บังคับชัตดาวน์ ทางออกสังคมบ้างาน

บังคับชัตดาวน์ ทางออกสังคมบ้างาน

ญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ผู้คนบ้างาน จนงานเป็นสาเหตุให้เสียชีวิต เมื่อเร็วๆ นี้นครโอซากา ตัดสินใจใช้ระบบบังคับข้าราชการเลิกงาน ด้วยวิธีปิดเครื่องคอมพิวเตอร์โดยอัตโนมัติ ความเคลื่อนไหวนี้จุดชนวนให้ชาวเน็ตถกเถียงกันอย่างร้อนแรง

สำนักข่าวซินหัว  รายงานอ้างคำพูดของฮิโรฮูมิ โยชิมูระ ว่า ในฤดูหนาวปี 2563 จ.โอซากาจะใช้ระบบปิดคอมพิวเตอร์อัตโนมัติ กับข้าราชการที่ไม่ใช่ฝ่ายจัดการราว 7,600 คน รวมถึงตำรวจและโรงเรียนรัฐบาล เพื่อลดการทำงานล่วงเวลา

หลังจากใช้ระบบนี้แล้ว จะมีคำเตือนปรากฏขึ้นบนจอคอมพิวเตอร์ในเวลา 18.00 น. ระบุ “กรุณาทำงานให้เสร็จโดยเร็วแล้วปิดคอมพิวเตอร์” จากนั้นคอมพิวเตอร์จะปิดโดยอัตโนมัติใน 30 นาทีต่อมา หากพนักงานต้องการทำงานล่วงเวลา เขาหรือเธอจำเป็นต้องยื่นคำร้องขอทำงานล่วงเวลา ตั้งแต่ 16.30 น.โดยประมาณ

ระบบนี้มีข้อยกเว้นให้ในบางสถานการณ์เท่านั้น เช่น เกิดภัยธรรมชาติหรือเหตุฉุกเฉินอื่นๆ รัฐบาลจะยกเลิกระบบบังคับชัตดาวน์

“เราหวังว่าคุณจะทำงานเต็มศักยภาพและมีประสิทธิภาพ” โยชิมูระกล่าวกับบรรดาข้าราชการ

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า พนักงานใน จ.โอซากาทำงานล่วงเวลาปีละราว 1 ล้านชั่วโมง รวมเงินค่าล่วงเวลาราว 3 พันล้านเยน ซึ่งการบังคับให้เลิกงานตามระบบใหม่ช่วยประหยัดต้นทุนการปฏิบัติการได้กว่า 50 ล้านเยน

การที่รัฐบาลท้องถิ่น จ.โอซากาตัดสินใจทำระบบบังคับเลิกงานมาใช้ก็เพื่อลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ และส่งเสริมการนำกฎหมายปฏิรูปวิธีการทำงานมาใช้ หลังจากเมื่อวันที่ 1 เม.ย. ญี่ปุ่นเริ่มใช้กฎหมายปฏิรูปแรงงานว่าด้วยวิธีการทำงาน ที่พุ่งเป้าไปที่การทำงานล่วงเวลาเป็นพิเศษ กฎหมายกำหนดหลักการทำงานล่วงเวลาของลูกจ้างที่ 45 ชั่วโมงต่อเดือน และ 360 ชั่วโมงต่อปี ในช่วงที่งานยุ่งหนึ่งเดือนต้องทำโอทีไม่เกิน 100 ชั่วโมง หรือทั้งปีไม่เกิน 720 ชั่วโมง บริษัทใดฝ่าฝืนต้องถูกลงโทษ

ในความเป็นจริงโอซากากำลังเปลี่ยนแปลงหลายๆ เรื่องเพื่อลดการทำโอที เช่น ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ทำบันทึกการประชุมอัตโนมัติ แต่ตั้งแต่เดือน ส.ค.เนื่องจากเกิดไต้ฝุ่นและภัยพิบัติทางธรรมชาติมากมาย เจ้าหน้าที่ต้องทำโอทีเพิ่มขึ้น กระตุ้นให้ จ.โอซากาต้องนำระบบบังคับเลิกงานมาใช้ด้วยหวังให้การปฏิรูปจะเป็นไปด้วยดี

อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปดังกล่าวยังไม่ค่อยได้ผลดีนักในหมู่คนทำงาน

คลินิกพิเศษแห่งหนึ่งบริหารโดยประชาคมแพทย์ญี่ปุ่นเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ สำรวจความคิดเห็นเรื่องชั่วโมงการทำงานจากผู้ชายอายุระหว่าง 20-50 ปีจำนวน 500 คนในโตเกียวและโอซากา

ผลปรากฏว่าหลังบังคับใช้กฎหมายปฏิรูปการทำงาน ผู้ให้ข้อมูล 53.8% รู้สึกว่างานที่พวกตนทำไม่ง่ายเหมือนเมื่อก่อน 50% มองว่าแรงกดดันในการทำงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในหมู่ชายอายุระหว่าง 30-40 ปี

ถึงตอนนี้แม้โอซากานำระบบบังคับเลิกงานมาใช้ แต่ชาวเน็ตญี่ปุ่นหลายคนไม่มีทีท่าตอบรับความใจดีของรัฐบาล พากันไปแสดงความไม่พอใจที่เว็บไซต์สำนักข่าวเกียวโด

