แกะปริศนา 'ปลาฝูงแรก' ในประวัติศาสตร์โลก

แกะปริศนา 'ปลาฝูงแรก' ในประวัติศาสตร์โลก

เมื่อนักชีววิทยาพบฟอสซิล "ปลาฝูงแรกของโลก" บนหินปูนในพิพิธภัณฑ์ที่ญี่ปุ่น

บางครั้งปลารวมฝูงได้เป็นล้านตัว และเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมๆ กันไม่ต่างจากฝูงนก ตราบที่ปลาแต่ละตัวยังประจำตำแหน่งอยู่ในฝูง... นั่นคืออีกข้อเท็จจริงที่ถูกค้นพบ

ปลาสมัยใหม่ รวมถึงสัตว์ชนิดอื่นมักรู้วิธีการเคลื่อนไหวที่เหมือนกัน แต่เมื่อเราลองมองย้อนกลับไปอดีต โลกพฤติกรรมนี้วิวัฒนาการมาชนิดก้าวกระโดด และสำหรับคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ การเคลื่อนไหวอันเป็นเอกลักษณ์เหล่านี้ราวกับถ่ายทอดกันมาผ่านห้องเรียน นี่เป็นอีกปริศนาหนึ่งที่นักบรรพชีวินวิทยาพยายามหาคำตอบมาตลอดผ่านฟอสซิลชิ้นแล้วชิ้นเล่า จนในที่สุดมันก็ปรากฏขึ้น!

ในปี 2016 โนบูกิ มิซูโมโตะ (Nobuaki Mizumoto) นักชีววิทยาชาวญี่ปุ่น จากมหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา ที่กำลังอยู่ระหว่างพักร้อนกับภรรยาของเขา ไปพบกับหินปูนสีเทาที่พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ เขตฟุกุอิ ที่คัตซึยามะ เมืองเล็กๆ ในญี่ปุ่น

157534909638

ที่มาภาพ : เว็บไซต์ nytimes.com

แผ่นหินขนาด 22 นิ้ว สูงประมาณ 15 นิ้ว ได้เก็บข้อมูลสำคัญที่ถ่ายทอดมากว่า 50 ล้านปีของฝูงปลาที่สาบสูญ สายพันธุ์ Erismatopterus levatus จำนวน 259 ตัว ที่มีความยาวลำตัวไม่ถึงนิ้ว กำลังว่ายไปในทิศทางเดียวกัน

โดยแผ่นฟอสซิลดังกล่าว ถือเป็นหลักฐานทางบรรพชีวินที่เก่าแก่ที่สุดที่มีการค้นพบที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถเห็นการว่ายของฝูงปลามาตั้งแต่อดีตเลย โดยเชื่อกันว่ากลายเป็นฟอสซิล หลังจากที่ทรายใต้น้ำพัดกลบพวกมันในอดีต ซึ่งอ้างอิงจากเหล่านักวิจัยแล้ว มีร่องรอยที่ชัดเจนมากว่าปลาเหล่านี้ว่ายน้ำเป็นกลุ่มมาตั้งแต่แรก

พวกเขาได้ทดลองจำลองความเป็นไปได้ทางคอมพิวเตอร์ถึงการรวมฝูงของปลาเหล่านี้ที่เข้ามาติดกับฟอสซิลในลักษณะดังกล่าว และการจำลองนี้เอง ยังทำให้นักวิจัยก็ได้พบว่า ปลาเหล่านี้ไม่ใช่เพียงแค่ว่ายน้ำเป็นกลุ่มแบบที่พวกเขาคิดจริงๆ เท่านั้น แต่มันยังมีรูปแบบการว่ายน้ำที่มีแบบแผน และเป็นแบบเดียวกับที่พบได้ในปลาหลายๆ ชนิดในปัจจุบัน เพื่อข่มขู่นักล่าอื่นๆ ด้วย ซึ่งการค้นพบครั้งนี้ได้ชี้ให้เห็นรูปแบบการว่ายน้ำของปลาโบราณ และพฤติกรรมรวมฝูงเพื่อเอาตัวรอดก็มีมาแต่ยุคดึกดำบรรพ์แล้ว

"ต้องถือว่าเป็นหลักฐาน และกลุ่มตัวอย่างที่น่าสนใจอย่างยิ่ง" รอย พอลนิก (Roy Plotnick) นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ชิคาโก กล่าวภายหลังจากเห็นผลการศึกษาที่มิซูโมโตะนำเสนอ

ถึงแม้จะมีข้อถกเถียง และข้อสังเกตเกี่ยวกับสมมติฐาน และแบบจำลองที่เกิดขึ้นเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม มันก็สามารถเชื่อมโยง กระทั่งคลายความสงสัยขั้นต้นเกี่ยวกับการเอาตัวรอดของฝูงปลาจากผู้ล่าซึ่งปรากฏเป็นภาพที่ชินตาของเราอยู่ในปัจจุบัน