แนะ 6 วิธีรับมืออากาศหนาว หากป่วยอาจมีอาการรุนแรงได้

แนะ 6 วิธีรับมืออากาศหนาว หากป่วยอาจมีอาการรุนแรงได้

กรมควบคุมโรค แนะ 6 วิธีรับมืออากาศหนาว และขอให้ดูแลกลุ่มเสี่ยงใกล้ชิด เพราะหากป่วยอาจมีอาการรุนแรงได้

วันนี้ (4 ธันวาคม 2562) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเป็นช่วงฤดูหนาว อากาศหนาวเย็นอย่างต่อเนื่อง และจากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ว่าในช่วงนี้อุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง สวมเสื้อผ้าให้ความอบอุ่นร่างกายอยู่เสมอ หากเลือกซื้อเสื้อกันหนาวมาสวมใส่โดยเฉพาะเสื้อกันหนาวมือสอง ซึ่งอาจมีเชื้อโรคหรือพาหะนำโรคติดมากับเสื้อผ้า หากไม่ทำความสะอาดก่อน อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้สวมใส่ได้ เช่น โรคกลากเกลื้อนจากเชื้อรา โรคภูมิแพ้ และโรคผิวหนังจากพาหะนำโรค อาทิ ตัวไร ตัวเรือด เห็บ หมัด และโลน เป็นต้น

สำหรับหน้าหนาวนี้ กรมควบคุมโรคขอแนะนำ 6 วิธีปฏิบัติตน ดังนี้ 1.ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ดื่มเครื่องดื่มที่สามารถให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย และทาผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื่นของผิวหนัง  2.เตรียมเครื่องนุ่งห่มกันหนาวให้พร้อมและทำความสะอาดเสื้อผ้าหรือผ้าห่ม โดยเฉพาะเสื้อผ้ามือสองให้แช่ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือต้ม เพื่อป้องกันโรคผิวหนัง  3.งดดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดในช่วงภาวะอากาศหนาว เนื่องจากเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสริมที่สำคัญทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้และไม่ช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่น  4.ระมัดระวังและสังเกตอาการผู้ป่วยที่กินยาบางชนิด เช่น ยากล่อมประสาท ยารักษาอาการชัก และอื่นๆ ที่มีผลทำให้อุณหภูมิร่างกายลดต่ำลง  5.ในช่วงอากาศหนาวอาจทำให้เกิดโรคติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ ขอให้ยึดหลัก “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ปิดคือ ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม หากเจ็บป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ ควรใส่หน้ากากอนามัย ล้างคือ ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่เมื่อสัมผัสสิ่งของสงสัย เลี่ยงคือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย หยุดคือ เมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด ส่วนโรคติดต่อทางอาหารและน้ำที่ต้องระมัดระวังคือ โรคอุจจาระร่วง ในช่วงฤดูหนาวจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคอุจจาระร่วง โดยขอให้ยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ”  และ 6.หมั่นดูแลรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ และอาศัยอยู่ในที่อบอุ่นสามารถป้องกันลมหนาวอย่างเหมาะสม

นายแพทย์สุวรรณชัย มีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปรับลมหนาวตามภูเขาและยอดดอยต่างๆ เมื่อเข้าไปใช้บริการตามแหล่งที่พักหรือเต็นท์ ควรสังเกตในเรื่องความสะอาดที่พัก  หากเป็นเต็นท์ก็ควรสังเกตว่ามีเชื้อราหรือไม่ เนื่องจากอากาศเย็นจัดและมีความชื้นสูง อาจทำให้มีเชื้อราขึ้นได้ง่าย และที่สำคัญควรดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเพิ่มการดูแลและระมัดระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ กลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เพราะกลุ่มดังกล่าวนี้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่าย หากป่วยจะมีอาการรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ถ้าพบว่ามีอาการป่วยให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422