‘จัสมิน’ ผนึกกำลัง 'ดีแทค' จุดพลุแข่งเดือดบรอดแบนด์

‘จัสมิน’ ผนึกกำลัง 'ดีแทค'  จุดพลุแข่งเดือดบรอดแบนด์

สร้างความฮือฮาเลยในวงการโทรคมนาคมเมื่อรายใหญ่ จาก 2 ธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกันคือ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS จับมือผนึกกำลัง บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC

     เพื่อสร้างจุดแข็งไว้สู้ในตลาดที่มีการแข่งขันสูง คืออินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ และ ผู้ให้บริการสื่อสาร หรือโอเปอเรเตอร์

   ความร่วมมือของทั้ง 2 บริษัท คือ การเป็น Strategic Partner ให้บริการลูกค้าบนโครงข่าย Fixed Broadband ของ TTTBB เป็นของค่ายจัสมิน และโทรศัพท์มือถือของดีแทค ให้สามารถเชื่อมต่อการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้แบบไม่มีขีดจำกัด

     โดยระบุชัดเจนว่าความร่วมดังกล่าวจะมีการทำโปรโมชั่นร่วมกันทั้งอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ โทรศัพท์มือถือไวไฟ( WiFi ) บริการ ผ่านอินเทอร์เน็ตเปิด (Over-the-topหรือ OTT) และ Content ต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าได้ใช้บริการที่ดีในราคาที่คุ้มค่า ซึ่งลูกค้าจะได้รับความสะดวกที่มากขึ้นจากการใช้บริการผ่านช่องการให้บริการจากทั้งสองบริษัท

    จากข้อมูลข้างต้นเป็นเสมือนสารท้ารบกับเบอร์ 1 ทั้งในตลาดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์และโอเปอเรเตอร์ ว่าจะต้องเจอการแข่งขันที่รุนแรงจากผู้เล่นหน้าเก่าแต่กลุ่มใหม่อย่างแน่นอน ซึ่งจะมีผลต่อแนวโน้มการเติบโตในอนาคตของกลุ่มสื่อสาร

    เมื่อลงมาเจาะแต่ละตลาดการแข่งขันในฝั่งของโอเปอเรเตอร์ ที่ มี 3 ราย พบว่า ดีแทคอยู่ในภาวะเสียเปรียบคู่แข่งมาตลอด จากการขาดคลื่นในมือที่จะใช้ในการแข่งขันในช่วงที่มีการประมูล 4 G จนทำให้ต้องเจรจาของเช่าคลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์จาก บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในราคา 4,510 ล้านบาทต่อปี

   

หลังจากประสบปัญหาฐานลูกค้าลดลงกระทบรายได้ที่หดตัวลงค่อนข้างมาก จนเจอขาดทุนต่อเนื่อง ด้วยจำนวนลูกค้าลดลง จาก 25 ล้านเลขหมาย มีส่วนแบ่งการตลาด เกือบ 30 %ล่าสุดในรอบ 9 เดือน ปี 2562 ฐานลูกค้าดีแทคมาอยู่ที่ อยู่ที่ 20.4 ล้านเลขหมาย ส่วนแบ่งการตลาดลงมาอยู่ที่ 20 % คู่แข่งเข้ามาชิงลูกค้าและกินส่วนแบ่งการตลาดแซงหน้าไป

    ปัจจุบันโอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 ราย จะมีคลื่นในมือเพื่อให้บริการ 4 G ได้เต็มรูปแบบใกล้เคียงกันแต่ด้วยการเชื่อมบริการไปยังสินค้าอื่นๆ เช่น คอนเทนส์บันเทิง กีฬา หรือ ชอปปิง ดีแทคยังเป็นรองกว่า 2 ราย ทำให้ยังไม่สามารถดึงฐานลูกค้ากลับมาได้เท่าเดิม

    ยิ่งในช่วงที่มีการทำสงครามค่าโทร ในเดือน พ.ย. ที่ผ่านมาของ 3 ค่ายมือถือมีการพ่วงแพ็กเกจไปยังบริการอินเตอร์บรอดแบนด์ ซึ่งดีแทคยังไม่มีธุรกิจในส่วนนี้ แตกต่างจากอีก 2ค่ายที่ต่างแข่งขันอย่างดุเดือดเนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีผู้เล่นไม่กี่รายและมีมูลค่ามหาศาลไม่แพ้การเป็นโอเปอเรเตอร์

    สำหรับธุรกิจบรอดแบรนด์แล้ว ถือว่าตลาดนี้รุนแรงไม่แพ้กัน เพราะผู้เล่นเอกชน มี 3 รายเหมือนกัน ด้วยมูลค่าการตลาดสิ้นปี 2561 อยู่ที่ 16 ,900 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโตจากจำนวนผู้ใช้บริการเติบโตทุกปี ครึ่งปีแรก 2562 อยู่ที่ 43.38 % สิ้นปี 2561 เติบโต 42.60 % และสิ้นปี 2560 เติบโต 38.80 %

     ด้วยอัตราการเติบโตดังกล่าวจึงทำให้ ปี 2557 แอดวานซ์กระโดดการเข้าเปิดตัวในตลาดนี้ด้วยเช่นกันและตั้งเป้าหมายตั้งแต่ปี 2558 หวังจะขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ภายในปี 2562 ด้วยการขยับจากผู้ให้บริการโทรคมนาคม มาเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลแทน

     

การเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ทำให้เกิดสงครามค่าบริการอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้น ซึ่งส่งผลต่อเจ้าเดิมในตลาด โดยเฉพาะ กลุ่มจัสมิน ซึ่งมีเรือธงสำคัญคือ 3BB บรอดแบนด์ ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ  2 รองจากกลุ่มทรู และยังสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดที่ 32 % แม้มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแข่งขันก็ตามและยังครองส่วนแบ่งอันดับ 1 ในตลาดต่างจังหวัด

    อย่างไรก็ตามแอดวานซ์เตรียมรุกหนักในตลาดบรอดแบนด์ที่เริ่มลงไปเน้นตลาดผู้บริโภคทั่วไป (MASS) มากขึ้นในปี 2563 ทำให้เป็นที่จับตามองว่าจะมีการชิงส่วนแบ่งตลาดของใครไปบ้าง จึงทำให้เบอร์2 ในตลาดย่อมต้องร้อนๆหนาวๆ ไม่น้อย   ปัจจุบันจัสมินยังขาดธุรกิจโอเปอเรเตอร์ช่วยปิดจุดอ่อน ซึ่งการผนึกร่วมกับดีแทค จึงเป็นการสร้างจุดแข็งให้กับทั้งสองธุรกิจ และยังเป็นการจุดพลุอุณหภูมิการแข่งขันในตลาดบรอดแบนด์ ไปในตัวอีกด้วย

157560451635