'พิธีกรรม' กับความเจ็บป่วย

'พิธีกรรม' กับความเจ็บป่วย

สมมุติฐานที่เชื่อกันว่า คนที่มีศาสนา หรือ คนเคร่งศาสนา จะอายุยืนกว่าคนที่ไม่นับถือศาสนาใดๆ เป็นเรื่องจริงหรือไม่? มีงานวิจัยอะไรที่ชี้นัยในเรื่องนี้บ้าง?

เวลาที่ถามคนไทยว่า "ศาสนาคืออะไร" คำตอบสามัญที่พบได้บ่อยที่สุดคือ ศาสนาคือเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เรื่องนี้ไม่ได้สรุปเองลอยๆ นะครับ แต่ได้มาจากการตั้งคำถามคัดคนที่จะเข้าร่วมกลุ่ม 'หว้ากอ in wonderland' ในเพจเฟซบุ๊ก แต่ที่จะนำมาแบ่งปันกันในบทความนี้ไม่ใช่เรื่องของนิยามคำว่าศาสนา

แต่เป็นสมมุติฐานที่เชื่อกันว่า คนที่มีศาสนาหรือคนเคร่งศาสนา จะอายุยืนกว่าคนที่ไม่นับถือศาสนาใดๆ เป็นเรื่องจริงหรือไม่? มีงานวิจัยอะไรที่ชี้นัยในเรื่องนี้บ้างหรือไม่?

งานวิจัยชิ้นหนึ่งใน JAMA Intern Med. (2016; 176(6): 777-785. doi:10.1001/jamainternmed.2016.1615) ที่ใช้แบบสำรวจสอบถามผู้หญิงมากถึง 74,534 คน และติดตามผลนาน 16 ปี ทำให้พบว่า ผู้หญิงที่เข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนามากกว่าสัปดาห์ละ 1 ครั้ง มีโอกาสที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหรือโรคมะเร็งลดลง หรือเพียง 1/3 ของคนที่ไม่ค่อยได้เข้าร่วมพิธีทางศาสนา

แต่ต้องทำความเข้าใจกันก่อนนะครับว่า ที่ชัดเจนกันในการสำรวจนี้ก็คือ มีความพ้องกันในเรื่องนี้อยู่ แต่จะเกี่ยวข้องแบบเป็นเหตุเป็นผลกัน (นับถือศาสนาเลยป่วยน้อยกว่า) หรือเปล่า? ยังไม่ชัดเจนขนาดนั้น แต่ที่น่าสนใจจริงๆ ก็คือ ผลดีดังกล่าวไม่ได้เกิดผลดีเป็นพิเศษกับพระหรือแม่ชีแต่อย่างใด แต่ได้ผลดีกับคนทั่วไปด้วย

นักวิจัยจึงคาดว่าน่าจะเป็นผลจากการได้รับความช่วยเหลือเกื้อกูลกันจากเครือข่ายผู้ที่ไปโบสถ์เหมือนๆ กันมากกว่า ซึ่งน่าจะส่งผลทำให้เป็นคนที่ควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น มองโลกในแง่ดีมากขึ้น และมีจุดมุ่งหมายในชีวิต แล้วอาจจะ 'ส่งผลทางอ้อม' ให้เป็นโรคเหล่านั้นน้อยลง ก็อาจจะเป็นได้

มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร PLOS One (https://doi.org/10.1371/journal.pone.0177618) สนับสนุนไปในทางเดียวกัน โดยชี้ว่าในจำนวนอาสาสมัคร 5,449 คน ที่มีอายุระหว่าง 40-65 ปีนั้น พวกที่ไปโบสถ์สม่ำเสมอมีระดับความเครียดต่ำกว่า และมีอัตราการตายต่ำกว่าพวกที่ไม่ได้ไปประจำ

โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งในกลุ่มนี้ (55%) ผลดังกล่าวยังเกิดต่อเนื่องแม้แต่หลังการสำรวจผ่านไป 18 ปีแล้วก็ตาม!

อะไรจะส่งผลต่อเนื่องยาวนานขนาดน้านนนนนน....

แต่เรื่องการสวดภาวนาและการไปโบสถ์แยกออกจากกันเป็นสองเรื่องได้หรือไม่? หากสวดภาวนาเองที่บ้านจะส่งผลแบบเดียวกับที่เรากล่าวไปข้างต้นหรือไม่? ผมยังค้นหางานวิจัยที่ตอบคำถามนี้ไม่ได้นะครับ

จะมีก็แต่มีงานวิจัยที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ.2006 ในวารสารชื่อ American Heart Journal (DOI: 10.1016/j.ahj.2005.05.028) ที่เกี่ยวกับการสวดภาวนาให้ผู้ป่วย ซึ่งได้ข้อสรุปที่น่าสนใจมาก

โดยในรายงานวิจัยระบุว่า การมีคนช่วยสวดภาวนา (และคนไข้รู้ด้วยว่ามี) กลับทำให้คนไข้มีโรคแทรกซ้อนมากขึ้น (ผ่าง!)

