ประมูลคลื่น ‘5จี’ ส่อยื้อ ค่ายมือถือชงปรับวิธี

ประมูลคลื่น ‘5จี’ ส่อยื้อ ค่ายมือถือชงปรับวิธี

กสทช.ประชาพิจารณ์คลื่น 5จี "ค่ายมือถือ" ตบเท้าแจงยิบ "เอไอเอส-ดีแทค" พร้อมใจขอให้เลื่อนประมูลออกไปก่อน แนะควรรอคลื่นดาวเทียม 3500 มารวมประมูลครั้งเดียว เพื่อให้ 5จีเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ทดลองวิธีประมูลตามที่ขอ

เลขาธิกสทช.กล่าวว่า กำหนดการของกสทช.นั้น คือ ประกาศเชิญชวนผู้สนใจประมูล 2 ม.ค.- 3 ก.พ. 2563 เปิดให้ผู้สนใจยื่นคำขอ เพื่อเข้าร่วมประมูล 4 ก.พ. 2563 จากนั้นตรวจสอบคุณภาพผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูล 5-12 ก.พ. 2563 และวันที่ 12 ก.พ. ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเข้าประมูล ถัดมา 14 ก.พ. 2563 จะทดสอบการประมูล ( ม๊อค ออคชั่น)

แต่จากที่ได้ฟังความเห็นของเอกชนที่มีทิศทางไปในทางเดียวกันเกี่ยวกับ วิธีการประมูลและหลักเกณฑ์ โดยขอให้สำนักงานกสทช.กำหนดใช้วิธีประมูลคลื่นความถี่หลายย่าน พร้อมกัน (Simultaneous Ascending Clock Auction) ซึ่งเป็นการกำหนดตามคุณลักษณะทางเทคนิคของคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ แทนการประมูลแบบเดิมที่ประมูลทีละใบแล้วจับสลากเลือกสล็อตช่วงความถี่ อาจต้องได้รับการพิจารณาใหม่ ดังนั้นวันที่ 17 ธ.ค. นี้จะมีการกำหนดให้มีการทดลองการประมูลแบบที่เอกชนเสนอดังกล่าว เพื่อหาข้อสรุป

“ยืนยันว่าจะจัดการประมูลตามกำหนดแน่นอน คือ 16 ก.พ. 2563 จากนั้นต้นเดือน มี.ค.จะเริ่มให้ใบอนุญาตผู้ชนะการประมูล และคาดว่าจะเริ่มให้บริการ 5จี ได้ช่วงกลางปีหน้า ส่วนประเด็นคลื่น 3500 เมกะเฮิรตซ์ เป็นคลื่นที่ใช้บริการดาวเทียม ภายใต้อำนาจเรื่องดาวเทียมดูแลโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส ) แต่ที่ผ่านมา กสทช.ก็พูดคุยกับไทยคมอยู่”

เขา เสริมว่า ที่ผ่านมาการเรียกคืนคลื่น สำนักงาน กสทช. มีบทเรียนคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ ที่ได้เรียกคืนจากบมจ.อสมท ซึ่งก็ใช้เวลากว่า 300 วัน แต่ที่ตอนนี้นำมาอยู่ในโรดแมพประมูลได้ก่อน เพราะไม่มีผลกระทบกับผู้ใช้บริการมาก และยังได้หารือกับกองทัพ เพื่อดำเนินการย้ายคลื่นความถี่ โดยจะนำรายได้จากการประมูลมาชดเชยในส่วนที่เป็นค่าอุปกรณ์ที่เกิดจากการย้ายคลื่นความถี่ใหม่

เอไอเอสขอให้เลื่อนประมูล

นายกิตตินันท์ พจน์ประสาท หัวหน้าส่วนงานธุรกิจสัมพันธ์ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า กสทช.ควรเลื่อนการประมูลออกไปก่อน เพราะคลื่น 2600 ไม่เหมาะสมในการทำ 5จี ขณะที่การเรียกคืนคลื่นดังกล่าวที่ะบุว่า เรียกคืนจาก อสมท ก็ยังไม่ชัดเจน ทั้งนี้ มีความเห็นว่าคลื่น 3500 เหมาะกับการทำ 5จี มากกว่า แต่ก็ยังไม่สามารถนำมาประมูลได้ เพราะคลื่นยังไม่หมดสัญญาสัมปทาน 

