“5จี” หนุนบริการอัจฉริยะ กลไกขับเคลื่อนศก.ดิจิทัล

“5จี” หนุนบริการอัจฉริยะ กลไกขับเคลื่อนศก.ดิจิทัล

ประเทศไทยกำลังจะมีเครือข่ายความเร็วสูงยุคใหม่ 5จี ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหลักเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล โดย กสทช. ดีเดย์ประมูลคลื่น 5จี วันที่ 16 ก.พ. 63

ประเทศไทยกำลังจะมีเครือข่ายความเร็วสูงยุคใหม่ 5จี ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหลักเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้วางโรดแมพการประมูลคลื่น 5จี ในวันที่ 16 ก.พ. 63 และวันนี้ 

ผลการศึกษา “5จี ในอาเซียน : จุดประกายการเติบโตในตลาดองค์กรและผู้บริโภค” ของ ซิสโก้ ที่จัดทำโดย บริษัท เอ.ที. เคียร์เน่ ที่ปรึกษาการบริหารจัดการระดับโลก ชี้ว่า การเปิดตัวบริการ 5จี ช่วยเพิ่มรายได้ต่อปีของผู้ให้บริการโทรคมนาคมในไทยได้มากถึง 1.1 พันล้านดอลลาร์ (หรือกว่า 34,000 ล้านบาท) ภายในปี 2568 เพราะรองรับการเชื่อมต่อที่เร็วขึ้น 50 เท่า คุณลักษณะเด่น 3 ข้อที่สำคัญ คือ รับส่งข้อมูลที่รวดเร็ว การหน่วงเวลาต่ำ และการเชื่อมต่อที่ใช้พลังงานต่ำ

"ความเร็วสูง การหน่วงเวลาต่ำ การเชื่อมต่อที่ปรับปรุงดีขึ้น" เป็นปัจจัยหลักช่วยผู้ให้บริการโทรคมนาคม จัดหาบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่เร็วเป็นพิเศษ รองรับการสตรีมวิดีโอความละเอียดสูง เล่นเกมผ่านระบบคลาวด์ การนำเสนอคอนเทนท์ แบบอินเทอร์แอคทีฟที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยอย่าง Augmented Reality และ Virtual Reality (AR/VR) ให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงต่อยอดใช้งานในภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมต่างๆ  ทั้งเป็นกลไลสำคัญขับเคลื่อน สมาร์ทซิตี้, อุตสาหกรรม4.0, เครือข่ายไอโอที (Internet of Things) ขนาดใหญ่

โดยคาดว่าการเติบโตระยะแรกหลังปรับใช้เทคโนโลยี 5จี จะมาจากลูกค้าระดับสูงที่มีอุปกรณ์รองรับ และฐานลูกค้าจะค่อยๆ ขยายตัวเมื่ออุปกรณ์ที่รองรับมีราคาลดลง จึงคาดว่าสัดส่วนการใช้งาน 5จี จะอยู่ที่ประมาณ 25 ถึง 40% ในประเทศหลักๆ ของภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2568 โดยไทยสัดส่วนการใช้งาน 5จี จะมีถึง 33% และคาดว่าจำนวนลูกค้า 5จี ทั้งหมดในภูมิภาคอาเซียนจะเกิน 200 ล้านรายในปี 2568

157534732537

157534729797

“นาวีน เมนอน” ประธานประจำภูมิภาคอาเซียนของซิสโก้ กล่าวว่า เป็นช่วงเวลาที่ดีในการเปิดตัวการให้บริการ 5จี เพราะปัจจุบันการรับส่งข้อมูลบนระบบเซลลูลาร์เติบโตรวดเร็ว เนื่องจากผู้ใช้มีการใช้งานบริการและคอนเทนท์ต่างๆ บนอุปกรณ์ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน องค์กรต่างๆ มองหาหนทางใช้ประโยชน์จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ (4IR - Fourth Industrial Revolution) ที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ, ไอโอที, ระบบการพิมพ์ 3 มิติ, ระบบหุ่นยนต์ขั้นสูง และอุปกรณ์สวมใส่ เพื่อผลักดันการเติบโตของธุรกิจ 

“วัตสัน ถิรภัทรพงศ์” กรรมการผู้จัดการซิสโก้ประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน กล่าวว่า ธุรกิจทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะภาคสำคัญ อย่างภาคการผลิตกำลังมองหาเทคโนโลยี 4IR การเปิดให้บริการ 5จี จะเร่งการปรับใช้เทคโนโลยี และนำประโยชน์มหาศาลมาสู่องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ส่วนผู้บริโภคต่างรอคอยเปิดตัว 5จี เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้เนื้อหาบนอุปกรณ์ส่วนตัว ทั้งสองแนวโน้มจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ขณะที่ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมต่างเตรียมพร้อมเปิดตัวบริการ 5จี คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 10,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 300,000 ล้านบาท พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5จี ในภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2568 

"แมท แกรนไรย์ ผู้อำนวยการทั่วไปของจีเอสเอ็มเอ กล่าวว่า เครือข่าย 5จี กลายเป็นสิ่งที่จำเป็น และหลายภาคส่วนในด้านเอกชนและผู้เข้าลงทุนเครือข่าย หวังให้รัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลแต่ละประเทศ และในภูมิภาคจัดตั้งอีโคซิสเต็มส์ ให้มีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยต่อกัน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการลงทุนในเครือข่ายขั้นสูงเพื่อเพิ่มความสามารถการให้บริการขยายบริการดิจิทัลยุคใหม่ให้กับประชาชนทุกคนในเอเชีย