งานป.ป.ช.สอบเจตนาลึกกว่าทรัพย์สิน

งานป.ป.ช.สอบเจตนาลึกกว่าทรัพย์สิน

อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) อธิบายถึงกรณีนักการเมืองขอแก้ไขข้อมูลในบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อป.ป.ช.ทำได้หรือไม่ หลังจากเกิดกรณี ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พลังประชารัฐ ขอแก้ไขลดจำนวนที่ดินที่ครอบครอง ภบท.5 จำน

นายวิชา มหาคุณ อดีต ป.ป.ช. ระบุว่า พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.มาตรา 109 เปิดช่องให้ทำได้ เมื่อยื่นบัญชีทรัพย์สินเข้ามา เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบว่า ข้อมูลครบถ้วน คลาดเคลื่อนหรือไม่ แต่ต้องไม่มีพฤติการณ์ที่มีเจตนาปกปิด ต้องยื่นภายในเวลาที่ ป.ป.ช.กำหนด เค้าก็ใช้ช่องนี้ หากเจ้าหน้าที่เห็นว่าไม่ครบถ้วนก็สามารถทำได้ เป็นการอลุ่มอล่วย แต่สำคัญคือเจตนา ถ้ามีการแฝงเร้น เจ้าหน้าที่อาจตั้งข้อหาได้

เมื่อถามกรณี ส.ส.ปารีณา นายวิชา ระบุว่า การยื่นทรัพย์สิน กับการตรวจสอบคนละเรื่อง โดยเฉพาะที่ดิน โดยหลักไม่ได้เขียนว่ากรรมสิทธิ์ แม้ของที่ครอบครอง ที่ดิน ที่คิดว่าของตัวเอง ที่เสียภาษี ภบท.5 ตลอดมา ซึ่งก็เป็นเรื่องทำไม่ถูกต้อง เวลาตรวจสอบ ป.ป.ช.ต้องตรวจว่า ที่ดินที่ได้มาทำอะไรผิดหรือไม่ เช่น ของที่ปล้นมา ถึงแจ้งมา แต่ต้องตรวจลึกลงไปว่า เป็นของที่ทำผิดหรือไม่ ฉะนั้น การตรวจสอบจึงเป็นอีกเรื่องที่ ป.ป.ช.ต้องลงลึก

“อย่างที่ดินที่ยื่นมา ถ้าซ้ำซ้อนกับที่ดินรัฐ เราต้องสำนึกว่าไม่ใช่ทรัพย์สินปกติ แล้วการยื่นเปิดเผย คือแสดงให้เห็นว่า เค้าเตรียมสู้ว่ามีกรรมสิทธิ์จริงหรือไม่ ก็ต้องว่าไปตามหลักกฏหมายว่า การครอบครองได้หรือไม่ ใช้อำนาจอะไรไปกดขี่ข่มเหงใครหรือไม่ เจ้าหน้าที่รัฐ ต้องรวมกระบวนการทั้งหมด ทำอย่างโปร่งใส ตรวจสอบ เปิดเผยได้ ฉะนั้นเรื่องนี้ ก็ต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่แจ้งทรัพย์สิน และการตรวจสอบทรัพย์สิน"

ทั้งนี้นายวิชา ระบุว่า การแจ้งทรัพย์สิน ต้องแจ้งทั้งส่วนที่ครอบครองใช้ประโยชน์ แม้ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์  "บางคนอาจจะถือหลัก ตีความว่าของต้องมีกรรมสิทธิ์ ก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ หากตรวจพบว่าที่ดินที่ไปปักป้ายแล้วบอกว่า ไม่ใช่บ้านตัวเอง แต่เราจับหลักการ อย่างไปกั้นรั้ว สร้างบ้าน สร้างเล้าไก่ ก็คือแสดงความเป็นเจ้าของแล้ว"

ส่วนประเด็นที่คาใจสังคม กรณีเลขาฯ ป.ป.ช.อ้างว่า มีหน้าที่ตรวจสอบเพียงแค่ที่ดินที่แจ้ง ว่ามีจริงหรือไม่ จำนวนจริงตามแจ้งหรือไม่เท่านั้น จะได้มาโดยชอบหรือไม่ ไม่ใช่หน้าที่ ป.ป.ช. นายวิชายืนยันว่า

ป.ป.ช.ใช้ ม.109 ก็ต้องตรวจสอบ ตัวเลขาฯ ป.ป.ช.ที่ได้รับมอบหมาย ก็ต้องถูกตรวจสอบด้วย หากไปรับเอาไว้ ทั้งที่เค้ามีเจตนาปกปิด โดน 2 เท่า โปรดรำลึกข้อนี้ แล้วต้องเอาเข้ากรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะ

ป.ป.ช.มีหน้าที่ 3 อย่าง คือ ตรวจสอบรายการแสดงทรัพย์สินหนี้สิน 2.ดูว่าร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ 3. ดูเรื่องทุจริตประพฤติมิชอบ ซึ่งเป็นทรีอินวัน กระบวนการตรวจสอบก็ว่าไป แต่คนที่จะต้องรับไม้ต่อ ต้องดูลึกลงไป ไม่อย่างนั้นจะให้มายื่นบัญชีทรัพย์สินหาประโยชน์อันใดเล่า อย่าลืมว่า 3 อย่างนี้อยู่ในหลักธรรมาภิบาลของ ป.ป.ช.