๆ ไปก็ดี ไม่ไปก็ไม่เป็นไร ในขณะที่นั่งอยู่บนรถ ผมนั่งรถคันเดียวกับท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ ราชเลขานุการในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สักพักมีวิทยุมา เรียกว่า 

พี่หญิง พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่าให้รถของพี่หญิงนำร่องนำหน้าลุยน้ำไปก่อน’ 

ท่านผู้หญิงหันมาถามผมว่า ‘คุณดิลกทราบไหมเป็นเสียงของใคร นั่นล่ะเสียงสมเด็จพระนางเจ้าฯ’ ท่านผู้หญิงถามผมว่า ‘ผมกล้าไหม’ ...ไม่มีทางเลือกแล้ว อย่างไรก็ต้องไป น้ำเชี่ยวและลึก ท่านผู้หญิงก็ให้ขับรถลงไป ผมชมคนขับรถ ถ้าลงไปตรงๆ รถคว่ำ พลิกได้ น้ำเชี่ยวมาก ต้องไปเลนซ้ายๆ แซะๆ ไป พอเจอที่ตื้นหน่อยจึงข้ามไปได้ แล้วก็ต้องกระแซะๆ ต่อไปอีกกว่าจะเจอทางขึ้นจากแม่น้ำ พระเจ้าอยู่หัวทรงขับ(รถยนต์พระที่นั่ง)เอง ผมหันกลับไปมองข้างหลัง บางทีน้ำจมกระโปรง(รถพระที่นั่ง) 

157546516239

ทรงขับรถพระที่นั่งลงฝ่าลำน้ำที่จังหวัดนราธิวาส เนื่องจากทรงทราบว่ามีราษฎรมารอเข้าเฝ้าฯ ตั้งแต่เช้ามืด และเพื่อทรงงานสำรวจเรื่องชลประทาน ทำนบ ฝายน้ำล้น อ่างเก็บน้ำ ดังที่ตั้งพระทัยไว้

เหตุการณ์นี้แสดงถึงความรักความผูกพันที่ทรงมีต่อประชาชนและงาน ทรงตั้งพระทัยว่าจะไป ต้องไปให้ได้ ผมถือว่าวันนั้นเป็นปาฎิหาริย์ที่ไปได้ ไม่เกิดเรื่อง ไม่เกิดอุบัติเหตุ ถ้าลงหลุมนิดหนึ่ง รถพลิก ไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้น ถามว่ามีพระเจ้าแผ่นดินที่ไหนในโลกนี้ยอมเสี่ยงอย่างนี้

ว่าที่ร้อยโทดิลก เล่าถึงเหตุการณ์สุดประทับใจข้างต้นเมื่อครั้งได้รับเชิญไปร่วมในงานแถลงข่าว Thailand Halal Assembly 2016 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2559 ณ อาคารจัตุรัสจามจุรี

มิได้ทรงเลือกปฎิบัติ
ทรงเรียนภาษามลายู

ว่าที่ร้อยโทดิลก เล่าด้วยว่า เมื่อก่อน พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมประชาชนภาคใต้โดยเสด็จประทับแรมปีละ 2 เดือน 

สิ่งหนึ่งที่ประจักษ์ได้ชัดเจน คือทั้งสองพระองค์มิได้ทรงเลือกปฎิบัติกับการนับถือศาสนาของประชาชน ทรงมีเมตตาเท่าเทียมกัน ประชาชนจะแต่งกายอย่างไรเข้าเฝ้าก็ได้ จะพูดไม่เป็น ก็มีล่าม 

157546542268

ทรงมีพระราชปฎิสันถารกับจุฬาราชมนตรี ในระหว่างเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดอาคารมัสยิดประจำจังหวัดนราธิวาส

