“บำรุงราษฎร์” ผนึกพันธมิตร แก้เกมโรงพยาบาลซิงเกิลไซด์

“บำรุงราษฎร์” ผนึกพันธมิตร แก้เกมโรงพยาบาลซิงเกิลไซด์

แม้ว่า“โรงพยาบาล”จะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เติบโตต่อเนื่อง ทว่าการแข่งขันยังคงรุนแรงจากทั้งผู้ประกอบการหน้าเก่าและหน้าใหม่ที่เติมเข้ามาในตลาด จึงเป็นเหตุให้แม้แต่โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ ยังต้องปรับตัว หนึ่งในนั้นคือ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

นพ.สุธร ชุตินิยมการ ผู้อำนวยการด้านบริหาร บำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า จากศึกษาพบว่าปัจจุบันอัตราการขยายตัวของคนระดับกลางเพิ่มขึ้น ความเป็นเมืองขยายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น และโครงสร้างประชากรของสังคมไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมสูงอายุ(Aging Society) จึงมีความต้องการบริการทางการแพทย์ที่สูงมาก และเมื่อนำจุดแข็งของทั้งโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์และโรงพยาบาลพันธมิตรมารวมกัน กลายเป็นสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่

ด้วยการตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Center of Excellence) ในโรงพยาบาลพันธมิตร ในลักษณะ Joint Operation รวมถึงด้านเงินทุน ค่าใช้จ่าย ทรัพยากรและรายได้ มีการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้และความชำนาญทางการแพทย์ให้กับทีมแพทย์ของโรงพยาบาลพันธมิตรเพื่อให้มีขีดความสามารถในการรักษาตามมาตรฐานของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เพื่อเพิ่มโอกาสให้กลุ่มผู้ป่วย โดยผสานจุดแข็งจากพันธมิตรในแต่ละพื้นที่ ในการดูแลคนไข้ในแต่ละพื้นที่ และมีความรู้ด้านการตลาดที่ดี ขณะที่บำรุงราษฎร์ มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการรักษาทำให้ผลการรักษาออกดี เมื่อทำงานร่วมกันทำให้เกิดบริการที่ดีในพื้นที่นั้นๆ

โมเดลนี้เป็นการกำจัดจุดอ่อนของบำรุงราษฎร์ เป็นซิงเกิลไซด์ ไม่มีเครือข่ายเหมือนโรงพยาบาลอื่น ที่ผ่านมาอาศัยการเติบโตจากการส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ขณะที่เราอยู่บนยอดพีระมิด ขาดเครือข่ายที่สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่ไปพันธมิตรโดยการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการดูแลคนไข้ในตลาดระดับกลาง

 

ทั้งนี้ประโยชน์ที่ได้ของโรงพยาบาลที่เข้ามาร่วมคือเป็นการ‘ชอตคัท’ในการเรียนรู้ หาแพทย์และอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีที่ต้องใช้ ทำให้สามารถสร้างศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ไม่จำเป็นต้องซื้อกิจการโรงพยาบาลอื่นหรือ เสียเงินไปลงทุนสร้างโรงพยาบาลเองต้องใช้งบลงทุนมหาศาลและใช้เวลาไม่ต่ำกว่า3ปีถึงจะเปิดให้บริการได้และกว่าจะมีคนไข้เข้ามาใช้บริการใช้เวลาไม่ต่ำกว่า5ปี

“กลยุทธ์นี้จะทำให้โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เติบโตได้อย่างรวดเร็วและลดความเสี่ยงเพราะมีทีมแพทย์แข็งแกร่งในการสนับสนุนพันธมิตรให้เกิดรายได้และส่งผลให้มีรายได้กลับคืนมาด้วยโดยไม่จำเป็นต้องสร้างโรงพยาบาลใหม่หรือซื้อกิจการโรงพยาบาลที่มีอยู่ ”

นพ.วีระพันธ์ ควรทรงธรรม ผู้อำนวยการสถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ กล่าวเสริมว่า เหตุผลที่เริ่มจากศูนย์กระดูกสันหลังก่อน เพราะมีปริมาณคนไข้อยู่ทุกพื้นที่จำนวนมากและเทคโนโลยีการรักษามีหลากหลายรูปแบบตั้งแต่รับประทานยา เลเซอร์ ไปจนถึงการผ่าตัด โดยเบื้องต้นจะเน้นการให้บริการใน4กลุ่มโรคหลักคือ1.โรคข้อ2.โรคกระดูกสันหลัง3.โรคตา และ4.ผู้ป่วยวิกฤติ โดยเริ่มจากการเปิด "ศูนย์กระดูกสันหลังและข้อ" ร่วมกับโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ แห่งแรกก่อนแล้วค่อยๆขยายไป ตามความเหมาะสมอย่างน้อยไตรมาสละ 1 แห่ง