ส่วนคลื่น 700 มีปัญหาเรื่องคลื่นรบกวนกับสัญญาณไมโครโฟน ขณะที่คลื่น 1800 ราคาเริ่มต้นการประมูลสูงไป และเหมาะกับการเสริมโครงข่าย 4จี มากกว่า สุดท้าย คลื่น 26 กิกะเฮิรตซ์ ยิ่งไม่น่าสนใจ เพราะเป็นคลื่นที่ยังไม่มีการลงทุนใดๆ ในตลาด

157537590065

ชี้“คลื่น2600”มีจำนวนไม่พอ

นายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า นอกจากประเด็นที่ดีแทคเสนอไปก่อนนี้แล้วว่าให้เลื่อนการประมูลครั้งนี้ออกไปก่อน เพื่อรอนำคลื่น 3500 มารวมในครั้งเดียว ยังเห็นว่าคลื่น 2600 มีจำนวนเมกะเฮิรตซ์ไม่พอ และแบนด์วิธไม่เพียงพอ 

อีกทั้งยังมีปัญหาคลื่นบางส่วนยังไม่สามารถใช้งานได้ จึงมีคลื่นที่ใช้ได้เพียง 170 เมกะเฮิรตซ์ ไม่ใช่ 190 เมกะเฮิรตซ์ เนื่องจากมีกองทัพใช้อยู่ 20 เมกะเฮิรตซ์ และหากมีการกำหนดเพดานการถือครองคลื่นไม่เกินรายละ 100 เมกะเฮิรตซ์ อาจทำให้มีคนได้แค่สองราย จึงควรปรับเป็นกำหนดเพดานตามจำนวนผู้ประมูล

ดังนั้นคลื่น 3500 จึงเป็นคลื่นที่มีแบนด์วิธกว้าง และพร้อมที่สุด ในเมื่อ กสทช.นำมาประมูลไม่ทันครั้งนี้ จึงต้องการขอทราบช่วงเวลา และแผนการประมูลคลื่นนี้ให้ชัดเจน เพื่อใช้ประกอบในการตัดสินใจต่อไปด้วย อย่างไรก็ตาม ดีแทค ยืนยันว่า การที่ออกมาให้ความเห็นครั้งนี้ไม่ใช่ว่า ดีแทคจะประมูลหรือไม่ประมูล การตัดสินใจยังคงขึ้นอยู่กับคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด)

บีบลงในพื้นที่อีอีซีไทำยาก

นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ รองผู้อำนวยการด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ต้องการทราบความชัดเจนเรื่องคลื่น 2600 ว่า ช่วงคลื่นใดใช้ได้ และใช้ไม่ได้ และจะสามารถใช้ได้เมื่อไร และเห็นว่า กสทช.ควรนำคลื่น 2600 มาประมูลเพียงคลื่นเดียวไม่ใช่ประมูลทั้ง 4 ย่านความถี่คือ 700 1800 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ เพื่อให้เอกชนเก็บเงินไว้ลงทุนคลื่นอื่นๆที่มีความพร้อมในปี 2563

อีกทั้ง เห็นว่า ประเด็นที่บังคับให้ผู้ชนะการประมูลรีบลงทุน 50% ในพื้นที่อีอีซี ภายใน 1 ปี ไม่สามารถปฏิบัติตามได้ และดำเนินการได้ยาก เพราะบางครั้งความต้องการใช้ 5จี อาจจะอยู่นอกพื้นที่ จึงต้องการให้นำเงื่อนไขนี้ออกไป 

โดยประเด็นนี้ ทรูฯ มีความเห็นเช่นเดียวกับนายณัฏฐวิทย์ สุฤทธิกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารไร้สาย บมจ.กสท โทรคมนาคมที่กล่าวเห็นด้วยกับการลดปริมาณการถือครองคลื่น 2600 โดยควรกำหนดตามจำนวนผู้ประมูล และไม่เห็นด้วยกับการบังคับการลงทุนในพื้นที่อีอีซี 50% ในปีแรก เพราะอาจไม่ตรงความต้องการการใช้งาน

หวั่นลงทุนเน็ตเวิร์คไม่ทัน

นายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทีโอทีสนใจเข้าร่วมประมูลทุกคลื่นโดยเฉพาะคลื่น 2600 แต่ยังมีข้อกังวลเรื่องการกำหนดระยะเวลาลงทุนเน็ตเวิร์ค และการกำหนดเพดานถือครองคลื่น รวมถึงการพิจารณาคุณสมบัติของทีโอทีและกสทฯว่า จะสามารถเข้าร่วมประมูลได้หรือไม่ เพราะเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังถือหุ้นรายเดียวกัน