"ท่านทรงหัดเรียนภาษามลายูเหมือนกัน ท่านบอกฝากซื้อหนังสือสักเล่ม ภาษามลายูตอนใต้ของไทยไปแต่ละจังหวัดก็พูดสำเนียงอีกอย่าง ก็อธิบายให้ท่านทราบ ว่ามี ‘ภาษามลายูถิ่น’ คือภาษามลายูตอนใต้ของไทยกับตอนเหนือของมาเลเซีย และ ‘ภาษามลายูกลาง’ ที่ใช้ทั่วไปหมดทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน ที่มีคนมุสลิม 

ท่านทรงโปรดให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเรียนด้วย  (พระราชอิสริยยศขณะนั้น)

สมเด็จพระเทพฯ พูดได้ แต่ท่านบอก ‘ฉันไม่พูดนะ เธอแปลให้ถูกก็แล้วกัน’  แต่ฟ้าหญิงจุฬาภรณฯ สบายใจได้เลย ท่านพูดภาษามลายูได้ พระสหายตามเสด็จท่านพูดภาษาอังกฤษ ท่านก็แปลเป็นภาษามลายูได้ ชาวบ้านทูลเป็นภาษามลายู ท่านก็แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ ชาวบ้านดีใจมาก"

157546644134

เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรศูนย์การศึกษาพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2529

ว่าที่ร้อยโทดิลก เล่าต่อไปว่า ในเวลานั้น สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ปัญหาเยอะมาก เพราะห่างไกลและกันดาร เท่าที่สังเกตการทรงงานของ ‘ในหลวงรัชกาลที่เก้า’ พบว่า ปัญหาด้านการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ ศาสนา อาชีพ และความยากจน พระองค์ทรงพัฒนาเรื่อง ‘ดิน’ เป็นเรื่องนำ

คิดดูปัญหาดินพรุในประเทศไทยมีสี่แสนไร่ อยู่ในจังหวัดนราธิวาสสามแสนไร่ อีกแสนไร่อยู่ในสิบกว่าจังหวัด ท่านก็พัฒนาดินพรุดินเปรี้ยวให้เป็นดินดี สามารถประกอบอาชีพเกษตรได้ ที่ไหนมีโรคกี่โรค นราธิวาสมีหมด แต่โรคที่ที่อื่นไม่มี นราธิวาสมีครับ...โรคเท้าช้าง

157546706522

ทรงมีพระราชดำรัสกับผู้นำศาสนาอิสลามในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมผู้นำศาสนาอิสลามและราษฎรจังหวัดปัตตานี ณ มัสยิดกลาง จังหวัดปัตตานี

พระเจ้าแผ่นดินกับประชาชน
ฝาก ‘สลาม’ กันไปมา

พ.ศ.2539 เป็นปีสุดท้ายที่ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากหลังจากนั้นพระองค์ทรงพระประชวร ทว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเข้ามาทรงงานต่อ 

ว่าที่ร้อยโทดิลก เล่าว่า "สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเก่งมาก ทรงฉลาดมาก เมื่อมีฎีกาถวาย ท่านเรียกคนถวายฎีกามาเข้าเฝ้า เรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทรงถามว่าปัญหาเกิดจากอะไร ให้เจ้าหน้าที่เสนอวิธีแก้ไข แล้วท่านก็รับสั่งว่า ‘เท่าที่เธอพูดมาทั้งหมด ฉันเห็นด้วย ขอให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ให้ได้ตามที่แจ้งมา มีปัญหาอะไรบอกฉันมา และบอกว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้เสด็จมา ท่านฝากความคิดถึงให้ฉันบอกกับพวกท่านทั้งหลาย’ 

157546558945

ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับราษฏร ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรภูมิประเทศ และทรงเยี่ยมราษฏรในเขตพื้นที่ตำบลจอเบาะ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส

“คนมุสลิมรักพระเจ้าอยู่หัวกันทั้งนั้น” ว่าที่ร้อยโทดิลกเล่าย้อนไปถึงช่วงเวลาที่ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ยังทรงมีพระชนม์ชีพ ถึงการฝาก สลาม (slam) กันไปมาระหว่างพระเจ้าแผ่นดินและประชาชน ไว้ด้วยว่า 

