"ศักดิ์สยาม" เตรียมชงของขวัญปีใหม่เข้า ครม.

"ศักดิ์สยาม" เตรียมชงของขวัญปีใหม่เข้า ครม.

“คมนาคม” ประเมินคนเดินทาง 8 วันเทศกาลปีใหม่ 2563 กว่า 16 ล้านคน เดินทางทางอากาศสูงสุด "ศักดิ์สยาม" เตรียมชง ครม. ไม่เกิน 17 ธ.ค.นี้ ไฟเขียวของขวัญประชาชน ลดค่าผ่านทางทางด่วน และรถไฟฟ้า นำร่องมาตรการยาว 30 วัน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมแผนอำนวยความสะดวกและปลอดภัย รองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2563 วันนี้ (3 ธ.ค.) โดยระบุว่า สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดทำแผนดังกล่าว รวบรวมสภาพปัญหาการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลที่ผ่านมา และแนวโน้มความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งกระทรวงฯ ได้ขยายมาตรการคุมเข้มความปลอดภัย จากเดิม 7 วันอันตราย เป็น 8 วันอันตราย ระหว่างวันที่ 26 ธ.ค.2562 – 2 ม.ค 2563

อย่างไรก็ดี นโยบายรัฐบาลมีการกำหนดให้ ปีใหม่นี้จะต้องมีผู้เสียชีวิตทางถนนลดลงจากค่าเฉลี่ย 3 ปี ย้อนหลัง โดยกระทรวงฯ ตั้งเป้าหมายเพิ่มเติม คือ จะต้องไม่มีผู้เสียชีวิตบนรถโดยสารสาธารณะ โดยกระทรวงฯ ได้กำหนด 5 มาตรการอำนวยความสะดวกรองรับการเดินทางของประชาชน อาทิ แผนการให้บริการและอำนวยความสะดวก โดยจัดเตรียมและเพิ่มจำนวนขนส่งสาธารณะให้เพียงพอ

อำนวยความสะดวกด้านโครงข่ายการเดินทาง โดยยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง การเพิ่มเที่ยวและรอบบริการ จัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสถานี พร้อมเจ้าหน้าที่ให้บริการประชาชนภายในสถานีขนส่ง ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ และสถานีรถไฟฟ้าให้มีความพร้อม รวมไปถึงตั้งจุดบริการในสถานี เส้นทางสำคัญ เพื่อให้บริการแก่ผู้เดินทางตลอด 24 ชั่วโมง

157537223597

นายศักดิ์สยาม ยังกล่าวอีกว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ กระทรวงฯ ยังเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่เกินวันที่ 17 ธ.ค.นี้ เพื่ออนุมัติปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า รถไฟแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ รวมไปถึงค่าผ่านทางทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) และทางพิเศษ (ทางด่วน) เพื่อมอบให้เป็นของขวัญปีใหม่ประชาชน โดยหาก ครม.พิจารณาอนุมัติ คาดว่าจะประกาศใช้ทันที นำร่องลดค่าครองชีพประชาชนเป็นส่วนแรก ระยะเวลา 30 วัน

ด้านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ปีนี้กระทรวงคมนาคมได้ประมาณการเดินทางของผู้โดยสารที่เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะไว้ประมาณ 16.43 ล้านคน โดยแบ่งเป็น การเดินทางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลประมาณ 9.65 ล้านคน แบ่งเป็นการเดินทางโดยรถโดยสาร ขสมก. 6.79 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 6.93% รถไฟฟ้า 2.12 ล้านคน เพิ่มขึ้น 28.98% รถไฟ 3.93 แสนคน ลดลง 0.71% และเรือ 3.69 แสนคน ลดลง 2.20%   

สำหรับผู้ที่เดินทางระหว่างกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.4 ล้านคน แบ่งเป็นการเดินทางโดยรถโดยสาร บขส. 1.68 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.27% และรถไฟ 7.22 แสนคน เพิ่มขึ้น 6.41% ขณะที่การเดินทางโดยเครื่องบินและเรือระหว่างกรุงเทพฯและต่างจังหวัด รวมถึงระหว่างประเทศ อยู่ที่ประมาณ 4.37 ล้านคน แบ่งเป็นการเดินทางผ่านทางท่าอากาศยานของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) 2.58 แสนคน เพิ่มขึ้น 24.28% ผ่านท่าอากาศยานของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. 2.56 ล้านคน เพิ่มขึ้น 6.39% และเรือ 1.55 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.52%

ทั้งนี้ในจำนวนการเดินทางของประชาชนผ่านขนส่งสาธารณะในปีนี้ ประเมินว่าประชาชนจะเดินทางผ่านระบบขนส่งทางอากาศ สูงสุดถึง 40% เพิ่มขึ้น 6% รองลงมาคือการเดินทางผ่านรถโดยสารสาธารณะ 25% เดินทางโดยรถไฟ 24% และเดินทางผ่านเรือ อีกประมาณ 11% ซึ่งในสัดส่วนที่ประชาชนเดินทางทางอากาศนั้น ยังพบว่าเป็นการเดินทางในเส้นทางระหว่างประเทศอัตราที่สูง