สรท.ชี้ส่งออกปี 63 เสี่ยงเผชิญบาทแข็ง-ตัดจีเอสพี

สรท.ชี้ส่งออกปี 63 เสี่ยงเผชิญบาทแข็ง-ตัดจีเอสพี

สรท.ชี้ส่งออกปี 2563 เสี่ยงรับผลกระทบเงินบาทแข็งค่า ตัดสิทธิจีเอสพี คาดขยายตัว 0-1%

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า มูลค่าการส่งออกที่ผ่านปรับตัวลดลงค่อนข้างเยอะ โดยการส่งออกในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมามีมูลค่า 20,758 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วลดลง 4.5% เมื่อรวม 11 เดือนส่งออกรวมมีมูลค่า 207,330 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 2.4% ซึ่งคาดว่าช่วงที่เหลือจะส่งออกได้ 20,700 ล้านดอลลาร์ หรือใกล้เคียงกับเดือน ต.ค.ทำให้ สรท.ปรับเป้าการส่งออกปีนี้เป็นติดลบ 2.5-3.0 % 

ขณะที่ปี 2563 คาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยจะไม่ขยายตัวมาก จะเติบโต 0-1% บนสมมติฐานค่าเงินบาทอยู่ที่ 30.5 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งยังไม่พบปัจจัยบวกใดแต่ยังดีที่กระทรวงพาณิชย์มีมาตรการเปิดตลาดใหม่และเร่งเจรจาการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ค้างอยู่ทำให้ช่วยการส่งออกของไทยได้ในระดับหนึ่ง

“ปัญหาค่าเงินบาทเป็นปัญหาหนักของการส่งออกไทย หากปีหน้าค่าเงินบาทหลุดไปเคลื่อนไหวในระดับ 29 บาท การส่งออกไทยตายแน่ เพราะค่าเงินแข็งค่ากว่าคู่แข่งมาก ขอให้ ธปท.ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ากว่านี้ ส่วนการปรับค่าแรงนั้น สรท.เห็นว่าหากปรับทั่วประเทศจะกระทบผู้ประกอบการ”

157542323041

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สรท. กล่าวว่า ปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังและติดตาม คือ การเจรจาขอให้สหรัฐทบทวนการตัดจีเอสพีที่จะมีการประชุมในวันที่ 6 ธ.ค.นี้ ปัญหาสงครามการค้าที่ยังมีความกังวลต่อท่าทีในการลงนามในเฟส 1 เพราะมีหลายประเด็นที่ไม่สามารถตกลงร่วมกันได้ อาทิ การสั่งซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐและทรัพย์สินทางปัญญา

รวมทั้งสหรัฐประกาศสนับสนุนผู้ชุมนุมประท้วงในฮ่องกง ซึ่งเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีนโดยตรง และหากไม่สามารถตกลงกันได้สหรัฐอาจปรับเพิ่มภาษีตามกำหนดการเดิม 15 ธ.ค.นี้ มูลค่า 160,000 ล้านดอลลาร์ ในอัตราภาษี 15% ขณะที่จีนขอให้สหรัฐลดภาษีสำหรับสินค้าที่ปรับขึ้นไปก่อนหน้านี้แล้ว

ในขณะที่มาตรการ IMO Low Sulphur 2020 จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.2563 สายเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเริ่มออกประกาศอัตราเรียกเก็บเพิ่มค่า Bunker Surcharge หรือค่า Low Sulphur Surcharge (LSS) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของค่าระวางในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและกระทบต่อต้นทุนรวมของผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้า

นอกจากนี้ สถานการณ์ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง เพราะเงินบาทถูกมองเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยเช่นเดียวเงินเยน ซึ่งทำให้การส่งออกทุกกลุ่มสินค้าชะลอตัว และที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งถึง 8.47 % 

รวมทั้งเศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มชะลอตัว แนวโน้มการเรียกเก็บภาษี ซึ่งเป็นต้นทุนผู้ประกอบการมีมากขึ้น กฎหมายและมาตรการภาครัฐที่กำหนดเพิ่มเติมในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวเป็นการลดทอนความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกให้ถดถอยมากขึ้น เช่น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การยกเลิกใช้สารเคมีการเกษตรที่จะทำให้ไทยนำเข้าพืชวัตถุดิบที่ใช้สารเคมีบางประเภทไม่ได้