“คนมุสลิมฝากสลาม(slam)ผมมา ฝากกราบพระบาท สลามนี่ไม่บอกไม่ได้ ผมทูลพระเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่เก้า)กับพระราชินี ท่านดีใจ บอกขอบใจมาก ฝากสลามกลับไปด้วย บังเอิญผมไปฝากในมัสยิด คนทั้งมัสยิดก็ฝากสลามกลับพระเจ้าอยู่หัว เป็นสื่ออย่างหนึ่งที่พระเจ้าอยู่หัวทรงเข้าใจ ทุกวันนี้องค์ไหนเสด็จไป ประชาชนก็จะฝากสลามพระเจ้าอยู่หัว เป็นการสร้างความผูกพัน"

ทุกวันนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระอาการประชวร ไม่สามารถเสด็จฯ ทรงงานภาคใต้ แต่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ทรงงานต่ออีก

“ทรงงานของพระองค์เองก็มี ทรงงานของพระเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่เก้า)มาเพิ่ม เสด็จตามโรงพยาบาล โรงเรียน แก้ปัญหาด้านการศึกษา เป็นงานที่พระเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่เก้า)ทรงฝากมา เรื่องอาชีพ คุณภาพชีวิต” ว่าที่ร้อยโทดิลก กล่าวและว่า เมื่อก่อน กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯ ปีละหนึ่งครั้งเป็นขบวนใหญ่ แต่ตอนนี้เสด็จฯ ไปปีละสองครั้ง คือในเดือนกุมภาพันธ์กับเดือนกันยายน

157546565241

เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรประตูระบายน้ำบางนราตอนบน โครงการพัฒนาลุ่มน้ำบางนราอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส

เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา
ทรงนั่งในหัวใจชาวมุสลิม

อาหารการกินของชาวมุสลิมมีเอกลักษณ์และเป็นข้อปฏิบัติทางศาสนา พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเข้าพระทัยอย่างลึกซึ้ง

“ทุกครั้งที่มีพระราชทานเลี้ยง พระองค์ทรงดูแลเป็นพิเศษ  ไม่ใช่แค่อาหารฮาลาลอย่างเดียว ยิ่งกว่านั้นอีก ถ้วย ชาม แก้วน้ำ ช้อนส้อม รับสั่งอย่าเอาของเก่า สั่งใหม่จากโรงงาน ให้คนมุสลิมได้สบายใจ เมื่อพระราชทานเลี้ยงเสร็จแล้ว รับสั่งล้างทำความสะอาด เก็บไว้เป็นพิเศษ ไม่นำมาใช้ในงานอื่น แต่จะใช้สำหรับพระราชทานเลี้ยงชาวมุสลิม” ว่าที่ร้อยโทดิลก กล่าวและเล่าถึง ‘อาหารอิสลาม’ ที่เป็นพระกระยาหารโปรดของ ‘ในหลวงรัชกาลเก้า’ ว่า

“ที่จริงในหลวงท่านโปรดหลายอย่าง เสวยง่ายๆ แบบพอเพียงตามหลักปรัชญา ผมก็ไม่ได้ถามท่าน แต่เห็นทุกคร้้งที่มีงานเลี้ยงในวัง สามอย่างนี้ไม่เคยขาดเลย ข้าวหมกไก่ โรตี มัสมั่น น้ำจิ้มสะเต๊ะ”

157546575689

เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรที่ประสบปัญหาการทำนาไม่ได้ผล เพราะน้ำเค็มท่วมพื้นที่ทำกิน ณ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2525

ว่าที่ร้อยโทดิลก กล่าวด้วยว่า คำกล่าวที่ว่าพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีหลักการทรงงาน เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา เป็นไปตามนั้นโดยแท้