ใครเห็นผลการทดลองแบบนี้...ก็ต้องให้รู้สึกแปลกประหลาดใจไปเสียทั้งนั้น...ว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

คณะนักวิจัยออกแบบการทดลองแบบนี้นะครับ เขาทดสอบในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัว (ผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดหัวใจ) ในโรงพยาบาล 6 แห่งในสหรัฐอเมริกา โดยแบ่งกลุ่มทดลองออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก 604 ราย จะมีผู้สวดภาวนาให้ แต่แจ้งกับตัวผู้ป่วยว่าจะได้รับการสวดภาวนาหรือไม่ยังไม่แน่ใจ

ขณะที่กลุ่มที่สองรวม 597 คน ไม่มีใครสวดภาวนาให้ แต่ก็แจ้งกับตัวผู้ป่วยเหมือนกับกลุ่มแรกว่า ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะได้รับการสวดภาวนาหรือไม่ และกลุ่มสุดท้ายจำนวน 601 คน ที่มีคนสวดภาวนาให้และเจ้าตัวก็ได้รับการยืนยันว่ามีผู้สวดภาวนาให้หายไวๆ และปลอดภัย

โดยที่ผู้สวดภาวนาทั้งหมดจะถือนิกายต่างๆ ของศาสนาคริสต์ และการสวดภาวนาจะทำเป็นเวลา 14 วัน โดยเริ่มตั้งแต่คืนก่อนที่จะมีการผ่าตัดเกิดขึ้น จากนั้นจะมีติดตามและประเมินผลผู้ป่วยเป็นเวลา 30 วันหลังการผ่าตัดว่ามีอาการแทรกซ้อนใดๆ เกิดขึ้นบ้างหรือไม่

ผลการทดลองก็คือ ใน 2 กลุ่มแรกที่ผู้ป่วยไม่แน่ใจว่าจะมีใครสวดภาวนาให้กับตัวเองหรือไม่ มีอยู่ 52% และ 51% (ตามลำดับ) ที่เกิดอาการแทรกซ้อนหลังผ่าตัด หรือพูดคร่าวๆ ก็คือ หากไม่รู้ว่ามีใครสวดให้หรือเปล่า การมีคนสวดให้หรือไม่นั้น ก็ไม่สร้างความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญเลย

สำหรับกลุ่มที่ 3 ผลกลับยิ่งชวนงุนงง เพราะมีอาการแทรกซ้อนสูงที่สุดคือ 59%

เมื่อสิ้นการทดลอง จำนวนผู้ที่มีอาการแย่ลงและผู้เสียชีวิตใกล้เคียงกันทั้ง 3 กลุ่ม

ทางคณะผู้ทดลองจึงสรุปว่า การสวดภาวนาให้ผู้ป่วยไม่ได้มีผลช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อนลดน้อยลงเลย แต่กลับได้ผลตรงข้ามคือ หากผู้ป่วยแน่ใจว่ามีผู้สวดภาวนาให้กลับจะมีอาการแทรกซ้อนเพิ่มขึ้น

แน่นอนว่าเนื่องจากการทดลองเกิดขึ้นในประเทศที่ผู้คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาที่มีพระเจ้า ทางคณะผู้วิจัยจึงออกตัวว่า การทดลองนี้ไม่ได้ออกแบบให้ใช้พิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้าแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับวิธีการสวดภาวนาหรือศาสนาของคนที่ภาวนาและผู้ป่วยนับถือด้วย

งานวิจัยนี้เพียงแต่ต้องการทดสอบว่า การที่ผู้ป่วย "รู้หรือไม่รู้" ว่ามีผู้สวดภาวนาให้ จะมีผลอย่างไรต่อการฟื้นตัวภายหลังการผ่าตัดต่างหาก และผลลัพธ์จากการทดสอบก็ชัดเจนว่า การสวดภาวนาของบุคคลที่สามไม่มีผลใดๆ เลยต่อการฟื้นตัวของผู้ป่วยจากอาการแทรกซ้อนต่างๆ จากการผ่าตัด

สำหรับส่วนที่สำคัญที่สุดของสรุปการทดลองที่ว่า ยิ่งผู้ป่วยรู้ว่ามีผู้สวดภาวนาให้กลับจะมีอาการหนักกว่าผู้ที่ไม่รู้นั้น เกิดขึ้นจากสาเหตุใดกันแน่ ทางคณะนักวิจัยก็ยอมรับตามตรงว่า "ยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน" และยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีก

การทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ออกแบบอย่างรัดกุม บางทีก็ให้ผลที่ขัดกับความเชื่ออย่างมากแบบนี้แหละครับ แต่นี่ก็ไม่ใช่ข้อสรุปที่แน่ชัดและเปลี่ยนแปลงไม่ได้ คงต้องรอข้อมูลเพิ่มเติมกันต่อไปครับ