“วิธีนี้มีแต่จะทำให้การยื่นฟอร์มเอกสารนานขึ้น ส่วนงานที่ทำไม่เสร็จก็ต้องเอากลับไปทำที่บ้าน” ผู้ใช้นามว่า “แมว” ให้ความเห็น

“แทนที่จะบังคับให้พนักงานปิดคอมพิเตอร์ หันมาเปลี่ยนกระบวนการทำงานที่วุ่นวายจะดีกว่ามั้ย เช่น เปลี่ยนมาใช้เอกสารดิจิทัลซึ่งจำเป็นต้องมีผู้นำทีม หัวหน้าแผนก ผู้ช่วยผู้อำนวยการและผู้อำนวยการ มารับรองแล้วลงนามทีละคน หรือลดการประชุมตามปกติที่น่าเบื่อบางรายการลง” ชาวเน็ตผู้ใช้นามว่า “เซน” เสนอแนะ

“ก่อนที่ผู้ว่าจะนำคำสั่งนี้ไปปฏิบัติ ลองสำรวจภาระงานและคุณภาพการทำงานก่อนดีมั้ย แล้วค่อยลงนามข้อตกลงลดเวลาทำโอที ไม่อย่างนั้นการปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ก็แค่ ดีแต่พูด” ผู้ใช้นามว่าไฮร์ ให้ความเห็น

157541639882

ขณะที่ชาวเน็ตบางคนหวังว่า เจ้านายของพวกเขาคงเห็นสิ่งนี้ แต่บางคนมองว่า แม้ปิดคอมพิวเตอร์แต่งานไม่ได้จบลงตามไปด้วย

ทั้งนี้ ชั่วโมงการทำงานยาวนานไม่ได้หมายความว่าประสิทธิภาพการทำงานจะดีขึ้น เว็บไซต์เดอะการ์เดี้ยนรายงานอ้างผลการศึกษาในปีนี้ของบริษัทหลักทรัพย์คีซี ระบุว่า กรุงโตเกียวเป็นเมืองที่ทำงานหนักที่สุดในบรรดาเมืองนานาประเทศ 40 เมือง ดัชนีเปรียบเทียบความสมดุลระหว่างชีวิตและงานในเมืองต่างๆ ชี้ว่า ชาวกรุงโตเกียว ทำงานเฉลี่ย 42 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และเริ่มงานเร็วกว่าทุกเมืองที่ 8.57 น. แต่แม้ได้ชื่อเรื่องชั่วโมงการทำงานยาวนาน แต่จากข้อมูลเรื่องผลิตภาพที่องค์การเพื่อความร่วมมืือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ฉบับล่าสุดพบว่า หลายเมืองในญี่ปุ่นมีผลิตภาพค่อนข้างต่ำคำนวณโดยนำผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) ต่อหัวหารด้วยชั่วโมงการทำงาน ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีผลิตภาพต่ำสุดในกลุ่มจี7 สหรัฐมีมากกว่าราว 59%

ขณะเดียวกัน  รายงานประจำปีของยูบีเอส ธนาคารจากสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า นครมุมไบ เมืองใหญ่สุดของอินเดียเป็นเมืองที่ทำงานหนักที่สุดในโลก เฉลี่ย 3,315 ชั่วโมงต่อปีต่อคน น้อยที่สุดคือเมืองลากอสของไนจีเรีย เฉลี่ย 609 ชั่วโมงต่อปี ในบรรดา 77 เมืองที่จัดอันดับ โตเกียวอยู่ในลำดับที่ 32 ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยปีละ 1,997 ชั่วโมง น้อยกว่าลอนดอนที่ตัวเลขอยู่ที่ 2,022 ชั่วโมง และนิวยอร์ก 2,046 ชั่วโมงต่อปี

แต่แม้มีหลักฐานมากมายชี้ว่า ชั่วโมงการทำงานน้อยลงอาจส่งผลทางบวกต่อระดับผลิตภาพ แต่หลายๆ เมืองก็ยังทำงานหนักกันต่อไป สถาบันบุคลากรและการพัฒนาชาร์เตอร์ด สำรวจประชาชน 5,136 คน ประกอบรายงานชีวิตการทำงานในสหราชอาณาจักร ประจำปี 2562 พบว่า คนงาน 1 ใน 4 ทำงานล่วงเวลาอย่างน้อย 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 1 ใน 3 บอกว่า มีงานมากมายต้องทำให้เสร็จ และ 1 ใน 5 บอกว่า ทำงานไม่ทันตามเวลางานปกติ

“นายจ้างมักไม่เชื่อหลักฐานที่มีมากมายว่า ชั่วโมงการทำงานยาวนานไม่ได้หมายความว่าผลงานดี จริงๆ แล้วผลกลับตรงข้าม ยิ่งพนักงานทำงานนาน ผลงานยิ่งแย่ เพราะไม่มีสมาธิ ความจำ การแก้ปัญหาและความคิดสร้างสรรค์ลดน้อยลง” เกล คินแมน นักจิตวิทยาอาชีวอนามัยจากมหาวิทยาลัยเบดฟอร์ดเชียร์ยืนยัน