"พระองค์ทรงเข้าใจทุกเรื่องของชาวมุสลิม สร้างความรู้จักรู้ใจคนมุสลิม ท่านจึงเข้าไปอยู่ในหัวใจชาวมุสลิม ทรงพัฒนาเรื่องการศึกษา อาชีพ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ แต่การสร้างความศรัทธา สำคัญมาอันดับหนึ่ง ท่านจึงให้ความสำคัญในเรื่องความศรัทธา เรื่องของจิตใจ ในพระตำหนักมีสถานที่ละหมาด เรื่องถือศีลอดท่านก็ทรงเตรียมการ ผมถือศีลอดวันแรก ฟ้าหญิงจุฬาภรณฯ ตามเสด็จ ทรงถามผมว่า วันนี้แก้บวชกี่โมง ผมบอกอีกสิบห้านาที พอได้เวลาอีก 15 นาทีนาฬิกาดัง ฟ้าหญิงจุฬาภรณฯ ทูลสมเด็จพระนางเจ้าฯ ว่า อีก 15 นาทีชาวมุสลิมจะแก้บวชพระเจ้าค่ะ ท่านว่าอย่างนั้นพวกเราหยุดก่อน เอาอาหารแจกให้ชาวบ้าน ข้าวกล่อง ผลไม้ น้ำ ขนม คนไปละหมาดก็ไปละหมาดก่อน จะมาหรือไม่มาอีก ก็ไม่ว่า บางทีผู้นำศาสนาได้เวลาละหมาด ท่านบอกไปละหมาดก่อน ท่านให้เกียรติมาก"

157546485431

คณะอนาชีดมัจลิซุดดินี ผู้ขับร้องบทเพลง ‘สรรเสริญพระบารมี’ ภาคภาษาอาหรับ

เพลงสรรเสริญพระบารมี
ภาคภาษาอาหรับ

ในงานแถลงข่าว Thailand Halal Assembly 2016 คณะผู้จัดงานยังได้ร่วมน้อมเกล้าฯ รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีต่อมุสลิมในประเทศไทย เชิญผู้เข้าร่วมงานฟังบทเพลง สรรเสริญพระบารมี ภาคภาษาอาหรับ ขับร้องโดย คณะอนาชีดมัจลิซุดดินี จำนวน 8 คนในเครื่องแต่งกายชุดโต้ป(thobe)สีขาว (อนาชีด หมายถึง รูปแบบการร้องเพลงไม่มีเครื่องดนตรี)

เพจเฟซบุ๊คของสำนักจุฬาราชมนตรีได้เขียนข้อความระบุถึงเสียงร้องเพลง ‘สรรเสริญพระบารมี ภาคภาษาอาหรับ’ ไว้ดังนี้

“เสียงขับร้องอนาชีด ทำนองเพลงสรรเสริญพระบารมี ภาคภาษาอาหรับ ซึ่งถูกนำมาเรียบเรียงทำนองประสานเสียงใหม่ให้เนื้อหาตรงกับบทเพลงสรรเสริญพระบารมี โดย อ.อาลี เสือสมิง อาจารย์ใหญ่โรงเรียนมัจลิซุดดินี โดยแปลงเป็นเนื้อร้องภาษาอาหรับจากเนื้อหาเพลงสรรเสริญพระบารมี โดยอาจารย์ต่วน สุวรรณศาสน์ อดีตจุฬาราชมนตรี ในครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จทางชลมารคผ่านตรอกโรงภาษีเก่า ตั้งอยู่บริเวณมัสยิดฮารูณ ถ.เจริญกรุง กรุงเทพฯ”

ตัวแทนคณะอนาชีดมัจลิซุดดินี กล่าวว่า ถ้อยคำที่เขาเปล่งเสียงเป็นคำราชาศัพท์ในภาษาอาหรับ ซึ่งมีความหมายเดียวกับเนื้อเพลงสรรเสริญพระบารมี

-----------------------------------------------

ขอบคุณภาพและข้อความจาก oldwebsite.ohm.go.th และหนังสือ ‘๗๐ สัมพัจฉร์ฉลองรัชธรรมราชา’

#วันพ่อ2562 #พระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้