'วิษณุ' จ่อถาม 'สุริยะ' ปมยืดเวลาแบนสารเคมี ชี้ถูกฟ้องกี่ศาลก็ช่าง

'วิษณุ' จ่อถาม 'สุริยะ' ปมยืดเวลาแบนสารเคมี ชี้ถูกฟ้องกี่ศาลก็ช่าง

"รองนายกฯ" ชี้ถูกฟ้องกี่ศาลก็ช่าง จ่อถาม "รมว.อุตฯ" ปมยืดเวลาแบนสารเคมี อีก 6 เดือน แนะแค่ทำความจริงให้ปรากฏแล้วมาแจง ไม่ยุ่งยากอะไร

เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.62 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธานเมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา มีมติยืดเวลาการแบนสารเคมีทางการเกษตร 2 ชนิด ออกไปอีก 6 เดือน ว่า นายสุริยะไม่เคยมาปรึกษาตนในเรื่องดังกล่าว แต่ตนเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ได้ยุ่งยากอะไร แค่ไปทำความจริงให้ปรากฏแล้วมาชี้แจง

อย่างไรก็ตาม ตนคงจะสอบถามนายสุริยะต่อไป เมื่อถามถึงกรณีที่กรรมการบางคนอ้างว่าที่ประชุมไม่มีการลงมติ และไม่มีการนับคะแนนด้วย นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ทราบรูปแบบและวิธีและการลงมติของคณะกรรมการชุดนี้ ขณะที่การประชุมครม.ก็ไม่มีการลงมติแบบที่ให้มีการออกเสียง มีเพียงแค่ประธานในที่ประชุมสอบถามว่าทุกฝ่ายเห็นด้วยหรือไม่ แล้วก็ออกเป็นมติ อย่างไรก็ตาม วิธีการควบคุมการประชุมมีหลายวิธีไม่ใช่ต้องให้มีการโหวตทุกครั้ง

ทั้งนี้ ตนได้อ่านคำให้สัมภาษณ์ของนายภักดี โพธิศิริ หนึ่งกรรมการดังกล่าว ที่ระบุว่าหลังการประชุมเสร็จสิ้นได้มีการยกร่างมติแล้วอ่านมตินั้นให้ที่ประชุมรับทราบทันที ซึ่งตนคิดว่าหากเป็นไปตามนั้น ก็ทำให้เห็นว่าเดินหน้าไปมากกว่าที่เรารู้ ในเมื่อเรื่องจริงเป็นอย่างไร มันก็เป็นอย่างนั้น แต่ตนไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์การประชุม จึงไม่ทราบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมติใดก็ตามที่ไม่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา สามารถเปลี่ยนแปลงได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า แม้แต่มติที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ไม่มีปัญหาอะไร แต่อยู่ที่ว่าจะต้องทำหรือไม่ แต่ตนไม่ทราบว่าเขาลงมติอะไร ก็ไม่ควรจะพูดอะไรอีก ขอให้ไปสอบถามเจ้าของเรื่องดีกว่า เพราะการประชุมวันนั้นมีกรรมการ 20 กว่าคน คนเหล่านั้นต้องรู้แล้วว่าเกิดอะไรขึ้น

เมื่อถามถึงกรณีเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร และเครือข่ายผู้บริโภคจะยื่นฟ้องร้องนายสุริยะ ที่ศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบกลาง และศาลปกครอง นายวิษณุกล่าวว่า ก็แล้วแต่ จะกี่ศาลก็ช่าง เมื่อถามว่า ควรจะต้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกครั้งหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า สามารถนำเรื่องแบบนี้ไปหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ไม่จำเป็นต้องส่ง ไปสอบถามศาลรัฐธรรมนูญ