ส่งออกไทยยังติดลบ 

ส่งออกไทยยังติดลบ 

สรท.เผยส่งออกเดือนต.ค.ติดลบหนัก 4.5%  รวม 11 เดือนแรกปีนี้ ติดลบ 2.4% คาดปีหน้าโตแค่ 1 %   เหตุไม่มีปัจจัยบวก แนะรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาบาทแข็ง

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนต.ค.ติดลบ 4.5% มูลค่า 20,758 ล้านดอลลาร์ ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 20,251 ล้านดอลลาร์หดตัว -7.6% ส่งผลให้เดือนต.ค.ประเทศไทยเกินดุลการค้า 507 ล้านดอลลาร์ เมื่อหักทองคำและน้ำมันส่งออกติดลบ 1.0 % รวม 11 เดือน ส่งออกรวม207,330 ล้านบาท ติดลบ 2.4%  ทั้งนี้ สรท.ปรับคาดการณ์ส่งออกปี 62 ติดลบ 2.5-3% บนสมมติฐานค่าเงินบาท ปี 62 อยู่ที่ 33 -33.50บาทต่อดอลลาร์ และคาดการณ์ส่งออกปี 63 ขยายตัว 0-1%

 

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสรท. กล่าวว่า  ขณะนี้ยังไม่พบปัจจัยบวกที่จะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย  แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวังคือ ปัญหา สงครามการค้า ยังมีความกังวลต่อท่าทีในการลงนามใน Phase 1 เนื่องจากยังมีหลายประเด็นที่ไม่สามารถตกลงร่วมกันได้ อาทิ การสั่งซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐ และทรัพย์สินทางปัญญา (การโอนถ่ายเทคโนโลยี) ประกอบกับสหรัฐฯ ประกาศสนับสนุนผู้ชุมนุมประท้วงในฮ่องกง ซึ่งเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีนโดยตรง และหากไม่สามารถตกลงกันได้ สหรัฐฯ อาจปรับเพิ่มภาษีตามกำหนดการเดิม 15 ธ.ค. มูลค่า 160,000 ล้านดอลลาร์ ในอัตราภาษี 15 % ขณะที่จีนขอให้สหรัฐ พิจารณาลดภาษี (Rollback) สำหรับสินค้าที่มีการปรับขึ้นไปแล้วก่อนหน้า

 มาตรการ IMO Low Sulphur 2020: จะมีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2563 สายเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเริ่มออกประกาศอัตราเรียกเก็บเพิ่มค่า Bunker Surcharge หรือค่า Low Sulphur Surcharge (LSS) ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเพิ่มขึ้นของค่าระวางในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและกระทบต่อต้นทุนโดยรวมของผู้ประกอบการทั้งส่งออกและนำเข้า

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า   สถานการณ์ค่าเงินบาทที่ยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง เนื่องจากเงินบาทยังคงถูกมองเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยเช่นเดียวกับค่าเงินเยนของญี่ปุ่น ซึ่งผลกระทบต่อเนื่องต่อการชะลอตัวภาคการส่งออกทุกกลุ่มสินค้า 4) เศรษฐกิจภายในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัว เห็นได้จาก GDP ไตรมาส 3/62 ขยายตัวเพียง 2.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ของตลาดที่ 2.6% (ในช่วงไตรมาสที่ 4/2562 จะต้องมีการขยายตัวที่ 2.8  %จึงจะทำให้ปี 2562 ทั้งปีขยายตัวที่ 2.6 %) และจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตเพื่อการส่งออก  แนวโน้มการเรียกเก็บภาษีซึ่งเป็นต้นทุนผู้ประกอบการมีมากขึ้น เนื่องจากภาครัฐต้องการเพิ่มรายได้สำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถขอคืน VAT ทำให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องเพิ่มช่องทางเก็บภาษีให้มากขึ้น

กฎหมายและมาตรการภาครัฐ ที่กำหนดเพิ่มเติมในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว เป็นการลดทอนความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกให้ถดถอยมากขึ้น อาทิ แนวคิดการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ, การแบนสารเคมีการเกษตร, การเรียกเก็บภาษีความหวานและความเค็ม