'บีทีเอส' มั่นใจรับหนี้แสนล้าน แลกต่อสัมปทานสายสีเขียว

'บีทีเอส' มั่นใจรับหนี้แสนล้าน แลกต่อสัมปทานสายสีเขียว

“บีทีเอส” ลุ้นมหาดไทยชงต่อสัมปทาน 30 ปีเข้า ครม. ระบุมั่นใจฐานะการเงิน ยืนยันมีความพร้อมรับหนี้ 1.1 แสนล้าน

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความคืบหน้าของแนวทาวการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรอกระทรวงมหาดไทย เสนอแนวทางให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ซึ่งส่วนตัวไม่ทราบในรายละเอียดว่าจะมีการต่อสัญญาหรือไม่ 

รวมทั้งที่ผ่านมายังไม่ได้มีการหารือเพิ่มเติมกับภาครัฐส่วนใด แต่ก็ทราบว่าทางกรุงเทพมหานคร มีแนวคิดที่จะกำหนดกรอบอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวอยู่ที่ 65 บาทตลอดสาย ส่วนประเด็นของการรับโอนภาระหนี้แทนกรุงเทพมหานคร 1.1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นค่าร่วมลงทุนระบบและค่าก่อสร้างงานโยธาส่วนต่อขยาย 2 ช่วงรวมดอกเบี้ย ปัจจุบันบีทีเอสมีความพร้อมด้านการเงินแล้ว

รายงานข่าวระบุว่า การเปิดทดลองเดินรถไฟฟ้า สถานีห้าแยกลาดพร้าว - สถานี ม.เกษตร จะให้บริการฟรีถึง 2 ม.ค.2563 เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณถนนพหลโยธินและถนนวิภาวดีรังสิต โดยการให้บริการดังกล่าว จะแบ่งระยะเวลาการให้บริการเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงเวลาเร่งด่วน (Peak) เช้าและเย็น ตั้งแต่เวลา 07.00-09.00 น. และตั้งแต่เวลา 16.30-20.00 น.

ทั้งนี้ ช่วงเวลาเร่งด่วนจะให้บริการเดินรถตั้งแต่ สถานีเคหะสมุทรปราการ (E23) ไปตามเส้นทางสายสุขุมวิทจนถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (N13) แล้วกลับรถวิ่งให้บริการในเส้นทางเดิมไปจนถึงเคหะสมุทรปราการ (E23) ซึ่งจะวิ่งสลับแบบ 1 ต่อ 1 กับขบวนรถไฟฟ้าที่วิ่งให้บริการในเส้นทางสถานีหมอชิต (N8) ถึงสถานีสำโรง (E15) 

ส่วนนอกเวลาเร่งด่วนและวันหยุด (เสาร์-อาทิตย์) จะให้บริการตั้งแต่สถานีเคหะสมุทรปราการ (E23) ไปตามเส้นทางสายสุขุมวิท จนถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (N13) แล้วกลับรถวิ่งให้บริการในเส้นทางเดิมไปจนถึงเคหะสมุทรปราการ (E23)

นอกจากนี้ คาดว่าภายหลังเปิดให้บริการ 4 สถานี จากสถานีแยกลาดพร้าว-มหาวิทยาลัยเกาตรศาสตร์ จะผู้ใช้บริการอยู่ที่ 100,000 เที่ยวคนต่อวัน เนื่องจากเป็นเส้นทางที่อยู่ใกล้กับ สถานที่ราชการ สถานศึกษา ศูนย์การค้าและย่านที่พักอาศัยหนาแน่น และหากเปิดเดินรถเต็มระบบจากสถานีหมอชิต ถึงสถานีปลายทางคูคต ในช่วงปลายปี 2563 คาดการณ์ว่าจะมีผู้โดยสารมากกว่า 200,000 เที่ยวคนต่อวัน

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต- สะพานใหม่- คูคต เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบขนส่งมวลชนทางรางตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รับมอบหมายให้ก่อสร้าง เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยเริ่มก่อสร้างปี 2558 ส่วนกรุงเทพมหานครดำเนินงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและเดินรถไฟฟ้า

นอกจากนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มีระยะทาง 19 กิโลเมตร เชื่อมโยงเส้นทางระหว่างสถานีหมอชิตวิ่งไปตามถนนพหลโยธิน และสุดแนวเส้นทางเข้าสู่บริเวณเกาะกลางของถนนลำลูกกาที่สถานีคูคต 

โครงการดังกล่าวยังมีศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า 1 แห่ง และอาคารจอดแล้วจร 2 แห่ง ได้แก่ บริเวณถนนพหลโยธิน กิโลเมตรที่ 25 ที่สามารถจอดรถได้ถึง 1,042 คัน และบริเวณใกล้กับสถานีตำรวจภูธรคูคต ซึ่งสามารถจอดรถได้ประมาณ 713 คัน